สื่อจีนชี้เหตุ ทร.ไทยเปลี่ยนสัญญาจากเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำ ส่อทำเอกชนต่อเรือดำน้ำจีนเสียหายหนัก เพราะต่อเรือไปแล้ว 50% แต่ไม่ได้รับเงินที่เหลือ เผยในอนาคตควรรับเงินเต็มก่อนเริ่มทำงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือรบของกองทัพเรือไทยที่ถูกนำเสนอในสื่อจีน โดยเว็บไซต์ 163 รายงานข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการจัดหาเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำว่าทางประเทศไทยยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำแทน ในทางกลับกันประเทศไทยมีความเชื่อว่าเรือรบมีความเร่งด่วนและใช้งานได้จริงมากกว่าเรือดำน้ำ
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสัญญาของประเทศไทยนำปัญหาบางอย่างกลับมายังประเทศจีน โดยในสัญญาที่จัดทำร่วมกันของสองประเทศระบุว่ากองทัพเรือไทยจะจ่ายเงินแบบผ่อนชำระนาน 6 ปี รวมทั้งสิ้น 8 พันล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยไม่เต็มใจจะใช้แผนการชำระเงินดังกล่าว เมื่อวางแผนจะเปลี่ยนสัญญา
ขณะนี้บริษัทจีนชื่อว่า China Shipbuilding Industry Corporation (CSOC) เป็นฝ่ายที่จะต้องกังวลที่สุด เพราะบริษัทแห่งนี้ได้ลงนามในสัญญาสร้างเรือดําน้ำภายใต้ข้อตกลงระหว่างสองประเทศ ตามรายงานพบว่าเรือดำน้ำเสร็จสมบูรณ์ 50% แล้วหากไม่มีการลงเงินเพิ่มเติม การก่อสร้างเรือดำชั้นหยวน S26T ลำแรกของไทยก็จะถูกบังคับให้หยุดหรือปล่อยทิ้งไว้ไม่เสร็จแบบนั้น ซึ่งนี่จะเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่มากสำหรับบริษัทจีน โดยเฉพาะหากเงินที่บริษัทจีนได้รับมาไม่พอที่จะชดเชยความเร็วในการก่อสร้าง นี่จะทำให้บริษัทขาดทุน
ในระยะสั้นนี้การดำเนินงานของประเทศไทยทำให้จีนเห็นถึงความเสี่ยงด้านตลาดการค้าอาวุธ แม้ว่าไทยจะยังคงรักษาการค้าทางการทหารกับจีนไว้อยู่ แต่ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนสัญญาตามอำเภอใจเพราะปัญหาภายในของประเทศไทยเองคือสิ่งที่จีนต้องให้ความสนใจอย่างแน่นอน
ในอนาคต ถ้าหากยังคงมีการค้าทางทหารกันต่อไป ทางจีนเองก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทจีน ในแง่ของทั้งการทำตามสัญญาการส่งออกอาวุธและต้นทุนต่างๆ จีนต้องไม่ปล่อยให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงจากการผิดสัญญาของอีกฝ่าย หรือพูดโดยสรุปก็คือมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย ถ้าหากการทำงานควรจะเริ่มขึ้นหลักจากที่ได้รับเงินมาเรียบร้อยแล้ว
เรียบเรียงจาก:https://m.163.com/dy/article/IUE9ERVV05562BTO.html
*บทความนี้มาจากเว็บไซต์ 163.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัท NetEase, Inc. เป็นบริษัทเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของจีนที่ให้บริการคอนเทนท์ออนไลน์ โดยเนื้อหาบนเว็บไซต์จะต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศจีน