กมธ.เศรษฐกิจ เรียกแจง ‘โปรเจ็กต์สนามบินอันดามัน’ ‘ทอท.’ แจงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ ใช้เวลาทั้ง 67 ตั้งงบ 8 หมื่นล้านบาท เนรมิตสนามบินใหม่ 7,300 ไร่ คาดสร้างปี 70 เสร็จปี 74 ก่อนระบุหวังดึง ‘สุวรรณภูมิ’ คืนท็อป 20 สนามบินดีสุดในโลกภายใน 4 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 จากกรณีที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
โดยผลักดันการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และผลักดันการก่อสร้างสนามบินนานาชาติใน 2 ภูมิภาคคือ สนามบินอันดามัน ในจ.พังงาและสนามบินล้านนาในพื้นที่ จ.เชียงใหม่
- ‘เศรษฐา’ ประกาศดัน ‘สุวรรณภูมิ’ ติดท็อปสนามบินดีที่สุดในโลก
- ‘เศรษฐา’ประกาศ‘Thailand Vision’ ตั้งเป้าผลักดัน‘ไทย’รั้งผู้นำ 8 'ศูนย์กลางฯ'ในภูมิภาค
ล่าสุด คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมเกี่ยวกับการก่อสร้างสนามบินอันดามัน เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกรรมาธิการ โดยเชิญผู้แทนจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กรมท่าอากาศยาน และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาร่วมชี้แจง
@งบ 8 หมื่นล้าน เริ่มสร้างปี 70
ผู้แทนจาก ทอท. ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า พื้นที่ก่อสร้างสนามบินอันดามันจะอยู่ในบริเวณ ต.โคกกลอย และต.หล่อยูง อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เนื้อที่ 7,300 ไร่ มีอาคารผู้โดยสารรองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคน/ปี มีทางวิ่ง 2 รันเวย์ มีหลุดจอดจำนวน 14 หลุมจอด วงเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 80,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานเขตการบิน 28,000 ล้านบาท, ค่างานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 25,000 ล้านบาท, ค่างานสนับสนุนและสาธารณูปโภคดับเพลิง 15,000 ล้านบาท, และสำรองราคาและภาษีจำนวน 12,000 ล้านบาท
โดยยังไม่รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการชดเชยเรื่องของเส้นเสียง จะมีการเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง เพื่อนำมาใช้ในการศึกษาและสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างรันเวย์ ซึ่งประมาณการไว้เป็นเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท
สำหรับสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความคุ่มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (PreUminary Feasibility study) ซึ่ง ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม. ทั้งในประเด็นของงบลงทุนและงบโครงการ
ตัวแทนจากทอท.กล่าวอีกว่า ระยะเวลาดำเนินโครงการเบื้องต้น จะใช้เวลาศึกษาทั้งปี 2567 นี้ หากผลการศึกษาระบุว่าก่อสร้างได้ จะมีการจ้างออกแบบ และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2570 จะใช้เวลาก่อสร้าง 42 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2574 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังไม่รวมระยะเวลาของการเวนคืนที่ดิน สร้านรันเวย์ ขออนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการจ่ายค่าชดเชยเกี่ยวกับเส้นเสียง
ขณะที่ตัวแทนจาก สนข. กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาสนามบินอันดามัน จะมีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาด้านคมนาคมในพื้นที่และภูมิภาค โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ตที่มีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้าภูมิภาคของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทางด่วนช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทางประมาณ 4 กม.ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โครงการอันดามันริเวียร่า ที่จะมีการก่อสร้างถนนและท่าเรือเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่
ด้านตัวแทนกรมท่าอากาศยาน ให้ข้อมูลว่า ในภาระงานที่เกี่ยวข้องกับกรมมีเพียงการถ่ายโอนภารกิจการพัฒนาสนามบินกระบี่ให้กับ ทอท. นำไปบริหารต่อตามมติครม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการโอนใบรับรองสนามบินสาธารณะของสนามบินกระบี่ ซึ่งจะต้องมีการขอไปทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ก่อน
@ดึง ‘สุวรรณภูมิ’ เข้า Rank 20 สนามบินดีสุดในโลกภายใน 4 ปี
ต่อมาทางคณะกรรมาธิการฯมีประเด็นสอบถามหน่วยงานที่น่าสนใจ 4 ประเด็น ดังนี้
1.การศึกษาความเป็นไปได้และความคุ่มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (PreUminary Feasibility study) จะทำเมื่อไหร่และต้องผ่านคณะกรรมการ (บอร์ด) ของทอท.หรือไม่
ตัวแทนจากทอท.ตอบว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการ โดยการจัดหาจะคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยที่มีความสนใจ จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และกาารดำเนินการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ดทอท.ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566
2.การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสนามบินอันดามัน สำหรับวงเงิน 80,000 ล้านบาทของโครงการได้รวมค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อหรือเวนคืนแล้วหรือยัง
ตัวแทนจากทอท.ตอบว่า การเวนคืนที่ดินจะทำคู่กันไปกับการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ่มค่าในการลงทุนเบื้องต้น (PreUminary Feasibility study) และวงเงิน 80,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่างานเวนคืน เพราะต้องรอราคาที่ดินที่จะใช้ในการก่อสร้างให้ชัดเจนก่อน
3.การพัฒนาสนามบินภูเก็ตแล้วเสร็จหรือยัง
ตัวแทนจากทอท.ตอบว่า แผนการพัฒนาสนามบินภูเก็ตมีอยู่แล้ว เพราะปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้งานสนามบินมีจำนวน 18 ล้านคน/ปี ซึ่งเกินกว่าศักยภาพของสนามบินที่มีรองรับได้แค่ 10 ล้านคน/ปี โดยมีความจำเป็นต้องขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่ม สถานะของโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 นี้
4.บอร์ด ทอท.มีนโยบายในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ และตั้งเป้าเลื่อนอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกไปอยู่ในลำดับใด
ตัวแทนจากทอท.ตอบว่า ภายใน 2 ปี สนามบินสุวรรณภูมิจะต้องอยู่ในลำดับที่ 50 และภายใน 4 ปี ลำดับจะต้องเลื่อนไปที่ 20 ซึ่งจะต้องแก้ปัญหา 3 อย่างคือ รันเวย์ จุดเช็คอิน และจุดตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันรันเวย์เส้นที่ 3 ของสนามบินเสร็จแล้ว เหลือการปรับปรุงด้านจุดเช็คอินและจุดตรวจคนเข้าเมือง จะประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนดรูปแบบดำเนินการใหม่ โดยภายในปีนี้จะมีการใช้ระบบตรวจหนังสือเดินทางแบบอัตโนมัติแทนการใช้คน