เผยความคืบหน้ารถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต ‘คมนาคม’ เผย ‘รฟม.’ ขอศึกษาเปรียบเทียบระบบอีก ก่อนเปิดไทม์ไลน์ปรับปรุงผลการศึกษาใหม่ช่วงปี 68-69 ก่อนเริ่มกระบวนการเสนอโครงการช่วงปี 69-70 เปิดประมูลขายซองปี 70-71 ก่อนเริ่มก่อสร้างจริงๆช่วง ก.ย. 71 วางเป้าเปิดใช้สิ้นปี 74
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 เมษายน 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตวานนี้ (19 เม.ย. 67) นอกจากการดูแผนงานก่อสร้างที่เน้นไปที่โครงการทางถนนแล้ว ในจ.ภูเก็ตยังมีโครงการที่จะจัดทำระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดด้วย
นั่นคือ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 58.5 กม. วงเงินงบประมาณ 35,350.20 ล้านบาท มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ ตัวโครงการแบ่งได้ 2 ระยะ ระยะที่ 1: ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 41.7 กม. 21 สถานี และระยะที่ 2: ต่อขยายเส้นทางจากจุดตัดระหว่าง ทล. 402 และ 4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟที่สถานีรถไฟท่านุ่นโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสุราษฎร์ฯ – ท่านุ่น ของการรถไฟปห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทางประมาณ 16.8 กม. 3 สถานี
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า สถานะปัจจุบันของโครงการ หลังจากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐบาลที่แล้ว มีแนวคิดจะเปลี่ยนแปลงจากระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Trams) เป็นรถรางล้อยาง(Automated Rapid Transit : ART) และเปลี่ยนมาเป็นรถเมล์ EV แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักกาารปฏิบัติหน้าที่ไปเมื่อเดือน มี.ค. 2566
เมื่อเข้าสู่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รฟม. จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบระหว่างระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Rubber-Tyred Tram) และระบบรถรางล้อยางแบบไม่มี Guide Rail (Automated Rapid Transit: ART) โดยวางกรอบระยะเวลาดำเนินการ ดังนี้
ช่วงเดือน ต.ค. 2568 - มิ.ย. 2569 จะเร่งปรับปรุงรายงานผลการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เมื่อเสร็จแล้ว จะเสนอคณะทำงานตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและ. เอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) พิจารณา ก่อนที่จะส่งต่อให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณา
ช่วงเดือน ก.ค. 2569-ก.พ. 2570 จะเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ
จากนั้น ช่วงเดือน มี.ค. 2570 - ส.ค. 2571 จะเป็นช่วงของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และในเดือน ก.ย. 2571 จะเริ่มก่อสร้าง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2574
แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต