ปปง.โชว์ภาพบุกยึดทรัพย์ ที่ดิน บ้านพัก สระว่ายน้ำ จ.สกลนคร หญิงสาวกับพวก 21 รายการ 11.2 ล. คดีฉ้อโกงชวนร่วมลงทุน บ.เอ็น.เอส.ซี โปรดักส์ ขายน้ำมันหล่อลื่น ปั้นผลประกอบการเท็จ ผู้เสียหายหลายราย 66.2 ล. ศาลพิพากษาจําคุก 10 ปี รอการลงโทษ 5 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อ วันที่ 2 - 5 เมษายน 2567 คณะพนักงานเจ้าหน้าที่กองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) นำโดย นายสุพัฒน์ ลักษณะ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการงานคดี 5 นางสาวเขมนิจณิสา เศรษฐีสมบัติ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ และพนักงานเจ้าหน้าที่กองคดี 1 ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ ปปง. ให้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร และเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสกลนคร สนธิกำลังปฏิบัติการยึดทรัพย์สินตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
เพจเฟซบุ๊กสำนักงาน ปปง.ระบุ ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ ปปง.เข้าตรวจยึดทรัพย์สินที่ดิน สิ่งปลูกสร้างพร้อมสระว่ายน้ำ ตามคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.53/2567 (ดูภาพ)
https://www.facebook.com/photo?fbid=738086675162858&set=pcb.738086941829498
https://www.facebook.com/photo?fbid=738086738496185&set=pcb.738086941829498
https://www.facebook.com/photo?fbid=738086685162857&set=pcb.738086941829498
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า คําสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย.53/2567 เป็นคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง
คำสั่งที่ ย.53/2567 ลงวันที่ 12 มี.ค.2567 ระบุยึดและอายัดทรัพย์ นางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ กับพวก 21 รายการมูลค่า 11,228,080.31 บาท ประกอบด้วย ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 91257 เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา ใน อ.เมือง จ.สกลนคร ,ห้องชุดในเขตบางนา กรุงเทพฯ ,สิ่งปลูกสร้างในสถานที่พักนาตาดวงพูลวิลลา ( Nata Duang Pool Villa) มีบ้านพักขนาดใหญ่ อาคาร พร้อมสระว่ายน้ำ 3 รายการ และเงินในบัญชีเงินฝากและสลากออมทรัพย์ 18 รายการ (ดูเอกสาร)
คำสั่งดังกล่าวระบุที่มาของคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากสถานีตํารวจนครบาลบางมด ตามหนังสือที่ 0015 (บก.น.8)(10)(ส.)/2568 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เรื่อง ส่งแบบรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รายนางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะ เป็นปกติธุระ กล่าวคือ
บริษัท เอ็น.เอส.ซี โปรดักส์ จํากัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0135559004528 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ตั้งอยู่เลขที่ 55/67 หมู่ที่ 3 ตําบลลําลูกกา อําเภอลําลูกกา จังหวัดปทุมธานี ระบุว่าประกอบกิจการจําหน่ายน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สินค้าเหล็กรูปพรรณทุกชนิด รวมถึงเหล็กเส้น เหล็กก่อสร้างทุกรูปแบบ สินค้าอุตสาหกรรม และวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงงาน ซึ่งมิได้มีการประกอบกิจการจริง โดยมีนายสิรวิชญ์ ชัญญาวงศ์ศักดิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีนางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ ทําหน้าที่ชักชวนบุคคลอื่นให้ร่วมลงทุนกับบริษัท เอ็น.เอส.ซี โปรดักส์ จํากัด โดยหลอกลวง ว่าบริษัทมีการประมูลงานจัดซื้อสินค้าอุตสาหกรรมและวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในโรงงานกับบริษัทอื่น ๆ ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ดีมาโดยตลอด โดยบริษัทจะมีการส่งใบสั่งซื้อสินค้าปลอมไปยังผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ว่าบริษัทมีผลประกอบการที่ดี และจะสามารถจ่ายผลตอบแทนได้จริงตามที่กล่าวอ้าง
โดยผู้ที่สนใจร่วมลงทุน จะต้องโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) เลขที่ 598-201111-8 ชื่อบัญชี นางสาวเนตรนภา อุปพงศ์ เป็นเหตุให้นายเกตุชัย ลิ้มเจริญ และนางสาวปรัชญาพร สีทอง ผู้เสียหายหลงเชื่อ ร่วมลงทุนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,475,780 บาท
โดยในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจํานวน 5,869,359.15 บาท ต่อมาภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้ จึงเข้าร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามให้ดําเนินคดี กับนางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ กับพวก ต่อมากองบังคับการปราบปรามได้ส่งคําร้องทุกข์ไปยังพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลบางมด ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุเพื่อดําเนินการ
พนักงานสอบสวน สรุปสํานวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องนางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ (ผู้ต้องหาที่ 1) นางสาวเนตรนภา อุปพงศ์ (ผู้ต้องหาที่ 2) นายสิรวิชญ์ ชัญญาวงศ์ศักดิ์ (ผู้ต้องหาที่ 3) และบริษัท เอ็น.เอส.ซี โปรดักส์ จํากัด (ผู้ต้องหาที่ 4) ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์สินผู้อื่น ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ร่วมกันกระทํา โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นคดีอาญาที่ 911/1563
ต่อมาศาลแขวงธนบุรีในคดีหมายเลขดําที่ อ 1026/2564 หมายเลขแดง ที่ อ 880/2565 ได้มีคําพิพากษาว่าจําเลยทั้งสี่รายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 341 พระราชบัญญัติว่าด้วย การกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 ลงโทษจําคุกจําเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 ปี และปรับ 360,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนดห้าปี สําหรับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ลงโทษจําคุกคนละ 10 ปี และจําเลยที่ 4 ลงโทษปรับจํานวน 360,000 บาท ปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับชดใช้เงินจากจําเลยทั้งสี่อย่างครบถ้วนแต่อย่างใด
และจากการตรวจสอบพบว่ายังมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่ถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกันกับกรณีข้างต้น รวมความเสียหายประมาณ 66,248,433.85 บาท อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวพิมพ์รภัส ไทยรัตนานนท์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว ปปง.จึงสั่งยึดและอายัดทรัพย์ดังกล่าว