ผู้เชี่ยวชาญมาเลย์เชื่อโครงการรถไฟ ECRL ลดแรงกดดันโครงการแลนด์บริดจ์ไทยได้ ย้ำโครงการนี้จะทำให้แลนด์บริดจ์มีความสมดุลทั้งทางทะเล ทางบกมากขึ้น แต่ยังติดปัญหาเรื่องหาผู้มาลงทุนโครงการมูลค่า 3.87 แสน ล.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์จากประเทศมาเลเซียว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งของมาเลเซียได้ออกมากล่าวว่าการขยายเส้นทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออก (ECRL) ไปยังชายแดนไทยจะตอบโต้แรงกดดันด้านการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนองได้
นายวาน อากิล วาน ฮัสซัน ที่ปรึกษาด้านการขนส่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวว่าการขยายเส้นทางรถไฟดังกล่าวสามารถเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างสองประเทศเปิดเส้นทางลอจิสติกส์ใหม่ ๆ และอาจลดต้นทุนการขนส่งและเวลาสําหรับการส่งสินค้า
อนึ่งนายแอนโทนี่ โลค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาเลเซียได้เคยกล่าววันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่ามาเลเซียกำลังพิจารณาในเรื่องการขายโคงการ ECRL มูลค่า 5 หมื่นล้านริงกิต (387,283,500,000 บาท) ใกล้ชายแดนไทยเพื่อลดการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายวานกล่าวต่อว่าความสมดุลระหว่างแนวคิดเรื่องแลนด์บริดจ์ของประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้การเสริมกันระหว่างการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางรางและการขนส่งทางทะเล
“ในขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อนําเสนอเส้นทางการเดินเรือที่รวดเร็วและตรงมากขึ้น โครงการ ECRL ที่ขยายออกไปสามารถทําหน้าที่เป็นองค์ประกอบสําคัญของเครือข่ายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยนําเสนอตัวเลือกการขนส่งทางบกที่มีประสิทธิภาพ” นายวานกล่าว
นายวานกล่าวอีกว่าอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขยาย ECRL จะทําให้มาเลเซียมีข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ในการรักษาสถานะเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าที่สําคัญ แต่ก็จะต้องมีการลงทุนทางการเงินจํานวนมากและความเสี่ยงที่ต้นทุนจะสูงเกินไป
ส่วนนายรอสลี อาซาด ข่าน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการคมนาคมอีกรายกล่าวว่ามาเลเซียเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับหกของไทย โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และด้วยการขยาย ECRL มูลค่าการค้าการส่งออกสามารถเพิ่มเป็นสองเท่าเป็นประมาณ 2.75 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือมากกว่าต่อปี
นายรอสลีกล่าวว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าการขนส่งทางรถไฟมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำกว่าการขนส่งสินค้าทางถนน และยังมีต้นทุนต่ำกว่าสำหรับการขนส่งสินค้าบางประเภท
“ตัวอย่างเช่น ราคาเฉลี่ยสําหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตระหว่างกรุงเทพฯ-โกตาบารู (ทางทะเล) อยู่ที่ประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ ตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันสามารถขนส่งทางรถไฟได้ในราคาที่ถูกกว่ากันเกือบครึ่งหนึ่ง” นายรอสลีกล่าวกละกล่าวว่าตัวเขาจะสื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนั้นกําลังพูดถึงจิ๊กซอว์ชิ้นสําคัญที่ยังขาดหายไปในแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานด้านลอจิสติกส์ของมาเลเซีย นั่นคือ การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างโกตาบารูกับประเทศไทย
นายรอสลีกล่าวว่าส่วนขยายนี้จะทําให้นักท่องเที่ยวเดินทางมามาเลเซียมากขึ้นเนื่องจากจุดสุดท้ายของโครงการปัจจุบันคือเมืองโกตาบารูซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 40 กม.
นายรอสลีกล่าวว่าอย่างไรก็ตามยังมีปัญหาอยู่ว่ารัฐชายฝั่งตะวันออกเช่นกลันตันและตรังกานูมีกฎทางศาสนาแบบเข้มข้นในท้องถิ่นที่ควบคุมนักท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว
"ความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว จะส่งผลให้เกิดการไหลออกของการลงทุนใหม่เข้ามาในประเทศไทยแทน" นายรอสลีกล่าว