บิ๊กโจ๊กร้อง กก.ฯคุณธรรม ตร.-ก.ตร. ชี้มีขบวนการ 4 คูณ 100 เดินเรื่องให้ออกจากราชการ เริ่มตั้งแต่ค้นบ้าน เอาผิดลูกน้อง ถามถูกย้ายเข้าสำนักนายกฯตั้งแต่ปลายมี.ค. จะยุ่งเกี่ยวพยานหลักฐานได้อย่างไร เตรียมยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตฯ เอาผิด รก.ผบ.ตร.พร้อมผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ( อดีต รองผบ.ตร.)มาเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) กรณี พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.ลงนามในคำสั่งให้ตนออกจากราชการไว้ก่อนโดยมิชอบ พร้อมกล่าวว่าวันนี้ยื่นเรื่องร้องเรียน 2 ส่วน คือ ก.พ.ค.ตร. และ ก.ตร. เพื่ออุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งให้ออกจากราชการซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ รรท.ผบ.ตร.ลงนาม
โดยพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำแผนผังชื่อว่า "ขบวนการ 4 คูณ 100 สยบ ปีกพระพรหม" มาประกอบการให้สัมภาษณ์ และยืนยันว่ามีการทำเป็นขบวนการประกอบด้วย 4 ชุด คือ 1.ชุดตรวจค้นบ้าน ตระกูลสี่ ต.เต่า (ต่อ เต่า ตุ้ม ไตร) 2. พนักงานสอบสวนชุดคดีสถานีตำรวจนครบาล(สน.)ทุ่งมหาเมฆ, 3.พนักงานสอบสวนชุดคดี สน.เตาปูน และ4.ชุดรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รรท.ผบ.ตร.) ที่ร่วมกันทำเป็นขบวนการตั้งแต่การเข้าตรวจคนบ้าน การใช้อำนาจสอบสวน นำไปสู่การออกหมายเรียก หมายจับ จากนั้น รรท.ผบ.ตร.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งให้ตนออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.และนำส่งสำนวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)วันที่ 19 เมษายน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวสร้างเรื่องเกี่ยวกับเว็บพนันและเข้าแจ้งความคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยให้พนักงานสอบสวนรับคดีตั้งแต่ 2558 และดำเนินคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาตน 8 คน โดยใช้กลไกลศาลดำเนินการกับตนพร้อมส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. และแจ้งข้อกล่าวหา 1 ใน 8 ลูกน้องตน ซึ่งคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ มีพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ส่วนสำนวนคดีพนันออนไลน์ บีเอ็นเค มาสเตอร์ (BNK MASTEA) มี พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
“ย้ำว่าทั้งสองสำนวนตำรวจไม่มีอำนาจในการสอบสวนและที่ผ่านมาผมทำหนังสือทักท้วงไปยัง ผบช.น.และ รรท.ผบ.ตร.แต่ไม่มีการตอบรับกระทั่งตนถูกแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 นำไปสู่การมีคำสั่งให้ผมถูกออกจากราชการไว้ก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เนื่องจากผมถูกกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2566 ขณะนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และผมปฏิบัติหน้าที่รองผบ.ตร.อยู่ หากผมทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการจริงก็ต้องให้ออกตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว ต่อมาผมถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมรวมระยะเวลาทั้งหมด 29 วันจะมีอำนาจเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานหรือทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างไร” อดีตรอง ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อถึงข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ตำรวจแห่งชาติปี 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 ที่ระบุว่า "กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนต้องใช้ กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 47 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้ขัดแย้งกันในข้อกฎหมายตามที่กล่าวไป จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา''
“แต่พบว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกันจึงต้องยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการนี้ไปโดยปริยายเพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 65 ยังระบุว่าระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใดให้กระทบต่อสิทธิ์ผู้ถูกสอบสวนไม่ได้เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาคหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร” อดีตรอง ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าแต่กรณีของตนนั้นมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ ดังนั้นจึงไม่มีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.ต.อ สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา การกระทำดังกล่าว รรท.ผบ.ตร.ต้องติดคุกอีกทั้งที่ผ่านมามีตำรวจกว่า 500 นายที่ถูกดำเนินคดีแต่ไม่มีใครถูกสั่งให้ออกจากราชการเหมือนกับตนนอกจากนี้ยังได้สอบถามกับกองวินัย ตร.ซึ่งระบุว่ามีการประมวลเรื่องดังกล่าวไว้สองวันก่อนจะมีคำสั่งให้ตนออกจากราชการ คือร่างคำสั่งให้ออกราชการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.และลงนามวันที่ 18 เม.ย.แสดงให้เห็นว่ามีขบวนการให้ตนออกจากราชการ
“ผมจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเอาผิด ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี(ผบช.กมค.) ,ผู้บังคับการกองคดี, ผู้บังคับการสารนิเทศ, เลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, รวมถึงผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตร.(ผบช.สทส.)ที่มาปลดป้ายตนและปลดจากทำเนียบผู้บังคับบัญชาออกทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ออกจากราชการ ขณะที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผบ.ตร.ที่ไปทำงานที่ สมช.นานแล้วยังไม่มีการปลดป้ายถือเป็นการทำให้ตนเสื่อมเสียดังนั้นจะยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งหมดแต่ถ้าจะให้เมตตาก็ต้องมาบอกกับตนว่าใครเป็นผู้สั่งการ” อดีตรอง ผบ.ตร.กล่าว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่าการให้ รองผบ.ตร.ออกจากราชการนั้นแม้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆแต่ที่มีความรีบเพราะมีคนกระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็น ผบ.ตร. ทำเรื่องรอไว้แล้วก็ไปหลอกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ไม่ทราบจึงมีคำสั่งให้ส่งตนกลับไปที่ตร.ก่อนจะถูกสั่งให้ออกจากราชการ เติมรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ใช่ผู้ขัดแย้งของตนแต่มาทำแบบนี้ถือว่า ท่านเลือกเอง กรณีที่หนึ่งในคณะกรรมการ ก.ค.พ.ตร. คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และอดีต ผบ.ตร. ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับตนนั้นท่านจะต้องรู้ตัวเองและขอถอนตัวแต่หากรู้ว่าท่านไม่ดำเนินการตนก็จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่ามติของ ก.พ.ค. ตร. เปรียบเสมือนศาลปกครอง มีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่ง ตร.ที่มิชอบได้หากเพิกถอนแล้วจะถือว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อนหากดำเนินการไม่เสร็จตามกรอบระยะเวลาก็สามารถขยายได้อีก 2 ครั้ง
“วันนี้ต้องทำแบบนี้เป็นเพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ต่อไปพวกเขาจะทำแบบนี้อีกทำซ้ำๆอีกแบบนี้องค์กรจะพังเหมือนที่อัยการปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เคยเตือนว่ามันจะพังทั้งองค์กร ย้ำนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บังคับบัญชาการตำรวจ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาเรื่องนี้พร้อมถามถ้าเป็นแบบนี้จะตอบคำถามต่อสภาอย่างไร วันนี้ ผมไม่ใข่ผู้ต้องหาแต่เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเพราะตราบใดก็ตามที่ ป.ป.ช. ยังไม่มีการชี้มูลความผิดผมก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และยังมีคุณสมบัติที่จะเป็น ผบ.ตร.ได้ทุกอย่างอีกทั้งตนยังถือเป็น รองผบ.ตร.อันดับ 1” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวทิ้งท้าย