‘เศรษฐา’ บอกยังไม่ว่างเจอ ‘ทักษิณ’ ที่พรรค มีภารกิจเยอะ ด้าน ‘สุริยะ’ ตอบรับไปเจอแน่ เล็งขอคำปรึกษาฟื้น ‘สุวรรณภูมิ’ ติดท็อปสนามบินโลกอีกครั้ง ‘ทวี’ ไม่กังวล ‘ทักษิณ’ เดินสายถี่ ชี้กรมประพฤติไม่ได้ห้าม มอง ‘ก้าวไกล’ อภิปรายประเด็นนี้ เนื้อหาคงเหมือนเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยวันนี้ (26 มี.ค. 67) โดยระบุว่า ไม่ได้เข้าเพราะเป็นเวลาราชการและมีภารกิจสำคัญ แต่หากจะเข้าต้องเข้านอกเวลาราชการ และช่วงเย็น มีภารกิจต้องไปชมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติเกาหลีใต้ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้มี ครม. แจ้งลาการประชุม ประกอบด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รมช.คลัง และ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ
@ขอคำปรึกษา ‘แม้ว’ ฟื้นสุวรรณภูมิติดอันดับโลก
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายนี้ จะเข้าไปที่ทำการพรรคเพื่อไทยแน่นอน และทราบว่า สส. จำนวนมากจะเข้าไปยังพรรคเพื่อไทย และคงมากกว่าทุกๆครั้ง เพราะทั้งสส. อดีตสส. และผู้สมัครสส.พรรคเพื่อไทย อยากต้อนรับนายทักษิณด้วยความอบอุ่นเพราะถือเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของพรรค
“ผมเคยทำงานร่วมกับนายทักษิณตั้งแต่สมัยพรรคไทยทักไทย ในสมัยที่นายทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค และผมเป็นเลขาธิการพรรค นายทักษิณได้ให้นโยบายต่างๆ ทำให้กระทรวงคมนาคมมีผลงานที่โดดเด่น เช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่เสร็จตามกำหนดเวลา และกลายเป็นสนามบินอันดับต้นๆของโลก ผมจึงคิดว่าหากมีโอกาส ในส่วนของกระทรวงคมนาคมก็จะขอคำปรึกษาจากท่านว่าจถทำอย่างไร ในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับมาติดอันดับโลก” นายสุริยะระบุ
เมื่อถามว่า คิดว่านายทักษิณกลับมาจะทำให้ พรรคเพื่อไทยยิ่งใหญ่เหมือนเหมือนยุคพรรคไทยรักไทยหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า คิดว่าสิ่งที่นายทักษิณทำประชาชนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยอาจไม่ทราบถึงผลสำเร็จที่ท่านเคยทำ แต่ผู้สื่อข่าวคงจำได้ว่านายทักษิณเคยชำระหนี้ไอเอ็มเอฟในยุควิกฤตต้มยำกุ้งได้ก่อนเวลา ซึ่งถือเป็นผลงานที่จับต้องได้ ประสบการณ์เหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องเรียนรู้และนำมาปรับใช้
เมื่อถามว่า ในการไปพรรคเพื่อไทยในวันนี้ของนายทักษิณจะทำให้สส.มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้นหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า แน่นอน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ถ้านายทักษิณเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยคงไม่มีโอกาสได้เจอ จะไปเจอกันได้อย่างไร และที่ผ่านมายังไม่มีโอกาสได้เจอนายทักษิณแต่เชื่อว่าในอนาคตได้เจออย่างแน่นอน
พร้อมถามกลับสื่อมวลชน ว่า ”จะไม่เจอกันได้อย่างไร จะไม่เจอกันทั้งชาติเลยหรือ เขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพ“
ขณะที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เท่าที่รับทราบวันที่ 28 มี.ค. 67 จะมีกระทู้ถามสดของพรรคก้าวไกล ก็คงจะถามเหมือน สว. รวมถึงกระทู้เรื่องยาเสพติด ส่วนการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติของฝ่ายค้าน คงเป็นการอภิปรายคล้ายกับ สว. แต่อาจจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า
@ทักษิณไปไหนก็ได้ กรมคุมประพฤติไม่ได้ห้าม
เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของนายทักษิณที่ไปพรรคเพื่อไทย จะส่งผลต่อการอภิปรายอย่างไร พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปกติดูแค่หลักเกณฑ์ของการคุมประพฤติ การพักโทษก็อยู่ในเรื่องของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีเรื่องของการบริหารโทษ เช่น การพักโทษ หรือการใช้ที่คุมขังอื่น ในกฎหมายราชทัณฑ์และกฎกระทรวง มองว่าโรงพยาบาลเป็นที่คุมขังหนึ่ง เพราะนักโทษเฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 คน เมื่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาล 1-2 วัน หรือ 30 วัน เราก็หักจากวันต้องโทษ ดังนั้นเป็นนิยามหนึ่ง ซึ่งถ้าถามนักโทษว่าอยากอยู่โรงพยาบาลหรือเรือนจำ นักโทษอยากอยู่เรือนจำมากกว่า เพราะอยู่โรงพยาบาลสภาพก็ลำบาก
ส่วนความเคลื่อนไหวอย่างอื่นในเรื่องการคุมประพฤติ ก็จะมีข้อห้ามไปมั่วสุมกับยาเสพติด ห้ามไปเยี่ยมนักโทษด้วยกัน ถือเป็นการปฏิบัติตามปกติของประชาชน ส่วนเรื่องอื่นๆก็มีสิทธิเสรีภาพทั้งหมด เป็นหน้าที่ของกรมคุมประพฤติที่เป็นผู้ดูแล
เมื่อถามย้ำว่า การไปพรรคเพื่อไทยไม่มีข้อห้ามใช่หรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า มีแค่กรมคุมประพฤติให้มารายงานตัว ส่วนจะไปไหน พบใคร ในกฎกระทรวงไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมือง
@ย้ำกฎระเบียบต่างๆ ออกสมัย สนช. รัฐต้องปฏิบัติตาม
ผู้สื่อข่าวจึงถามอีกว่า ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ มีการตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี ชี้แจงว่า กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้รัฐต้องปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมาย ถ้าทำนอกกฎหมายก็ถือว่าทำตามอำเภอใจ เพราะในกฎหมายจะมีกฎระเบียบ อย่างที่พูด การถูกกฎหมายจะต้องมีการพัฒนากฎหมายในบางช่วงออกมาก่อน แต่สถานการณ์ปัจจุบันเกิดขึ้นใหม่ กฎหมายก็จะมีการพัฒนา และการแก้ไข อย่างเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ ถ้าดูตามข้อเท็จจริง กฎหมายฉบับนี้เข้า สนช. ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งออกมาเป็นกฎหมายราชทัณฑ์ปี 2560 ซึ่งผู้ร่างก็เป็น สนช.ทั้งหมด ที่สำคัญกฎกระทรวง เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เอากฎหมายลูกใส่ให้ สนช. ร่างด้วย ต่อมาภายหลัง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น ได้ออกกฎกระทรวง ซึ่งถ้าออกเป็นแพ็คเกจใหม่ จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานลำบาก จึงแยกออกเป็น การรักษาพยาบาล การไปที่คุมขังอื่น หรือ การพักโทษ ก็จะแบ่งเป็นตอน แต่ทั้งหมดนี้ถูกร่างโดย สนช.อยู่แล้ว
และวันนี้เมื่อเป็นกฎหมายที่เกิดมาในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็มาปฏิบัติตาม ซึ่งกฎหมายของกรมราชทัณฑ์หากดูให้ดี กรมราชทัณฑ์แทบมีไม่อำนาจเลย เช่น การพักโทษ ก็เขียนให้มีคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยคณะกรรมการก็จะมีปลัดกระทรวงยุติธรรม มีข้าราชการอื่นจากหลายหน่วยงาน รวมถึงมาจากศาลยุติธรรมด้วย ก็อยากเรียนว่าถ้าเรายอมรับกติกา ว่ารัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัตินอกกฎหมายถือว่าไม่ใช่หลักนิติธรรม
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้ ที่กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ จะเตือน นายทักษิณ ให้เคลื่อนไหวน้อยลง เพราะกระแสสังคมจับตาอยู่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่กระทรวงยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปกำหนดในเรื่องส่วนตัว นอกจากดำเนินภารกิจตามหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ
@ไม่หนักใจ ‘ทักษิณ’ เคลื่อนไหว ทำ ‘ยุติธรรม’ ถูกวิจารณ์
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีนักการเมืองได้รับการพักโทษ และเคลื่อนไหวในลักษณะนี้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คนพักโทษปีละเป็นหมื่น แต่อาจจะไม่มีสื่อมวลชนไปตามไปแบบนี้ แต่นายทักษิณก็ยังรายงานตัวตามปกติ เพราะจากรายงานเมื่อคืนที่เขาส่งมา นายทักษิณก็มารายงานตัวที่กรมคุมประพฤติ และปฏิบัติตามตามเงื่อนไขการพักโทษทุกอย่าง
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ ที่นายทักษิณ เคลื่อนไหวไปหลายพื้นที่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมถูกวิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อยากให้แยกส่วนกับการทำงานของกระทรวงยุติธรรม และตนก็ไม่ได้หนักใจ เมื่อวานนี้ก็ครบรอบ 133 ปี กระทรวงยุติธรรม สิ่งที่เราจะมุ่งมั่นคือการลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ทุกคนได้รับความยุติธรรมทั่วหน้าให้ได้ ซึ่งนิยามคำว่าความยุติธรรม อาจเป็นนามธรรมเกินไปสำหรับบางคน แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ ซึ่งขณะนี้เราต้องทำตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม เราก็ควรมีการแก้ไข โดยผ่านสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 ออกโดย สนช. ซึ่งเป็นสภาหนึ่ง โดย สว. บางคนที่นั่งอยู่ในสภาเมื่อวานนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ร่างกฎหมายนั้นเช่นกัน