‘เศรษฐา’ ยืนยัน 10 เม.ย.แถลงดิจิทัลวอลเลตเงินหมื่น ไม่ตอบดึงเงิน ‘ออมสิน-ธกส.’ โปะช่วย ขอให้รอ ส่วนการแก้ฝุ่น PM2.5 มอบ 9 มาตรการให้ 9 หน่วยงานดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า พร้อมแล้วในการแถลงข่าวโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต โดยวันนี้ (9 เม.ย. 67) จะมีการซักซ้อมกันในตอนเย็นอีกที โดยจะกลับมาหลังไปเปิดหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 1 ตอนบ่าย และจะกลับมาที่ทำเนียบรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นเซอร์ไพรส์ใหญ่สงกรานต์ให้กับประชาชนใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ใช่เซอร์ไพรส์เพราะบอกมาตั้งนานแล้วว่าวันที่ 10 เม.ย.จะมีการแถลงอย่างชัดเจน ไม่มีเซอร์ไพรส์ ก็เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ทุกอย่างถูกต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนในทุกภาคส่วน
เมื่อถามว่ามีการพูดกันว่าจะใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน นายเศรษฐาย้อนถามว่า “ใครพูดครับ" ผู้สื่อข่าวตอบกลับว่าฝ่ายค้านมีการพูดกัน นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า “ผมแถลงข่าววันที่ 10 เม.ย.ครับ และวันที่ 10 เม.ย.ก็จะมีการประชุมก่อน นี่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสับสนกัน ผมขอความกรุณาดีกว่า คอยวันที่ 10 เม.ย.”
ส่วนประเด็นค่าฝุ่นละออง PM2.5 พุ่งสูงในจังหวัดภาคเหนือ นายเศรษฐากล่าวว่า ได้กำชับให้ยกระดับมาตรการปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานผ่าน 9 มาตรการ ประกอบด้วย
1. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานทหารระดมลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยงรวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ลักลอบเผาป่าทุกกรณี ย้ำทุกกรณีไม่มีการละเว้น
2.ให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแลบังคับกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด
3.ให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการจังหวัด กำนันผู้ใหญ่บ้านร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดชุดปฏิบัติการลาดตระเวนเฝ้าระวังเสี่ยงต่อการเผา
4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศ เขตความร่วมมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้ประกาศเวิร์คฟอร์มโฮมตามความจำเป็น เพื่อผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
5.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาตัดสินการรับความช่วยเหลือ การชดเชยต่างๆจากรัฐหากพบว่ามีการเผาในพื้นที่เกษตรกรของเอง
6.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มความถี่ ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองอย่างเร่งด่วน และร่วมกับรายงานความมั่นคงในจัดหาเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือการดับไฟป่า
7.ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดชุดเคลื่อนที่ลงเยี่ยมบ้านดูแลสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีและสนับสนุนอุปกรณ์ส่วนบุคคล สำหรับกลุ่มเสี่ยง
8.ให้สำนักงานงบประมาณ พิจารณางบกลางให้จังหวัดเพื่อให้ทันต่อการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ตามความเหมาะสมและจำเป็นเร่งด่วน
9.กรณีหมอกควันข้ามแดนให้กระทรวงการต่างประเทศยกระดับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง พม่า และลาว ให้ลดการเผาป่าอย่างทันทีและตั้ง KPI ให้ชัดเจน