ศาลอาญาสั่งยกฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ 67 คน กรณีชุมนุมปิดสนามบินดอนเมือง ศาลชี้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ 'ปานเทพ' เผยศาลมองการชุมนุมไม่กระทบการบิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกสนามบินดอนเมือง หมายเลขดำ อ.1087 /56 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ,น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์,นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์,น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ โดยศาลพิพากษายกฟ้อง
กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พ.ย.- 3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรด้าร์ ของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของทอท. เสียหาย 627,080 บาทเพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำกลุ่มพันธมิตร เปิดเผยว่า วันนี้ศาลนัดจำเลยในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามบินเมื่อปี 2551 ซึ่งใช้เวลาการพิจารณาคดีตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุรวมแล้วเป็น 15 ปี การต่อสู้ในคดีรอบที่ผ่านมาแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยกลุ่มที่หนึ่งถูกพิพากษาไปแล้วในชั้นศาลอาญา แกนนำบางส่วนถูกปรับ 20,000 บาท ที่เหลือยกฟ้องในทุกข้อหา
"สำหรับชุดที่สองเป็นคดีที่ต่อเนื่องกันแต่เนื่องจากมีจำเลยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุทำให้ศาลแบ่งออกเป็นสองคดี ทางเราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลที่ต่อสู้มาในรอบหลายปีเพื่อมาสู่จุดนี้ว่า เราทั้งหมดไม่เคยหนี ไม่เคยขอร้องอภิสิทธิ์ใด และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม แต่ในชั้นพิจารณาคดีจนถึงในชั้นการพิพากษาแม้กระทั่งการอยู่ในเรือนจำ" นายปานเทพ กล่าว
@พธม.ไม่เคยได้อภิสิทธิ์
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนคดีพันธมิตรไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ เพิ่งจะมีเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.67) ที่อัยการไม่ฎีกาเป็นครั้งแรก ในกรณีของการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาศาลชั้นต้นอุทธรณ์ได้ยกฟ้องทั้งหมด ที่เหลืออุทธรณ์ฎีกาทั้งหมดไม่เคยได้รับอภิสิทธิ์ และมีหลายคนต้องถูกโทษจำคุกไปแล้วในคดีการชุมนุมที่หน้าสถานีโทรทัศน์ NBT รวมไปถึงการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล และทั้งหมดก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเราทั้งหมดไม่ได้รับการอภิสิทธิ์ ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตามกฎหมายทุกอย่าง
"อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์ให้กับใครแม้กระทั่งกับพวกเราเอง แต่อยากเรียกร้องให้คนที่รับอภิสิทธิ์ทั้งหลายได้รับโทษตามกฎหมาย ที่มาวันนี้ไม่เคยเรียกร้องอภิสิทธิ์ใด เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกคนเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม และชุดนี้เป็นชุดสุดท้ายในคดีของสนามบิน ซึ่งบางส่วนมีการฟ้องร้องกันยังไม่สิ้นสุดระหว่างการบินไทยมีการฟ้องร้องในคดีความแพ่งกับผู้ชุมนุมสนามบิน ส่วนคดี เรื่องของท่าอากาศยาน ฟ้องไปแล้วสิ้นสุดไปแล้วยึดทรัพย์บางส่วน แต่คดีนี้รอผลลัพธ์ทางคดีอาญาให้จบสิ้นก่อนเพราะมีการเรียกร้องในคดี ทั้งนี้ตนได้กล่าวทิ้งท้ายว่าวันนี้ต้องฟังคำพิพากษาก่อนว่าศาลจะว่าอย่างไร ถ้ามีผลเป็นลบต่อทางจำเลยทางเราต้องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ และถ้ามีผลเป็นบวกไม่มีใครถูกลงโทษจะต้องรอดูว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่ หากอัยการอุทธรณ์ทางเราก็จะยื่นคำร้องแก้อุทธรณ์เช่นเดียวกัน และคาดว่าไม่เกินกลางปีนี้จะรู้ผลทุกอย่าง" นายปานเทพ กล่าว
ด้าน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีต รมว. อุสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำของกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาในวันนี้ว่า จากคำตัดสินของชุดแรกก็รู้มีความมั่นใจว่าวันนี้ศาลจะตัดสินยกฟ้องเหมือนชุดแรก เพราะกลุ่มที่ 2 มีจำเลยทั้งหมด 67 คน ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มแนวร่วม ไม่ใช่กลุ่มแกนนำหลัก คาดว่าศาลน่าจะพิจารณาไปในทิศทางเดียวกัน แต่ส่วนคดีทางอาญาก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานเฉพาะบุคคล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรได้เดินทางมาที่ศาลอาญาในวันนี้ด้วยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับจำเลยชุดที่ 2 เนื่องจาก นายสนธิเป็นจำเลยในชุดแรก ที่ถูกพิจารณาคดีไปแล้วโดยการฟังคำพิพากษาวันนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษาเมื่อจำเลยทั้ง 67 คนมาครบจำนวน ส่วนผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ์โดยรายงานตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
@ยกฟ้อง เพราะชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าพวกจำเลย เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน อดีตเอกอัคราชทูต มาชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกอาญาองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรหลายคดี โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา
จากนั้นเวลา 11.30 น. ภายหลังการเข้าฟังคำพิพากษาโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ ว่า ในวันนี้ศาลอาญาพิจารณาประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น ความยาว 51 หน้า มีข้อเท็จจริงยุติ 10 หน้า โดยสรุปแล้ว
ประเด็นข้อหาการฟ้องซ้ำ ศาลเห็นว่าด้วยพฤติการณ์ บุคคล ข้อหาคดีที่เคยมีการฟ้องร้องก่อนหน้านี้และจำเลยหนึ่งราย ร้องเป็นการฟ้องซ้ำการลงโทษจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ศาลพิพากษาเห็นว่าพฤติการณ์ ข้อหา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและสถานที่ เป็นคนละสถานที่ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ และศาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา
ส่วนพฤติการณ์ของรัฐบาล เป็นพฤติการณ์ที่เป็นสาเหตุของการชุมนุม โดยศาลวิเคราะห์จึงการวิเคราะห์ตั้งแค่การก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเหตุในปี 2551 คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างความผิดคดียุพรรคพลังประชาชน ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง มีความพยายามแก้ไขมาตราใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกอำนาจการตรวจสอบของคตส. ในคดีทุจริตคอรัปชั่น โดยศาลเห็นว่าทั้งสองประเด็นนี้ เป็นประเด็นของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงการต่อต้านนำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกให้กับประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
นอกจากนั้นศาลยังได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น เป็นการชุมนุมภายใต้กรอบที่มีมีเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการชุมนุมจำเลยทั้ง 67 ราย ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง ศาลจึงเห็นว่าไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย การก่อกบฏ หรือก่อความวุ่นวาย
@พื้นที่ชุมนุมไม่กระทบการบิน
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนเรื่องท่าอากาศยาน ศาลได้มีการพิจารณาวิเคราะห์ จากหลักฐานทั้งหมดด้วยพยานฝ่ายโจทก์เอง พบว่าไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 67 คน ทำความผิดอย่างไรที่ก่อให้เกิดการขัดขวางท่าอากาศยานได้จริงในทางปฏิบัติ แม้แต่ดาวเทียม ซึ่งเป็นทีวีการถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถกระทบต่อสัญญาณการบินได้ และพื้นที่การชุมนุมไม่ได้กระทบต่อการบิน ดังนั้นด้วย พยานฝ่ายโจทก์ประกอบกับการที่พันธมิตรยุติการชุมนุมแล้วไม่เกิดความเสียหายสามารถดำเนินการบินและให้บริการได้ทันทีสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเสียหาย ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดในการขัดขวาง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบินและพื้นที่ชุมนุมไม่กระทบ หรือความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้น
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนการปะทะ ซึ่งอาจมีเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่น พยามเข้าพื้นที่บางส่วนของผู้ชุมนุม การขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการของจำเลย 67 คน แต่อาจการกระทบกระทั่งแต่เป็นวิถีของการเกิดขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การยั่วยุ ให้กระทำการรุนแรง ศาลพิจารณาจำเลยทั้ง 67 คน ล้วนมีเจตนาอย่างชัดเจน ว่าให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของภาครัฐในเวลานั้นทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอรัปชั่นทั้งนายทักษิณ ชินวัตรและพวกเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาจำนวนมาก รวมถึงศาลพิจารณาการกลับมาของนายทักษิณ ที่หลบหนีไป 15 ปี และการกลับมาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยข้อความว่าสำนึกผิด ยอมรับการกระทำความผิด
"แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีมูลเหตุของการเจตนารมย์เป็นเรื่องจริง ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เป็นไปด้วยประโยชน์ส่วนตัวแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม" นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย หลังศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธศาลยังได้พิจารณาพิจารณา เรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การออกพรก.ฉุกเฉิน ที่กระทำการลงไปเพื่อขัดขวาง งดเว้นสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรมโดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรฯ แม้กระทบต่อการบินบ้างแต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่าการกระทำความผิดพรก. ฉุกเฉินจึงไม่เข้าข่าย เพราะว่าได้รับการยืนยันว่าในเวลาต่อมา มีการหลบหนีคำพิพากษาของนายทักษิณ และการยอมรับความผิด แม้จำเลยจะกระทบต่อประชาชน ผู้ใช้สนามบินอยู่บ้าง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงไม่เป็นความผิดฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน
นายปานเทพ กล่าวว่า คำพิพากษาเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งตนสรุปเพียงใจความสำคัญบางส่วนเท่านั้น แต่ความงดงามและความครบถ้วนของเนื้อหาไม่สามารถจะตัดทอนได้จากคำพิพากษาชุดนี้ จนอาจจะบอกว่าเป็นการเยียวยาความรู้สึกของพวกเราในฐานะผู้ที่ถูกกระทำมา 17 ปี ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยโทษที่รุนแรง โทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือการก่อการร้าย ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นแค่พิธีกรเป็นประชาชน เป็นศิลปิน แต่คนที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ไม่เคยออกมาเรียกร้องหรือเห็นใจของการชุมนุมของพวกเรา แต่คำพิพากษานี้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเราที่ต่อสู้และเคารพขบวนการกระบวนการยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้จำเลยจำนวนมากที่มาฟังคำพิพากษา น้ำตาซึม และน้ำตาใหลออกมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรมจากการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน 17 ปี
เมื่อถามว่าถูกริดรอนสิทธิ์มานานกว่า 10 ปี หากอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ จะมีการฟ้องกลับหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่การประทับรับฟ้องจำเลยทั้งหมดใช้สิทธิ์ในการชุมนุมเท่านั้น แม้ไม่ใช่แกนนำแต่ถูกกวาดดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และพวกเขาเหล่านั้นสูญเสียอิสรภาพ ถูกตราหน้ามาตลอด 17 ปีว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ผู้ยึดสนามบินผู้ ก่อความไม่มั่นคงทำลายประเทศชาติ เมื่ออ่านคำพิพากษาและพิสูจน์ความจริง เราได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการสู้คดีและในคดีนี้แม้แต่ตนเองที่ไม่ใช่นักกฎหมายแต่ซักคัดค้านด้วยตนเองในสิ่งที่กระทบต่อตนเพื่อพิสูจน์ความจริง
"ดังนั้นพวกเราไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน เราต่อสู้ในทุกประเด็นที่เราสู้ได้ ซึ่งศาลพิพากษาในคดีนี้ นอกจากการตราหน้าแล้วเราสูญเสียการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องเสียเงินหลายแสนบาทเพื่อที่จะเดินออกไป ทั้งถูกบันทึกตลอดว่าพวกเราเป็นอาชญากร ทั้งที่พวกเราเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชนคำนึงถึงการต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง และการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาที่งดงามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา" นายปานเทพ กล่าว
ภาพปกข่าวจาก bbc.com/thai