ดีเอสไอรุกขอข้อมูล อว.หาต้นเรื่องทำเบิกงบโครงการวิจัย มมส. 600 ล. เผยรู้แล้ว 2 หน่วย อีก 1 กำลังสืบ ด้าน เลขาฯแรมโบ้อีสานยื่นหนังสือแจงโดนกลั่นแกล้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วงเงินกว่า 600 ล้านบาท โดยในช่วงกลางเดือน ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อขอความร่วมมือในการให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน โครงการฯ นี้ เข้าให้ถ้อยคำต่อดีเอสไอ ในช่วงวันที่ 13 - 14 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ขณะที่ ดีเอสไอ ตั้งประเด็นสืบสวนในหลายประเด็น อาทิ ความคุ้มค่า โปร่งใส่ มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ของโครงการฯ ตามมาตรา 8 พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ความคืบหน้าล่าสุด ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (คกร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ทางดีเอสไอได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว จากสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
จากข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่า มีโครงการทั้งหมด 3 โครงการ คือ 1) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2) มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม 3) ยังไม่ทราบข้อมูล จึงจะต้องประสานขอข้อมูลจากทาง อว. และตรวจสอบต่อว่า หน่วยงานใดเป็นต้นเรื่องในการจัดทำและของบประมาณ
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ นายอานนท์ แสนน่าน เลขาฯ นาย เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้ อีสาน ได้ทำหนังสือชีแจ้งมายังดีเอสไอว่าถูกกลั่นแกล้ง อย่างไรก็ตามจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่มีผู้ร้องเรียนในประเด็นนี้เข้ามา แต่ยังมีประเด็นใหญ่ๆ อื่นๆ เนื่องจากมีการร้องทุกข์ตามแต่ละจังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเกี่ยวข้องของนายอานน์ แสนน่านกับโครงการวิจัยฯ นี้ เนื่องจาก นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ประสานงานโครงการและ มักไปปรากฏตัวในการอบรมโครงการต่างๆ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า โครงการฯ นี้ มีการจัดทำระบบจัดซื้อจัดจ้างโดยคณะนักวิจัย ซึ่งแตกต่างจากโครงการวิจัยอื่นๆ เงินอยู่ในระบบทั้งหมด และเงินที่เหลือที่ไม่มีการเบิกจ่าย จำนวนประมาณ 130 กว่าล้านบาท ก็ได้คืนให้กับภาครัฐ ในส่วนของเงินที่มีการเบิกจ่าย เป็นไปตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป มีการตรวจรับและส่งมอบ โดยทุกขั้นตอนเป็นไปตามสัญญา ในส่วนของการเงินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคลังจังหวัด ในส่วนของเงินค่าปรับ กรณีเกิดความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบโครงการได้ตามสัญญา ก็มาจากการปรับ หรือริบหลักประกันของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ
ส่วนเรื่องการร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้น นายประยุกต์ กล่าวว่า เป็นการร้องเรียนจากบุคคลในสังกัดที่ไม่พอใจในการประเมินงาน แต่ขอยืนยันว่าไม่มีการฮั้ว และทุกอย่างดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์
อ่านประกอบ: