'พริษฐ์ วัชรสินธุ' ชี้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญแบบพายเรือในอ่าง-สร้างประชาธิปไตยขอใบอนุญาต จี้รบ.แสดงจุดยืนสสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวอภิปราย
นายพริษฐ์ กล่าวทบทวนเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ เช่น สว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปเลือกตั้ง น.ส.พรรณิการ์ วาณิช ถูกศาลพิพากษาตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตเพราะโพสต์เฟซบุ๊กก่อนลงสมัครเลือกตั้งเป็นสส. ป.ป.ช.กระวนกระวายกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เป็นต้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรียนถามประธานสภาไปยังนายกรัฐมนตรีว่านี่คือระบบการเมืองที่เราอยากเห็นภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่นิยามตัวเองว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ทราบดีว่าปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นคนก่อ แต่ความคาดหวังที่หวังให้นายกฯและรัฐบาลรับผิดชอบเรื่องนี้เกิดจากนายกฯและรัฐบาลให้คำสัญญาไว้กับประชาชน ที่ระบุไว้เป็นนโยบายว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 คำถาม ได้แก่
คำถามที่ 1 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะจัดทำเสร็จเมื่อไร แม้นายเศรษฐาเคยพูดไว้หลังการเลือกตั้งบนเวทีของประชาชาติธุรกิจ เมื่อ 24 พ.ค. 2566 ว่าสิ่งแรกที่อยากจะทำหากได้เป็นนายกฯ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งภายใน 18 เดือน แต่ผ่านมาเกือบครึ่งทางของ 18 เดือน ปรากฏว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรีน่าเชื่อถือไม่ได้ โดยรัฐบาลมี 2 ทางเลือกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ ก.ทำประชามติ 2 ครั้ง และ ข.ทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ทางเลือกดังกล่าวมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ในการเลือก 2 เส้นทางดังกล่าวไม่ได้เป็นโจทย์ใหม่ เป็นข้อสอบที่รัฐบาลรับรู้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากที่ 6 เดือนผ่านมารัฐบาลยังตอบโจทย์นี้ไม่ได้ ยังคงพายเรือในอ่าง เป็นตลกที่มี 6 ฉาก ดังนี้
1.เริ่มต้นด้วยการกลับลำเรื่องประชามติ ที่ตอนตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศในแถลงการณ์วันที่ 2 ส.ค. 2566 ว่าในการประชุมครม.ครั้งแรกรัฐบาลจะจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการทำประชาติมติ 3 ครั้ง แต่พอถึงวันประชุมครม.ครั้งแรกกลับประกาศจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแทน
2.การตั้งคณะกรรมการศึกษารัฐธรรมนูญที่มีแต่คนกันเอง โดยกรรมการ 35 คน มีกรรมการจากพรรคเพื่อไทย 10 คน เท่ากับจำนวนกรรมการจากพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมกัน
3.การรับฟังความเห็นแบบผิดวัตถุประสงค์ ผิดที่ ผิดเวลา แต่เท่าที่ทราบมาว่าการจัดเวทีรับฟังนั้นถามประชาชนว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร แต่กรรมการชุดนี้มีหน้าที่หลักในการรับฟังความเห็นและหาข้อสรุปแนวทางการทำประชามติว่าจะทำกี่ครั้ง ทำอย่างไร การไปถามประชาชนดังกล่าวเป็นการทำให้หน้าที่หลักล่าช้า
4.การเสนอคำถามประชามติแบบยัดไส้เงื่อนไขที่เป็นปัญหา สิ่งที่ปรากฏ คือ ให้ครม.เดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง โดยการทำประชามติครั้งแรก มีหนึ่งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่ง หมวดสอง” เป็นคำถามที่หลายฝ่ายเตือนว่ามีปัญหาและอาจเสี่ยงทำให้ประชามติผ่านน้อยลง เพราะประชาชนบางคนอาจเห็นด้วยกับส่วนหนึ่งของคำถามและไม่เห็นด้วยกับอีกส่วนหนึ่ง
5.การแก้เก้อเปลี่ยนมาเลือกเส้นทางประชามติ 2 ครั้ง สส.พรรคเพื่อไทยตัดสินใจ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร.เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เปรียบเสมือนการย้อนศรจากการทำประชามติ 3 ครั้งมาสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง แต่คำถาม คือ หากไม่ต้องการแก้ความผิดพลาดของคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ เหตุใดต้องรอหลายเดือนก่อนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะยื่นตั้งแต่วันที่สภาเปิดทำการ หรือวันที่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ
6.การยื่นดาบให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามากำหนดนโยบาย โดยประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระของรัฐสภา แล้วส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจแทน โดยไม่มีหลักประกันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อไร อย่างไร
"แม้รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ครั้งล่าสุดว่าจะหาข้อสรุปเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญภายในไตรมาสแรกของปี 2567 แต่นี่เลยเวลาเส้นตายมา 4-5 วันแล้ว คิดว่าชัดเจนแล้วว่าผ่านมา 6 เดือน ประเทศเราอย่างน้อยในมิติของรัฐธรรมนูญยังอยู่จุดเดิมเมื่อครั้งตั้งรัฐบาล ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเดินต่ออย่างไร สิ่งเดียวที่ไม่เหมือนเดิม คือ ผู้ที่อาจจะมีอำนาจในการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ใช่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่อาจเป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ด้วยนโยบายแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจทำไมนายกฯจึงตัดพ้อกับประชาคมโลกด้วยการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ว่าแม้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่รู้สึกไม่มีอำนาจในเรื่องอะไรเลย" นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า จะเห็นว่าหากรัฐบาลตัดสินใจจะเดินหน้าแบบไหน ก็น่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันภายในเวลา 3-4 ปี แต่กลับใช้เวลา 6 เดือนในการตัดสิน และเมื่อตัดสินใจได้ก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้รัฐบาลก็ต้องมารอศาลรัฐะรรมนูญวินิจฉัยอีก หากศาลวินิจฉัยอย่างที่ควรจะว่าเป็นประชามติสองครั้งพอแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องทัน 4 ปี แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติสามครั้ง ก็มีความเสี่ยงที่ต้องเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่และเสี่ยงที่เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และพ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า
คำถามที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร หากรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนด้วยคนไม่กี่คน เพื่ออกแบบการเมืองให้เอื้อประโยชน์แก่คนไม่กี่คน ประชาชนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถออกแบบเพื่อประโยชน์ของทุกคนได้ ก็ควรถูกขีดเขียนร่วมกันโดยประชาชน หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดออกมาภายใต้รัฐบาลเศรษฐา แต่รัฐบาลเศรษฐาที่ตั้งได้ ดำรงอยู่ได้ด้วยใบบุญของเครือข่ายอำนาจเดิมจะไม่มีทางไว้ใจให้ประชาชนมาร่วมการออกแบบระบบการเมือง และจัดทำกติกาสูงสุดของประเทศตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน ตามที่พวกเขาควรจะมีสิทธิ์
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ตนเองคาดการณ์ว่ารัฐบาลอาจนำไพ่ไม้ตาย 3 ใบมาลดทอนอำนาจประชาชนในการกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไพ่ใบที่ 1 คือ สสร.สูตรผสม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100 คน มี 77 คนมาจากการเลือกตั้งและอีก 23 คนถูกแต่งตั้งโดยรัฐสภา นี่คือการเปิดช่องให้สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถกำหนดทิศทางการเขียนรัฐะรรมนูญฉบับใหม่
ไพ่ใบที่ 2 กินรวบ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยองค์ประกอบของ กมธ.ยกร่างฯที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนจากร่างปี 2563 สู่ร่างปี 2567 สะท้อนเจตนาที่พรรคเพื่อไทยต้องการกินรวบกรรมาธิการยกร่างฯ
ไพ่ใบที่ 3 ด่านทางผ่านวุฒิสภา ในร่างปี 2567 ของพรรคเพื่อไทย เมื่อสสร.จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว สสร.จะต้องส่งรัฐธรรมนูญมาที่รัฐสภา เพื่อกลั่นกรอง แก้ไขก่อนส่งไปทำประชามติ เป็นอีกหนึ่งกลไกที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้ามาแทรกแซงได้
“รัฐบาลชอบกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลเป็นพวกที่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ เพียงเพราะเราเชื่อในอำนาจของประชาชน หากคำทำนายของผมเป็นจริง ผมคิดว่ารัฐบาลต่างหากที่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่กว่าความคิดของประชาชน ท้ายที่สุดหากรัฐบาลไม่ปล่อยให้ประชาชนออกแบบเนื้อหารัฐธรรมนูญ แต่ไปคิดนวัตกรรมที่เข้ามาควบคุมเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยที่ต้องขอใบอนุญาต และเป็นใบอนุญาตต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงเทียบเท่ากับอนาคตของประเทศ" นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในฐานะของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเป็นหน้าที่ที่จำเป็นต้องตั้งคำถามเพื่อเตือนสติ ป้องกันไม่ให้สิ่ต่าง ๆ ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางออกของเรื่องนี้คือ รัฐบาลต้องลุกขึ้นมายืนยันว่ารัฐบาลนี้จะสนับสนุนสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐบาลนี้จะไม่สนับสนุนสูตรกรรมาธิการยกร่างแบบที่ตนเองคาดการณ์และนำเสนอ และไม่บังคับสสร.ไปขอใบอนุญาตจากสว.ถึงจากส่งร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติได้
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ได้แก่
1.ขอให้รัฐบาลปฏิเสธคำถามยัดไส้ที่คณะกรรมการศึกษาฯเสนอ และหันไปใช้คำถามลักษณะเปิดกว้างกว้างสำหรับประชามติครั้งแรก เพื่อเพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรกจะผ่าน
2.ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าจะสนับสนุน สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และไม่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทรกแซง
3.ขอให้รัฐบาลยืนยันว่าระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
4.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเร่งพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ปัจจุบันมีสองร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าคิวอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
"ท้ายสุดแล้วความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ ในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น จะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่อนาคตของการเมืองไทยหรือกติการสูงสุดของประเทศ แต่ความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความจริงใจและความสามารถในการรักษาคำพูfของนักการเมืองให้ไว้กับประชาชน" นายพริษฐ์ กล่าว