ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งครู-บุคลากรทางการศึกษา อยู่เวรรักษาการณ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ศาลปกครองนครศรีธรรมราช เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้ผู้บังคับบัญชากระทำการมีคำสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เวรรักษาการณ์ เนื่องจากมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ มีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาผู้ถูกฟ้องคดีที่มีคำสั่งให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ รวมถึงงดออกคำสั่งในทำนองเดียวกัน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกหนังสือสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 37 ลงวันที่ 25 ม.ค. 2567
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ให้กระทรวงศึกษาธิการ (สถานศึกษาในสังกัด) รวมทั้งกระทรวงอื่น ๆ ที่มีสถานศึกษาในสังกัดได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 (เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ) และมอบหมายกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (หน่วยงานในสังกัดในแต่ละพื้นที่) ประสานกับสถานศึกษาในพื้นที่แต่ละแห่งเพื่อจัดเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสถานศึกษาดังกล่าว ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันอยู่แล้ว ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542
สืบเนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากการที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับปัจจุบันมีบุคคลและเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยของสถานที่ราชการหน่วยงานของรัฐแทนได้ เช่น การใช้พนักงานรักษาความปลอดภัย การจ้างเอกชนให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
นอกจากนี้ การให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เวรรักษาการณ์ในสถานศึกษายังอาจเป็นการกำหนดหน้าที่ที่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยไม่จำเป็น โดยมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวมีเจตนารมณ์ครอบคลุมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์จึงเป็นการกระทำที่มิชอบ
จึงมีคำสั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาผู้ถูกฟ้องคดีระงับการบังคับใช้คำสั่งที่ให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ และห้ามผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งในลักษณะเดียวกันที่อาจจะมีต่อไปในอนาคตไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น