‘ศาลปกครองสูงสุด’ สั่ง ‘กรมชลประทาน-รมว.เกษตรฯ’ ดำเนินการจัดทำ ‘EHIA-รับฟังความเห็นประชาชนฯ’ ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนเสนอ ‘ครม.’ เห็นชอบโครงการ ‘เขื่อนแม่วงก์’ อีกครั้ง
...................................
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศาลปกครองกลางได้อ่านผลแห่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อส. 2/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อส. 9/2567 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ 2 อธิบดีกรมชลประทาน ที่ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 4 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมชลประทาน) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ (รมว.เกษตรและสหกรณ์) ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (EHIA) และการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ครม.) เห็นชอบโครงการเขื่อนแม่วงก์
โดยศาลฯวินิจฉัยว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อยู่ในข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (รายงาน EHIA) ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550
และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ลงวันที่ 31 ส.ค.2553
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้เกิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้ ก็ต่อเมื่อโครงการดังกล่าวได้มีการจัดทำรายงาน EHIA จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถานอุดมศึกษาที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบ ก่อนมีการดำเนินโครงการดังกล่าว ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550
โดยเมื่อได้มีการจัดทำรายงาน EHIA แล้ว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวต้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการจัดให้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และต้องจัดส่งรายงาน EHIA พร้อมทั้งความเห็นของ คชก. และสรุปสาระสำคัญของมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ
เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวครบถ้วนแล้ว ต้องเสนอความเห็นของ คชก. ความเห็นขององค์การอิสระ และรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด กรมชลประทานได้มีหนังสือ ลงวันที่ 3 ต.ค.2560 ขอถอนรายงาน EHIA ออกจากการพิจารณาของ คชก. เพื่อที่จะดำเนินการตามมติของ คชก. ที่เห็นควรให้กรมชลประทานปรับปรุงแก้ไขและเสนอข้อมูลเพิ่มเติมในรายงาน EHIA จึงเป็นกรณีที่ คชก. ยังไม่เห็นชอบกับรายงาน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์
และยังไม่มีผลการพิจารณาของ คชก. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ 29 ธ.ค.2552 กำหนดไว้
ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ในส่วนของการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ ปัจจุบันไม่มีองค์การอิสระที่จะทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบก่อนแต่อย่างใด
@ย้อนปมพิพาทคดีสร้าง‘เขื่อนแม่วงก์’
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 151 คนฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเห็นชอบหรืออนุมัติหรืออนุญาตให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และหรือพิจารณานำข้อคัดค้านของผู้ฟ้องคดีหรือประชาชนไปดำเนินการหรือรับฟังข้อมูลผลกระทบต่างๆ อย่างรอบด้าน
อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (รายงาน EHIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)
แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวไปก่อน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 โดยยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ (1) เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 (2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินโครงการ โดยการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญฯปี 2550 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 และ (3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหรือดำเนินการตามมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 ประกอบมาตรา 85 และมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อน
ต่อมา ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า รายงาน EHIA ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คชก. ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่ารายงาน EHIA จะผ่านความเห็นชอบของ คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ และยังมีขั้นตอนที่ต้องส่งรายงาน EHIA ให้องค์การอิสระฯ พิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาอนุมัติต่อไปอีก
จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ดำเนินการตามขั้นตอนของมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนอนุมัติเปิดโครงการเขื่อนแม่วงก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
@กลับคำสั่งคดีประมูลจัดหาไฟฟ้าหมุนเวียน
ในวันเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คำร้องที่ 1541/2566 คำสั่งที่ 301/2567 ในคดีของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1803/2566 ระหว่าง บริษัท วินด์ ขอนแก่น 2 จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 1 และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ประเภทพลังงานลม ต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เสนอขาย 90 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) เร็วที่สุดภายในวันที่ 31 ธ.ค.2568 ช้าที่สุดภายในวันที่ 31 ธ.ค.2573 และเป็นผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่านในชั้นการพิจารณาอุทธรณ์
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 เห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย โดยไม่มีรายชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติและประกาศดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี
และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เม.ย.2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว และคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง สมควรมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งให้ทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี
และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เม.ย.2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือไม่
เห็นว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและประกาศพิพาท คงมีผลเป็นการชะลอหรือระงับการบังคับตามผลของมติและประกาศพิพาทไว้เป็นการชั่วคราว ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงเห็นว่าไม่สมควรมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตามมติและประกาศพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามข้อ 115 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543
ประเด็นที่สอง มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี
และทุเลาการบังคับตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เม.ย.2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือไม่
เห็นว่า การที่คณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมทางด้านเทคนิคและวิธีการคัดเลือก 5 ด้าน คือ (1) ความพร้อมด้านพื้นที่ (2) ความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม (3) ความพร้อมด้านเชื้อเพลิงหรือศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน (4) ความพร้อมด้านการเงิน (5) ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงานที่แสดงกรอบระยะเวลาการพัฒนาโครงการ โดยพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ยื่นมาพร้อมคำเสนอขายไฟฟ้าและเสนอรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
จากนั้นคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการพิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์คุณภาพ (Scoring) เรียงลำดับคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคจากมากไปหาน้อยและจัดลำดับจนกว่าจะครบตามกรอบปริมาณเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม โดยมีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสำหรับพลังงานลมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 22 ราย เป็นจำนวน 1,490.20 เมกะวัตต์
โดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการได้พิจารณาความพร้อมของผู้ฟ้องคดีพบว่า (1) ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ไม่มีความแน่นอนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และมีสัดส่วนพื้นที่ตามสิทธิการใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ระยะล้มของกังหันลมน้อย (2) ผู้ฟ้องคดีไม่แสดงเอกสารความพร้อมในการจัดหาหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) จากผู้ผลิตหรือเจ้าของเทคโนโลยี
(3) ผู้ฟ้องคดีมีสัดส่วนทุนจดทะเบียนต่อปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวมทุกโครงการภายใต้นิติบุคคลเดียวกันน้อยกว่า 5 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์น้อยกว่าร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ ผู้ฟ้องคดีอยู่ในลำดับที่ 33 จึงไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากปริมาณเสนอขายเกินเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือ
การดำเนินการของคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการจึงเป็นไปโดยชอบตามข้อ 11 และข้อ 16 ของระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติพิพาท และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีประกาศพิพาท จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อ 16 และข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าวเช่นกัน
อีกทั้งเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 30 วรรคสอง (3) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่จำต้องให้ผู้ฟ้องคดีได้ทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งก่อน ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่ามติและประกาศพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงไม่ครบเงื่อนไขทั้งสามประการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติและประกาศพิพาทให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยกคำขอของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ขอให้ระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์
และมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 17/2566 (ครั้งที่ 845) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี
และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เม.ย.2566 เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี