ศูนย์นิติศาสตร์ มธ.จัดเสวนาหาทางออกกรณีชาวบ้านถางป่าชายเลนทิ้ง เหตุจ่ายภาษีที่ดินไม่ไหว แนะทำ MOU ให้ภาครัฐนำที่ดินใช้ประโยชน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ (มธ.) ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จัดงานการเสวนา 'ป่าชายเลน ความสำคัญ และความท้าทายกับภาษีที่ดิน'
ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มาตรา 37 (4) กำหนดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อให้คนที่ถือที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์นำที่ดินมาใช้ประโยชน์ จากวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดปัญหากับพื้นที่บริเวณป่าชายเลน อีกทั้งมีประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนมาขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนจึงต้องถมพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อลดการจ่ายภาษีจำนวนมาก
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เรารู้กันว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำ แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือ ป่าชายเลนสามารถจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกถึง 4 เท่า โดยป่าชายเลนจะเป็นป่าชายเลนได้ต้องมีนิเวศน์ของป่าชายเลน จะนับเฉพาะป่าที่มีต้นโกงกางอย่างเดียวก็ไม่ได้ เมื่อพ.ร.บ.ภาษีที่ดินออกมาจึงทำให้เกิดปัญหากับพื้นที่ป่าชายเลน
"คำถามคือจะสักกี่คนที่จะเสียภาษีที่รกร้างเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน จึงจัดงานเสวนาเพื่อหาทางออก" นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ พิริยะโยธา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวว่า การกำหนดพื้นที่ป่าชายเลน จะต้องพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้
1. สภาพภูมิอากาศ
2. พื้นที่ที่มีน้ำขึ้นน้ำลงตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นพื้นที่น้ำขังจะเป็นป่าพรุ
3. ความเค็มของน้ำทะเล
"โดยป่าชายเลนในประเทศไทยมีประมาณ 74 ชนิด ถ้าหากมีการทำลายพื้นที่ป่าชายเลนจะทำให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ประโยชน์ของป่าชายเลน มีหลายอย่าง เช่น เป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ แหล่งผลิตอาหารของสัตว์น้ำ ที่อนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ เป็นต้น ในมุมมองของคนเก็บภาษีอาจจะมองว่าป่าชายเลนเป็นที่รกร้าง แต่ควรมองในด้านอื่น ๆ อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว
นายวิสูตร นวลศิริ ผู้แทนชุมชนริมคลองบางบ่อ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ คือ การกัดเซาะชายฝั่ง ประชาชนในชุมชนต้องรื้อบ้านหลายสิบหลัง แก้ปัญหาโดยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือ และใช้การปักไม้ไผ่เพื่อชะลอคลื่น และมีการปลูกป่าเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่ง
"เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินรกร้าง ผมรู้สึกเสียดาย หมายความว่า เราปักไม้ไผ่ป้องกันชายฝั่ง แต่ไม้ไผ่ไม่คงทนอยู่ได้ไม่กี่ปี แต่ถ้ามีป่าชายเลนก็จะป้องกันชายฝั่งได้ สัตว์น้ำมีที่อยู่อาศัย พอเรื่องภาษีออกมาคนในพื้นที่ก็ไม่ได้อยากตัดไม้ แต่เขาแบกรับภาษีไม่ไหว ไม่ใช่ว่าภาษีที่รกร้างไม่ดี แต่นิยามที่รกร้างที่ออกมา คนที่มีที่ดินเป็นพื้นที่ป่าชายเลนก็ได้รับผลกระทบ"
นางสาวดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ ทรัพยากรป่าชายเลน กล่าวว่า แนวคิดในการอนุรักษ์ป่าชายเลน พ.ร.บ.อนุรักษ์ป่าชายเลน มุ่งส่งเสริมอนุรักษ์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ประชาชนมุ่งมั่นในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน อีกทั้งเมื่อมีนโยบายคาร์บอนเครดิตจะทำให้มีการปลูกป่าชายเลนมากขึ้น และมีงบประมาณในการช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น จากแนวทางดังกล่าวตอนนี้กรมจัดตั้งป่าชายเลนชุมชนได้ประมาณ 100 แห่ง นอกจากนี้ป่าชายเลนยังทำประโยชน์อื่นได้อีก เช่น ในจังหวัดกระบี่ ช่วยอนุรักษ์ป่าชายเลนเนื่องจากเป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมลงชันโรง หรือ ในจังหวัดตรัง ชุมชนที่เป็นป่าชายเลน อนุรักษ์ไว้เพราะเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์สาหร่ายชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
"ตอนนี้กรมกำลังสำรวจและวางแผนว่าป่าชายเลนว่าตรงไหนเป็นพื้นที่อะไร จะทำอย่างไรจึงไปส่งเสริมให้ชาวบ้านอนุรักษ์ป่า กล่าวคือ แนวทางของกรม คือ ทำอย่างไรส่งเสริมให้ประชาชนอนุรักษ์พื้นที่ป่าโดยประชาชนใช้ประโยชน์ได้" นางสาวดาวรุ่ง กล่าว
นางสาวเอม เจริญทองตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี กองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ทางราชการที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินไม่ได้มีข้อกังขาในประโยชน์ของป่าชายเลนและป่าบก ทั้งนี้ผู้จัดเก็บภาษีของท้องถิ่นไม่ได้มีความประสงค์ร้ายในการทำลายป่า แต่ด้วยข้อกฎหมายของพ.ร.บ.ภาษีที่ดินระบุขอบเขตและเงื่อนไขไว้อย่างคลุมเครือ จึงมีการตีความพื้นป่าว่าเป็นที่รกร้าง เข้าใจว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมายต้องแก้ไข แต่ทางออกที่ทำได้ทันทีในการรักษาสภาพป่า คือ เอกชนสามารถทำ MOU ยินยอมให้จัดพื้นป่าไปใช้ประโยชน์กับทางราชการได้โดยไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ
"อีกทางออกหนึ่ง คือ มีหน่วยงานที่ให้การรับรองกับเราได้ว่า นี่คือพื้นที่นิเวศน์ ป่าชายเลน ถ้าเป็นเช่นนี้จะมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการยกเว้นภาษีพื้นที่ป่าชายเลนได้" นางสาวเอม กล่าว
นายชรินทร์ สัจจามั่น ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายการคลังและพัฒนารายได้ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ท้องถิ่นไม่ได้ต้องการรีดภาษีจากชาวบ้าน ทางออกที่ง่ายที่สุดให้นำที่ดินที่เป็นป่าชายเลนไปทำ MOU กับภาครัฐให้รัฐใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ ตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินมาตรา 8(8) จะไม่ต้องเสียภาษีที่ดินบริเวณที่เป็นป่าชายเลน วันนี้ความท้าทาย คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถ้าตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน ทำงานอย่างจริงจังและจริงใจกับประชาชน