เลขาฯ ป.ป.ช.แจงคำร้องสอบตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็น รมต.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง-ปมสอบจริยธรรม 44 สส.ก้าวไกลยื่นแก้ ม.112 เหมาทุกคนทีเดียวไม่ได้ ต้องดูรายบุคคลไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้อง ขอให้ไต่สวน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงจากเหตุแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาจำคุก 6 เดือนในคดีถุงขนม 2 ล้าน ว่า มีคำร้องเข้ามาแล้ว อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ เขากล่าวหาเกี่ยวกับนายกฯ ที่มีการแต่งตั้ง ดังนั้นเราก็จะไปดูเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ถ้าถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไปดูต่อว่ามีประเด็นอะไร แต่ถ้าคุณสมบัติไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเป็นไปตามคำกล่าวหา ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าคืออะไร มีคำร้องเข้ามาตลอด ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขออนุญาตตรวจสอบก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง ป.ป.ช. จะเร่งดำเนินการอย่างไร เมื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีแล้ว
นานนิวัติไชย กล่าวว่า คือเรื่องการแต่งตั้ง จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็มีกรอบระยะเวลาดำเนินการอยู่ ต้องไปดูเรื่อง การแต่งตั้งมีคุณสมบัติมั้ย มีเจตนาแต่งตั้งที่ไม่ถูกต้องมิชอบมั้ย มีการตรวจสอบประวัติครบถ้วนรึยัง มีการรับรองจากหน่วยงานอะไรมั้ย สิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางหนึ่ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีคนอื่นบ้างหรือไม่
นายนิวัติไชย ระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่ค่อยเห็น ยังไม่แน่ใจว่ามีคำร้องมั้ย บางเรื่องก็ไม่ได้ผ่านมาที่เลขาฯ ป.ป.ช. เว้นแต่ปรากฏในสื่อมวลชน
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบ 44 สส. พรรคก้าวไกลทำผิดมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่กรณีเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 นั้น
นายนิวัติไชย ระบุว่า อยู่ในระหว่างการตรวจสอบขอเท็จจริง อย่าลืมว่าจำนวน สส. ที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนมาก ต้องดูเป็นราย ๆ ไป ดังนั้น ต้องไปดูว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงประมาณช่วงไหน
นายนิวัติไชย ระบุว่า กรณีจะเรียกผู้กล่าวหามีชี้แจง ต่อเมื่อพบว่ามีมูล ต้องสั่งไต่สวน แต่ขณะนี้อยู่ในชั้นตรวจสอบ
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงเย็นวันที่ 2 พ.ค. มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยระบุรายละเอียดเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
1.การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใดจึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษ
จำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดนได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
2. มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก (ดูเอกสารประกอบ)