ก.ควบคุมมลพิษ-ส.วิศวะสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ชี้แจง-ถกแก้ปัญหาลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว ชาวบ้านไม่พอใจ อ้างไม่ตรงข้อเท็จจริง สุดท้ายยังไม่ได้ข้อสรุป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีผู้แทนชาวบ้านคลิตี้ในฐานะคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษเพื่อขอให้ดำเนินการตามประเด็นต่างๆ เช่น การจัดการกากหางแร่และดินปนเปื้อนที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ การดูดตะกอนหน้าฝายดักตะกอนทั้ง 4 แห่ง และระยะเวลาการดำเนินการประเมินผลผลการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 ดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผอ.ส่วนน้ำเสียชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และชาวบ้านชุมชนคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง เข้าร่วมประชุมหารือ โดยมี นายพนม โพธิ์แก้ว ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 เดินทางไปร่วมรับฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาของกรมควบคุมมลพิษที่แจ้งให้ทราบว่ากรมควบคุมมลพิษไม่มีงบประมาณในการนำมาบริหารจัดการโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ได้ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้ดำเนินการในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการจัดการกากหางแร่และดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ การดูดตะกอนหน้าฝายดักตะกอนทั้ง 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ตะกอนดินที่สะสมหน้าฝายดักตะกอน KC3, KC4, KC4/1 และ KC5 เป็นต้น
สำหรับบรรยากาศภายในห้องประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างตึงเครียด เนื่องจากตัวแทนและชาวบ้านที่เข้าร่วมไม่พอใจผลการชี้แจงของกรมควบคุมมลพิษที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเกิดการโต้ถึงกัน ทำให้นายชัยนิรุจน์ มะลิวัลย์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ลุกขึ้นแนะนำตัวพร้อมกับขอเป็นคนกลางพูดเจรจาให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อจะได้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวคลิตี้ให้ได้ต่อไป โดยได้ใช้เวลาเจรจาประมาณ 20 นาที สามารถดึงสถานการณ์ให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาหารือกันได้ตามปกติ จนการประชุมหารือแล้วเสร็จ
ภายหลังการประชุม คณะทั้งหมดได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี บ่อ 10 ไร่ ที่อยู่บ้านคุณส่องพู ห่างจากโรงแต่งแร่มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 500 เมตร
จากการสังเกตพบว่าหน้าบ่อ 10 ไร่ มีป้ายติดประกาศเตือนให้ประชาชนทราบว่า เป็นเขตอันตราย ห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ ส่วนพื้นที่ติดกับบ่อ 10 ไร่ เป็นคันดินขนาดใหญ่สภาพใหม่ พบว่าผิวดินมีร่องรอยกัดเซาะของน้ำฝนที่ตกลงมาก่อนหน้านี้ตลอดแนว ซึ่งบริเวณนี้ชาวบ้านเกรงว่าหากฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงฤดูฝน อาจจะทำให้คันดินพังถล่มลงมาแล้วกระแสน้ำจะนำสารตะกั่วไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเหมือนในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา
ดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผอ.ส่วนน้ำเสียชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นไปตามที่ชาวบ้านมีข้อร้องเรียนว่าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมายังเป็นประเด็นที่ชาวบ้านมีข้อห่วงใยอยู่ใน 4 พื้นที่ที่ชาวบ้านส่งหนังสือเข้ามาที่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งในวันนี้กรมควบคุมมลพิษได้มาชี้แจงให้ชาวบ้านทราบถึงแผนการการฟื้นฟูในระยะต่อไปว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าชาวบ้านคงจะเข้าใจว่าที่ผ่านมานั้นการฟื้นฟูมันมีปัญหาและอุปสรรคอะไร
ส่วนโครงการฟื้นฟูในระยะที่ 3 ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งการที่จะทำงานต่อไปในอนาคตเราจำเป็นจะต้องอาศัยนักวิชาการ เบื้องต้นนั้นคงต้องให้ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้ามาดำเนินการด้วยการส่งนักวิจัยเข้ามาสำรวจในประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่งในกรณีที่ชาวบ้านมีข้อกังวลในพื้นที่ 4 พื้นที่ข้างต้นที่ชาวบ้านแจ้งมาที่กรมควบคุมมลพิษว่าอันที่จริงแล้วมันปลอดภัยหรือไม่ หรือยังมีข้อขาดตกบกพร่องอะไรอยู่ ซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลจากนักวิจัยเป็นตัวนำไปดำเนินโครงการในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษได้ตั้งงบประมาณเอาไว้ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เอาไว้ในทุกๆ ปี แต่ที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาเรื่องงบประมาณเป็นอย่างมาก ซึ่งงบประมาณปี 2567 กรมควบคุมมลพิษต้องใช้งบประมาณไปพลางก่อน และยังมีภารกิจอื่นที่ต้องไปดำเนินการจึงทำให้ติดปัญหาไม่มีงบประมาณเข้ามาดำเนินการที่คลิตี้เมื่อปี 2567 แต่ในเบื้องต้นสิ่งที่กรมควบคุมมลพิษพยายามที่จะทำคือการใช้เงินที่เราตั้งโครงการเอาไว้ในปีงบประมาณ 2567 ไปใช้ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งช่วงนี้คงเป็นช่วงที่กำลังเตรียมตัวทำตามแผนในปีงบประมาณ 2568 อยู่
ขั้นตอนราชการของบประมาณ ทำกระบวนการแก้ปัญหาล่าช้า
ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางจากการอธิบายชี้แจ้งให้ชาวบ้านเข้าใจ ว่า ต้องขอเรียนให้ผู้นำและชาวบ้านที่มาร่วมประชุมได้เข้าใจว่า ทีมเข้ามาทำการประเมินผลการดำเนินงานเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2565 ที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2
แต่ทางกำนันและชุมชนรู้สึกไม่พอใจนั้น อาจจะเกิดจากการที่กำนันและชุมชนคิดว่า กรมควบคุมมลพิษทำได้ล่าช้าและไม่ครบถ้วน เพราะมันมีบางจุดที่กำนันและชาวบ้านมีข้อกังวล เช่น ที่โครงการฟื้นฟู แปลง 10 ไร่ และที่บ้านคุณส่องพู ที่พบกองกากหางแร่ใหม่ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่ากำนันและชาวบ้านเดือดร้อน และได้แจ้งกับกรมควบคุมมลพิษไปว่าจะต้องไปตั้งงบประมาณในการสำรวจขึ้นมา ทั้งนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่ากากหางแร่ที่พบใหม่มีปริมาณและและความเข้มข้นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเราจะต้องใช้วิธีการสำรวจที่ถูกต้อง
โดยในที่ประชุมได้พยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ โดยปีที่ผ่านมามีการประชุมกันมาแล้ว ซึ่งชาวบ้านรู้สึกร้อนใจเช่นกัน แต่ได้พยายามชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจด้วยเช่นกันว่าขั้นตอนต้องดำเนินการต่อไป แต่ขณะนี้รู้สึกดีใจที่ทางกรมควบคุมมลพิษได้นำแผนที่เตรียมเอาไว้ให้นำไปปรับเพื่อดำเนินการของบประมาณในการนำไปจ้างนักวิจัยเข้ามาสำรวจ ซึ่งการถกเถียงกันในที่ประชุมเพราะชาวบ้านเขามีความร้อนใจซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต่างเข้าใจ
"สุดท้ายอยากจะฝากไปถึงชาวบ้านว่า สิ่งที่เราและกรมควบคุมมลพิษเข้ามาช่วย เรามาช่วยด้วยความเต็มใจและจริงใจ มีปัญหาอะไรค่อยๆ คุยกัน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างไม่เอา ต้องรีบ ต้องเร่งด่วน แต่เชื่อว่าชาวบ้านอาจจะไม่เข้าใจระบบของทางราชการในการเบิกงบประมาณ รวมทั้งขั้นตอนของการทำงานของหน่วยราชการ ส่วนตัวผมพยายามกระตุ้น ทาง คพ.แล้วว่าจะต้องรีบทำและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไปแล้ว แต่ปัญหาก็คือมันติดเรื่องขั้นตอนของทางราชการในการของบประมาณ อีกหนึ่งประเด็นที่จะฝากไปถึงคืออยากให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือคือหากพบกองกากหางแร่ใหม่ ขอให้รีบแจ้งให้เราทราบทันที เพราะจำได้ว่าการลงพื้นที่สำรวจในระยะที่ 1 และ 2 ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่มีข้อมูลมากนักจึงเป็นเหตุทำให้การสำรวจนั้นไม่ครอบคลุมพื้นที่ เพราะในอดีตเราไม่รู้เลยว่าทางบริษัทเหมืองแร่นำกากหางแร่ไปทิ้งเอาไว้จุดไหนบ้าง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลดังกล่าวกับคนในพื้นที่ด้วย" ศ.ดร.ธเรศ กล่าวทิ้งท้าย
ศาลสั่ง คพ.ดูดตะก้อนปีละครั้ง ชาวบ้านเผยไม่เคยเห็นดำเนินการ
ส่วน นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ กล่าวว่า การประชุมชี้แจงของกรมควบคุมมลพิษส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวอ้างเรื่องของงบประมาณที่ใช้สำหรับศึกษาพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวเกรงว่าการรองบประมาณในการศึกษาจะเป็นการดึงเวลาออกไป ซึ่งการฟื้นที่นั้นจะต้องทำอย่างเร่งด่วนเพราะว่าพื้นที่บ่อ 10 ไร่เริ่มพังทลายลงมาแล้ว หากเก็บเอาไว้นานๆ จะไหลลงสู่หมู่บ้าน แต่ทางกรมควบคุมมลพิษ บอกกับชาวบ้านว่าจากการศึกษาพื้นที่บ่อ 10 ไร่นั้นมีความปลอดภัยแล้ว แต่ชาวบ้านมองว่ามันไม่ใช่และเชื่อว่าหากไม่รีบแก้ไขอีกไม่เกิน 1-2 ปี คันดินจะพังลงมาอย่างแน่นอน
การที่กรมควบคุมมลพิษจะทำการศึกษาใหม่อีกครั้งหนึ่งจะเป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ ซึ่งชาวบ้านนั้นต้องการให้กรมควบคุมมลพิษนำกากหางแร่ออกไปให้หมดแล้วนำไปกำจัดตามหลักวิชาการ ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษไม่ได้กำจัดกากหางแร่ให้ตรงตามหลักวิชาการเลย ซึ่งค่าตะกั่วยังคงอยู่ที่ 70,000-80,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันกากหางแร่ยังมีอยู่นับ 1 แสนตัน แต่กรมควบคุมมลพิษได้ขุดขนย้ายออกไปแค่ประมาณ 30,000 ตันเท่านั้น ซึ่งกรมควบคุมมลพิษต้องมีหน้าที่ดำเนินการต่อไป
"กรมควบคุมมลพิษต้องเร่งทำโครงการเพื่อของบประมาณเพื่อให้นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาเป็นการเร่งด่วน ที่ผ่านมาบอกว่าจะศึกษาโดยเร่งด่าน แต่ผ่านมา 2 ปีแล้วยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอะไรให้ชาวบ้านเลย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2556 ให้กรมควบคุมมลพิษดูดตะกอนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย จนชาวบ้านมองว่าเป็นการดักตะกอนกากหางแร่กองเอาไว้ในหมู่บ้าน" นายกำธร กล่าว
ส.ส.เขต 5 เสนอตัวพร้อมช่วยผลักดับงบฟื้นฟูสารพิษ
ด้าน นายพนม โพธิ์แก้ว ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 กล่าวว่า วันนี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ได้เข้ามาชี้แจ้งกับชาวบ้านเกี่ยวกับงบประมาณปี 2567-2568 เรื่องการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการฟื้นฟูลพห้วยคลิตี้ เพื่อให้ให้ชาวบ้านกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แหล่งน้ำแหล่งอาหารจะต้องไม่มีสารพิษจากตะกั่วหางแร่อีกต่อไป
นายพนม กล่าวด้วยว่า จากการที่ได้มารับฟังปัญหารวมทั้งการที่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ทั้งกรมควบคุมมลพิษและผู้นำชาวบ้านที่มา พบว่าสารตะกั่วยังมาค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ตั้งงบประมาณ ปี 2567 เอาไว้เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวิจัยว่าจะมีแผนฟื้นฟูในระยะต่อไปอย่างไร ที่ผ่านมาทราบว่ากรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการในขั้นต้นไปแล้วคือการฟื้นฟูในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แต่ยังมีสารพิษเจือปนอยู่
ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้ตั้งงบประมาณ ปี 2568 เอาไว้ประมาณ 6-7 ล้านบาทเพื่อนำมาดูดกากหางแร่ที่กักเก็บเอาไว้ภายในบ่อ 10 ไร่ และ 22 ไร่ เพื่อไม่ให้ไหลลู่สู่ลำห้วยคลิตี้ที่อยู่ด้านล่าง ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณเพื่อนำเข้าเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณดังกล่าว
"ส่วนตัวจะคอยช่วยทั้งกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งชาวบ้านในการเป็นตัวกลางอธิบายให้ทุกคนเข้าได้เข้าใจตรงกันว่าวิธีการการที่จะฟื้นฟูแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อมในพื้นที่เป็นไปตามหลักของสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณที่กรมควบคุมมลพิษตั้งไว้ ตนจะเข้าไปผลักดันกับสภาพผู้แทนราษฎรให้พิจารณาอนุมัติงบประมาณให้ได้โดยเร็วต่อไป" นายพนมกล่าว