‘สภาพัฒน์’ แนะรัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้-ขยายฐานภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มี ‘พื้นที่การคลัง’ เพียงพอ สำหรับพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
..................................
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงการคลัง โดยปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงิน ช.ค.บ. แล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงิน ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นจนครบเดือนละ 11,000 บาท โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเงิน ช.ค.บ. ดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2567 ให้ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ส่วนค่าใช้จ่ายในปีต่อๆไปนั้น ให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดทำแผนการใช้จ่ายฯเพื่อบรรจุในกรอบวงเงินประมาณรายจ่ายต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ครม.เห็นชอบเติมเงินเบี้ยหวัดบำนาญ 5 ประเภทให้เต็ม 1.1หมื่นบ./เดือน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาวาระดังกล่าว สำนักสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า สศช. เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.ฎ.เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ .) พ.ศ.... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญสามารถดำรงชีพได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรกำหนดแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ควบคู่กับการขยายฐานภาษีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพียงพอสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รวม 12 ข้อ โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ เช่น
ข้อ 1.6 รัฐบาลควรจัดงบประมาณให้ตรงกับความเป็นจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งงบประมาณชดใช้เงินคงคลังในอนาคต โดยกรอบงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 อยู่ที่ 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า ถึง 295,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.26 นับเป็นการเพิ่มงบประมาณอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,787,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 693,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รัฐบาลมีแผนงานชดใช้เงินคงคลังสูงถึง 118,361 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในส่วนที่ไม่สามารถนำมาทำให้เกิดผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในปีนั้นๆได้
เหตุผลที่รัฐบาลตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังสูงมากเป็นประวัติการณ์ มาจากเหตุผลที่รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้อย่างเพียงพอในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และ2566 อีกทั้งรัฐบาลยังไม่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานเดียวกันได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
โดยหากพิจารณารายการงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ไม่เพียงพอ ได้แก่ งบบุคลากร เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ งบชำระหนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายการดังกล่าวเป็นรายการที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แทบทั้งสิ้น แต่รัฐบาลกลับตั้งงบประมาณขาดไป จำนวน 33,759 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และจำนวน 84,602 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรมีการปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินคงคลังในกรณีดังกล่าว เพราะจะกลายเป็นภาระงบประมาณในปีถัดๆไป ซึ่งเป็นเหตุให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนั้นๆ
ข้อ 1.7 รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาภาระหนี้ที่เกิดจากภาระดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเยียวยาประชาชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้นี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 61.34 ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ.2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64 ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2567
แม้สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไม่เกินร้อยละ 70 แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาล หรือผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น ทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะภาระการชำระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สัดส่วนดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ร้อยละ 8.2 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่ปีงบประมาณหน้าเป็นต้นไป ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าหลักเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่เทียบเท่ากับระดับ A- (Upper Medium Investment Grade)
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งในด้านการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ และจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ภาระหนี้มีสัดส่วนในงบประมาณที่สูงจนทำให้มีงบประมาณคงเหลือที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศน้อยลง (อ่านเพิ่มเติม : รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567)