'เท่าพิภพ' ชี้ รบ.ขาดความเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เหตุมีการกำหนดหลายเรื่องมากเกินไป แนะกำหนดนิยามกันให้ชัดก่อน ติงอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ยังประกอบด้วยภาคเอกชนเยอะกว่าคนทำงาน ห่วงใช้งบ 120 ล.สร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแท้จริงอาจเอื้อประโยชน์ออร์แกไนซ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 เม.ย. 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 32 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152
โดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลได้เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลว่าเห็นได้ชัดว่ายังมีในส่วนที่ยังขาดความเข้าใจคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ในหลายประการ มีการพูดในหลายสิ่งว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ และเป็นห่วงกันว่าเมื่อวันก่อนนายเศรษฐา ทวีสิน ไปกินเห็ดโคน ก็ห่วงว่าคิดว่านี่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอีกหรือไม่ ดังนั้นสาระสำคัญก็คือว่าจำเป็นจะต้องมีการกำหนดนิยามกันให้ชัด
นายเท่าพิภพกล่าวต่อถึงปัญหาขององค์ประกอบกรรมการว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ว่ามีปัญหาทั้งในเรื่องของการลงทะเบียนโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 20 ล้านคน 20 ล้านงาน ที่ตอนนี้ยังไม่มีการลงทะเบียน มีการของบประมาณจำนวน 5 พันกว่าล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแยกส่วนพบว่าอนุกรรมการว่าด้วยเทศกาลนั้นได้งบประมาณเยอะสุด การตั้ง Thacca (หน่วยงานยุทธศาสตร์ที่รวบรวมภารกิจและงบประมาณในการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์) ที่อาจทำให้เกิดความทับซ้อนของหน่วยงาน และยังมีปัญหาเนื่องจากการใช้งบในส่วนประชาสัมพันธ์เยอะเกินไปมาก ปัญหาว่าด้วยอนุกรรมการบางส่วนที่เป็นภาคเอกชนเยอะเกินไป แทนที่จะเป็นคนทำงานจริงๆเป็นต้น หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องการตั้งเป้าบางอย่างที่ไม่เหมาะสมเช่นซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารที่ตั้งเป้าไว้ 75,000 คน จาก 20 ล้านคน
“ผมดีใจมากที่เห็นว่ามีอนุกรรมการขับเคลื่อนเกี่ยวกับด้านเกม แต่พอดูว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยไหม ก็ปรากฏว่าเป็นสายโยธา มีการลงทุนสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งชาติ 120 ล้านบาท ผมถามว่าจริงๆแล้วคือเราจะมีนักกีฬาอีสปอร์ตที่เก่ง ก็สงสัยว่าการสร้างสนนามกีฬามันช่วยให้เราทําเกมได้ดีขึ้นตรงไหน อันนี้ผมว่ามันน่าจะช่วยออกแกไนเซอร์มากกว่า” นายเท่าพิภพกล่าว
“ผมขอเสนอไปยังรัฐบาลว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ต้องชัดเจน ต้องสร้าง Demand ไม่ใช่การจัดอีเวนต์ พร้อมขอฝากหลักการ 4 O คือ Open mind ที่ไม่แช่แข็งวัฒนธรรม Opportunity เพิ่มคณะกรรมการที่เป็นสัดส่วนแรงงานสร้างสรรค์เข้ามา, Open Data รัฐต้องรวบรวมดาต้า และ Off set สนับสนุนเพิ่มเติมในลักษณะกองทุน เพื่อส่งเสริมเฉพาะจุด ซึ่งผมเองเห็นความตั้งใจของการทำซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล แต่ยังล่าช้า และกังวลว่าอาจจะเป็นการเอื้อผลประโยชน์กับคนใดคนหนึ่ง” นายเท่าพิพภกล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ทางด้านของนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ตอบข้ออภิปรายของนายเท่าพิภพกล่าวยืนยันว่าเรื่องของ พ.ร.บ. Thacca นั้นกำลังมีการรับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ และส่งให้กฤษฎีกา ตามมาด้วยการส่งเรื่องสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ซึ่งเรื่องที่นายเท่าพิภพได้กล่าวมานั้นก็จะนำไปสู่คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้วยเช่นกัน ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการดำเนินการโดยรอบคอบ ป้องกันไม่ให้มีเรื่องของประโยชน์ทับซ้อน และได้มีการติดตามในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิด