เผยมติ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา 'สุพจน์ พรหมมาโนช' อดีตผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่-พวก ทุจริตเบิกจ่ายเงินงานจ้างเหมาบริการจัดทำแปลงข้อมูลเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุประเภทฟิล์ม ทั้งที่ไม่มีเนื้องานตามที่จ้าง หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นคดีอาญา เสียงเอกฉันท์ไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ฟังได้ว่ากระทำความผิดข้อกล่าวหา ไม่มีมูล โทษวินัยเสียงส่วนใหญ่ให้รอด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ตีตกข้อกล่าวหา นายสุพจน์ พรหมมาโนช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และพวกรวม 5 ราย ทุจริตเบิกจ่ายเงินงานจ้างเหมาบริการจัดทำแปลงข้อมูลเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุประเภทฟิล์ม โดยวิธีสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล พร้อมอัดขยายภาพ จำนวน 491,000 บาท ทั้งที่ไม่มีเนื้องานตามที่จ้างและบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อตรวจรับงานและจัดทำเอกสารเบิกจ่ายเท็จ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นเป็นสองฝ่าย แต่ถือมติเสียงข้างมากว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหา มี 5 ราย คือ
1. นายสุพจน์ พรหมมาโนช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
2. นางสาวศิริพร ภาณุรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นักจดหมายเหตุชำนาญการและหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
3. นายลิขิต ทุนกาศ ผู้รับจ้าง
4. นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายช่างเทคนิคอาวุโส รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
5. นางสาวณัฐพัชร์ แสนมหาทรัพย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า โครงการงานจ้างเหมาบริการจัดทำแปลงข้อมูลเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุประเภทฟิล์ม โดยวิธีสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล พร้อมอัดขยายภาพ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีวงเงินงบประมาณจำนวน 491,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นำข้อกำหนดและขอบเขตรายละเอียดคุณลักษณะขอบเขตงาน (TOR) เอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของนายลิขิต ทุนกาศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สำเนาหน้าสมุดเงินฝากของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ได้เคยมอบให้เอกสารดังกล่าวและบัตรเอทีเอ็มให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เมื่อคราวที่มีการจัดจ้างผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้รับจ้างงานจ้างเหมาบริการโครงการประเมินคุณค่าเอกสาร (สำรวจ รวบรวม คัดแยกกลุ่มเอกสาร) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และรายชื่อบุคคลที่จะเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มามอบให้ผู้กล่าวหาที่ 1 พร้อมกับแจ้งว่าโครงการนี้ให้ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้รับจ้างในโครงการดังกล่าว และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้กำหนดวันส่งมอบงานจำนวน 3 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ส่งมอบภายในวันที่ 30 มีนาคม 2561 และงวดที่ 2 ส่งมอบภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และงวดที่ 3 ส่งมอบภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 รวมเป็นเงินจำนวน 491,000 บาท และสั่งให้ผู้กล่าวหาที่ 1 จัดทำใบเสนอราคา ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 พร้อมกับปลอมลายมือชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในช่องผู้เสนอราคาและลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุเทพ เลขที่บัญชี 521-0-XXXX ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
จากนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้ผู้กล่าวหาที่ 1 จัดทำบันทึกขอความเห็นชอบจ้างเหมาจัดทำแปลงข้อมูลเอกสารโครงการ เสนอต่อผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560ข้อ 28 (3) เมื่อนายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ลงลายมือชื่อให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้ผู้กล่าวหาที่ 1 จัดทำบันทึกขออนุมัติจัดจ้าง และหนังสือข้อตกลง ว่าจ้างผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้รับจ้าง และให้ผู้กล่าวหาที่ 1 ปลอมลายมือชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้รับจ้าง ลงในเอกสารการจ้าง โดยมีนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปากร ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ว่าจ้าง ให้จ้างนายลิขิต ทุนกาศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้รับจ้าง และมีคำสั่งที่ 34/2561 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ
เมื่อถึงกำหนดการส่งมอบงานในแต่ละงวด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้ผู้กล่าวหาที่ 1 จัดทำใบส่งมอบงาน/ใบแจ้งหนี้และปลอมลายมือชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้รับจ้าง ในเอกสารการส่งมอบงานทั้ง 3 งวด แล้วนำไปให้ผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ลงลายมือชื่อในใบตรวจรับงาน ซึ่งผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจรับพัสดุ จำต้องลงลายมือชื่อในใบตรวจรับงานตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สั่งการ ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่ได้มีการปฏิบัติงานจริงตามที่มีการว่าจ้าง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้จัดทำบันทึกขออนุมัติเบิกเงินงบประมาณไปยังผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ในฐานะหน่วยเบิกจ่าย ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้จ่ายเงินค่าจ้างในแต่ละงวด โอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 521-0-61XXXX ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ผู้รับจ้าง รวมจำนวน 3 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 จำนวน 805 ภาพ เป็นเงินค่าจ้างจำนวน 98,200 บาท เมื่อส่งมอบงานภายในวันที่ 30 มีนาคม 2561 งวดที่ 2 จำนวน 1,200 ภาพ เป็นเงินค่าจ้างจำนวน 98,200 บาท เมื่อส่งมอบงานภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และงวดที่ 3 จำนวน 2,020 ภาพ เป็นเงินค่าจ้างจำนวน 294,600 บาท เมื่อส่งมอบงานภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 รวมเป็นเงินจำนวน 491,000 บาท โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นำบัตรเอทีเอ็มของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เบิกถอนเงินสดค่าจ้างจากบัญชีดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยทุจริต การกระทำดังกล่าวชองผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งได้จัดทำโครงการงานจ้างเหมาบริการจัดทำแปลงข้อมูลเอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุประเภทฟิล์ม โดยวิธีสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล พร้อมอัดขยายภาพ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นเท็จ และทุจริตเบิกจ่ายเงินโครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายกับหอจดหมายเหตุฯ และแก่ทางราชการจำนวน 491,000 บาท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติในกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ดังนี้
นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
ที่ประชุมลงคะแนนเสียง แยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก มีความเห็นว่าจากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีเจตนากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้าวน้อย มีความเห็นว่าการกระทำของนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากกพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่การกระทำของนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งแม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประทำความผิดกับนางสาวศิริพร ภาณุรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เนื่องจากอยู่คนละหน่วยงาน มีสถานที่ปฏิบัติงานคนละแห่ง และไม่ทราบถึงพฤติกรรมของนางสาวศิริพร ภาณุรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แต่นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่นายลิขิต ทุนกาศ ผู้รับจ้าง ทั้งที่ไม่มีการปฏิบัติงานจ้างจริง แต่ได้เบิกเงินตามโครงการดังกล่าวไป ตามที่นางสาวศิริพร ภาณุรัตน์ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จัดทำและลงลายมือชื่อแทนนายลิขิต ทุนกาศ ในเอกสารโครงการ เพื่อเจตนาเบิกจ่ายค่าจ้างและได้มีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง รวมเป็นเงินทั้งหมด 491,000 บาท จึงเป็นการไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลยไม่รอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดี ก่อให้เกิดความเสียหายกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเชียงใหม่ และแก่ทางราชการ การกระทำของนายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความชื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) (2) และ (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) และ (4)
ประธานฯ จึงสรุปว่า ผลการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ในทางอาญาที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง ว่าจากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
นายลิขิต ทุนกาศ ผู้กล่าวหาที่ 3 นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนางสาวณัฐพัชร์ แสนมหาทรัพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายลิขิต ทุนกาศ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นายเทิดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนางสาวณัฐพัชร์ แสนมหาทรัพย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำหรับนางสาวศิริพร ภาณุรัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ถึงแก่ความตายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวน เพื่อดำเนินคดีอาญา หรือดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 57 จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ