ครม.รับทราบผลงาน รฟม.ปี 66 ‘น้ำเงิน-ม่วง’ คนนั่งเพิ่มจากปี 65 มากกว่า 40% สายสีน้ำเงิน 3.7 แสนคนเที่ยว/วัน ส่วนสายสีม่วง 5.6 หมื่นเที่ยวคน/วัน พร้อมผลักดันรถไฟฟ้า 5 โปรเจ็กต์ ‘สายสีส้มกทม.’ และ ‘รถไฟฟ้าภูมิภาค 4 จังหวัด’ ปักหมุด ‘ภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-พิษณุโลก’ วางไกด์ไลน์ยาวถึงปี 75 ‘คมนาคม’ ยังกังวลคดีความพัน ‘สายสีส้ม’ ทำประมูลยังไม่จบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 เมษายน 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2543 มาตรา 73 ที่กำหนดให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบ โดยในปี 2566 รฟม.มีผลการดำเนินงานในรอบปี 2566 (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566) ดังนี้
@น้ำเงินคนนั่ง 3.7 แสนคน / ม่วง คนใช้แค่ครึ่งแสน
1.อัตราการเติบโตของผู้โดยสาร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล เส้นทางบางซื่อ - ท่าพระและหัวลำโพง - ระยะทาง 47.8 กม. จำนวน 38 สถานี มีจำนวนผู้โดยสารทั้งปีเฉลี่ยสะสม 375,658 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้น 65.62% จากปี 2565 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 226,834 เที่ยวคน/วัน
รถไฟฟ้าสายสีม่วงสายฉลองรัชธรรม เส้นทางคลองบางไผ่ - เตาปูน ระยะทาง 23 กม. จำนวน 16 สถานี มีจำนวนผู้โดยสารทั้งปีเฉลี่ยสะสม 56,405 เที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้น 45.37% จากปี 2565 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 38,802 เที่ยวคน/ปี
2. โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มี 2 โครงการ ได้แก่
รถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ความคืบหน้า 84.51% งานโยธาแล้วเสร็จ 100% เมื่อเดือน มิ.ย. 2566 งานที่ปรึกษาโครงการคืบหน้าแล้ว 98.88% เหลืองานส่วนการออกแบบ ผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดิน ซึ่งมีความคืบหน้า 23.13% โดยเนื้องานระบบนี้ถูกนำไปผูกกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ คาดว่าจะเปิดเให้บริการได้ในเดือน ต.ค. 2569
รถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ ความคืบหน้าอยู่ที่ 43.86% แบ่งเป็นงานศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนงานระบบคืบหน้า 65.7%, งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คืบหน้า 87%, งานที่ปรึกษาโครงการ คืบหน้า 40.54% และงานก่อสร้างคืบหน้า 39% ภาพรวมจะแล้วเสร็จใเปิดบริการช่วง มิ.ย. 2571
3.โครงการที่กำลังประกวดราคาคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - บางขุนนนท์ มีความก้าวหน้า 32.14% โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมี.ค. 2572
@เตรียมดันต่อ 5 โปรเจ็กต์รถไฟฟ้า แผนระยะยาวถึงปี 75
4.โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์โครงการ 5 โครงการ
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะเวลาดำเนินการปี 2562-2573 ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม โดย รฟม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมขอความเห็นชอบในหลักการของโครงการร่วมลงทุน (PPP) และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ วางเป้าหมายเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2571
รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2575 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของรูปแบบการลงทุนตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคมโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธ.ค. 2574
รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2574 ปัจจุบันรฟม.ได้นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกการดำเนินโครงการที่เหมาะสมต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาและสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพ.ค. 2573
รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวช่วงตลาดเซฟวัน - สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะเวลาดำเนินงานปี 2561 - 2574 ปัจจุบันรฟม.ได้นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกการดำเนินโครงการที่เหมาะสมต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาและสั่งการตามที่เห็นสมควรโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพ.ค. 2573
รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดงช่วง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก - เซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะเวลาดำเนินงานปี 2562-2576 ปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนโครงการให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือช่วงกรุงเทพฯ - พิษณุโลกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนม.ค. 2575
แผนรถไฟฟ้า 5 โครงการในล้อมกรอบสีแดง
ที่มา: แผนวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2566-2570 ของ รฟม.
@คมนาคม ยังห่วงคดี สายสีส้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรายงานผลการดำเนินงานของรฟม.ประจำปี 2566 กระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นประกอบในการเสนอคณะรัฐมนตรีว่า ในส่วนผลงาน รฟม.สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปี 2566 ยังมีข้อจำกัดก็คือปัจจัยข้อกฎหมายในส่วนของการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (ฝั่งตะวันตก) ที่ต้องรอผลการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปได้ ส่วนปัจจัยและทิศทางการดำเนินการอื่นๆ คณะกรรมการรฟม.ได้ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว