สภาฯอภิปรายงบ ‘มหาดไทย’ 2.9 แสนล้านบาท ‘ก้าวไกล’ ลุกอภิปราย ขอตัดงบยิบทั้งส่วนผังเมือง-ซื้อเฮลิคอปเตอร์-จัดซื้อจัดจ้างสินค้านวัตกรรม-เขื่อนกันคลื่น ด้าน ‘เรืองไกร’ ขอตัดงบสร้างมหาดไทยใหม่ ก่อนลงท้าย ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ โต้เถียงปมสร้างฝายกันดิน ปิดท้ายโหวตผ่านด้วยคะแนน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ประชุสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 ในวันที่สอง ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 290,098,048,900บาท จากที่เสนอมา 291,535,042,000บาท มีสส.ให้ความสนใจอภิปรายจำนวนมาก
@ประเดิมขอตัดงบผังเมือง
นายณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส. เขตประเวศ สะพานสูง กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ได้เสนอขอตัดงบประมาณกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1,583.65 ล้านบาท จากผังพื้นที่เฉพาะ 145 ล้านบาท และโครงการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง 1,438.65 ล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ตามผังเมืองมีงบประมาณรวม 7,243 ล้านบาท โดย 85% หรือ 6,174 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผูกพันงบประมาณยาว 3-4 ปี โดยส่วนที่ให้ตัดคือโครงการผูกพันใหม่จำนวน 92 โครงการ วงเงิน 1,439 ล้านบาท สาเหตุที่ขอปรับลดเนื่องจากไม่ได้บอกว่า เอาไปทำอะไร ก่อสร้างประเภทไหน บอกแค่ว่า จะเอาไปพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นตรงนี้ เมื่อถามกับกรมโยธิการและผังเมือง และได้ขอเอกสารไป กว่าจะได้คือวันสุดท้ายของการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการคือ 13 มี.ค. 67 และตอบแบบไม่ได้ตอบ
“ในเอกสารชี้แจงก็ตอบแบบไม่ได้ตอบ ในสิ่งที่ถามว่างบประมาณต่างๆเหล่านี้เอาไปทำอะไร เอาไปก่อสร้างหรือปรับปรุงส่วนเท่าไหร่ หรือทำถนนเท่าไหร่ หรือปรับปรุงอาคารหรือไม่ กลายเป็นมาชี้แจงว่าได้แยกงบประมาณออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ ก้อนแรกปรับปรุงภูมิทัศน์ ก้อนที่ 2 ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งก่อตั้งประกอบ แล้วก็ก้อนที่ 3 สิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ แล้วจะทราบหรือไม่ว่าสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มันคืออะไรและการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นการปรับปรุงตรงไหนอย่างไร ซึ่งการชี้แจงไม่ได้รับความชัดเจนและไม่ได้ทราบว่ามีการดำเนินการอย่างไรต่อ” สส.ก้าวไกลระบุ
นายณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า และเมื่อได้ลงพื้นที่เพื่อไปดูงานก่อสร้างตามที่กล่าวอ้าง เช่นโครงการก่อสร้างซุ้มประตูที่จังหวัดอุดรธานีวงเงิน 40 ล้านบาทก็ต้องบอกว่าโครงการนี้ สิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับแบบที่วางไว้ เพราะปัจจุบันยังมีแค่เสา ซึ่งเกิดจากการก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าแผนถึง 66% โดยมีการโต้เถียงกันถึงการส่งมอบพื้นที่ที่ยังไม่เรียบร้อย และถ้าหากดูหน้างานจริงๆนั้น การที่จะเชื่อมกันทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่เกิดขึ้น อีกทั้งทั้งสองฝั่งที่จะเชื่อมกันนั้นก็เป็นค่ายทหารทั้งสองฝั่ง มีแต่กำแพงไม่มีคนมาเดิน
นอกจากปัญหาการก่อสร้างล่าช้าแล้ว ยังมีโครงการที่ถูกทิ้งร้างทั้งสวนสาธารณะและอาคารต่างๆ กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและเป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุข สาเหตุที่เกิดขึ้นก็มาจากการที่ไม่สามารถส่งมอบให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารจึงทำให้ไม่ได้มีการรับงานเข้าไปดูแล
@ขอตัดงบเขื่อนกันคลื่น
ด้านนายนิติพล ผิวเหมาะ สส.ก้าวไกล อภิปรายตัดงบประมาณกระทรวงมหาดไทย 29 ล้านบาท ที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นตามชายหาดของประเทศไทย โดยยกตัวอย่าง เขื่อนป้องกันตลิ่งชายหาดมหาราช จ.สงขลา ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งระงับการก่อสร้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ยังดันทุรังก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 โครงการ วงเงิน 29 ล้านบาทที่จะก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก และทั้ง 6 โครงการไม่มีรายละเอียดจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งได้ขอข้อมูลไปเมื่อ 13 ก.พ. 2567 ใช้เวลา 1 เดือนจึงส่งข้อมูลมาให้ จึงไม่ทันกับการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการที่มีการสรุปข้อมูลในวันที่ 13 มี.ค. 67 ไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องมาเสนอขอตัดงบประมาณในการพิจารณาวาระสองและสามครั้งนี้
@เรืองไกร ชงปรับลด งบสร้าง ‘มหาดไทยใหม่’
ต่อมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ อภิปรายว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เสนอขอปรับลด 245 ล้านบาท เนื่องจากตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร.0505/21285 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2566 เป็นหนังสือที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมปรึกษาและลงมติตามความเห็นสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 โดยทำเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อ้างถึงหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 26 ก.ย. 66
หนังสือดังกล่าวคือการขอก่อหนี้ผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปีงบประมาณ สำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 โดยเป็นโครงการของสำนักปลัดกระทรวง 1 โครงการ, การประปาส่วนภูมิภาค 1 โครงการ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 โครงการ ในส่วนของสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย คือ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 วงเงิน 3,344 ล้านบาท ผูกพันปี 2567-2570 และสำนักงบประมาณมีความเห็นไปในทางเห็นด้วย แต่มีข้อเสนอแนะว่า ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยมีคุณลักษณะเฉพาะ ประมาณการ หรือผลการสอบราคา รายละเอียดแบบหรือรูปแบบรายการ ประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง 2561 และจัดลำดับความสำคัญไว้ด้วย
ข้อสังเกตคือ เมื่อช่วงวันที่ 20 ก.พ. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจโครงการนี้บอกว่า ความคืบหน้าประมาณ 28.54% จึงไม่ทราบว่า ได้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณหรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 และมติครม.หรือไม่ จึงมีความเห็นให้ตัดงบ 245 ล้านบาทดังกล่าว
@เสนอตัดงบซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิง
นายอิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น พรรคก้าวไกล เสนอขอปรับลดงบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 142.35 ล้านบาท โดยเป็นงบจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงรุ่น KA32 วงเงิน 949 ล้านบาท โดยผูกพันงบปี 2567-2568 จาก 2 เหตุผลคือ 1. เป็นภาระงบประมาณและไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันกรม ปภ.ก็มีเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 4 ลำ แต่ที่ผ่านมา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 ใช้เพียง 25 ภารกิจ เฉลี่ยปีละ 5 ครั้งเท่านั้น และใช้ในการดับเพลิงจากไฟป่าเพียง 20 ครั้ง ส่วนภารกิจครั้งล่าสุด คือ การเอามาโชว์ให้นายกรัฐมนตรีดู
2. มีราคาแพงเกินไป เพราะในการจัดซื้อ 4 ลำที่ผ่านมาก็มีราคาซื้อที่ต่างกัน โดยต่างประเทศซื้อในราคาลำละ 500 ล้านบาท ราคานี้รวมอุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์จำเป็นแล้ว แต่ ปภ.จัดซื้อในราคา 949 ล้านบาท 3. การปฏิบัติภารกิจไม่ทันท่วงที ไม่เคยใช้ในการดับเพลิงอาคารสูงเลนยสักครั้ง และทั้ง 4 ลำไม่มีที่จอดของตัวเอง ต้องไปจอดที่ศูนย์กลางการบิน กองทัพบก จ.ลพบุรี และไม่มีนักบินกับช่างเครื่องด้วย ต้องใช้คนจากกองทัพบกมาช่วย และการบินจาก จ.ลพบุรีมากรุงเทพฯ ใช้เวลา 45 นาที โดยการขึ้นบินแต่ละครั้งจะอยู่ได้ 2.45 ชม. 4. การดับไฟป่าไม่ใช่ภารกิจของ ปภ. ภารกิจดับไฟป่าเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งประสานกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ ที่มีเครื่องบินและอุปกรณ์พร้อมมากว่าปภ. จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรซื้อเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเติม
@ตัดงบ กรมส่งเสริมการปกครอง เหตุสินค้านวัตกรรม
ด้านนางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายขอตัดงบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบุว่า โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ของบมา 1,982 ล้านบาท ได้สอบถามในที่ประชุม แต่ได้ข้อมูลมาไม่สมเหตุผล โดยไส้ในโครงการ 80% คือการติดไฟและระบุใช้บัญชีนวัตกรรม
ปัญหาของการระบุถึงการให้ใช้ผลิตภัณฑ์ตามบัญชีนวัตกรรม เดิมทีไว้ใช้ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย โดยใช้กลไกจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและให้สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการไทยและยกระดับสินค้าในการต่อสู้กับสินค้าต่างประเทศ ซึ่งสิทธิพิเศษ เช่น หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้านวัตกรรมด้วยวิธีพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงได้โดยไม่ต้องประกวดราคา นำไปสู่ช่องโหว่ในการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใส และสินค้านวัตกรรมบางรายการมีผู้แทนจำหน่ายไม่กี่ราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางราคาและเทคนิค จนไปสู่การไม่สามารถแข่งขันในตลาดจริงได้
นอกจากนี้ หน่วยงานอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีข้อท้วงติงว่า การจัดซื้อไม่คุ้มคค่า ไม่เกิดผลสำเร็จตามที่วางไว้ เช่น โครงการจัดซื้อเครื่องแปลงขยะเศษอาหารโดยจุลินทรีย์ จ.อำนาจเจริญ, โครงการจัดซื้อเครื่องผลิตระบบน้ำประปา จ.กระบี่, โครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงคุณภาพน้ำ จ.บึงกาฬ เป็นต้น ทั้งหมด พบเป็นเจ้าของเจ้าเดียวกัน เป็นทั้งผู้ขึ้นทะเบียนและตัวแทนจำหน่าย
คำถามคือใครจะรับผิดชอบที่ปล่อยให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้านวัตกรรมที่ไม่คุ้มค่าและเสี่ยงต่อการทุจริตนี้
@’เพื่อไทย - ก้าวไกล’ โต้เถียงปมสร้างฝาย
หลังจากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่การถกเถียงถึงการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ โดยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ที่มีพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาว่า ฝายไม่มีความคงทน ไม่มีความจำเป็น และอาจก่อให้เกิดการทุจริตจากฝ่ายการเมืองได้นั้น ยืนยันว่า งบประมาณที่ขอเพื่อใช้ก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นงบประมาณจำนวนไม่มาก และมีความแข็งแรงคงทนแน่นอน
ทำให้นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) สงวนความเห็นว่า จากที่มีสมาชิกหลายคนตั้งคําถามการตัดงบประมานฝายแกนดินซีเมนต์ ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาและติดตามการจัดทํางบจึงอยากอธิบายว่าการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ในบางแห่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ทําหนังสือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งคําของบสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กว่า 7,000 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.66 แต่สํานักงบประมานตัดเหลือ 4,000 แห่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน 1 เดือน จึงอยากทราบว่ากระบวนการที่รวบรัดเช่นนี้ ฝายแกนดินทั้งหมดมีความเหมาะสมในการสร้างทุกแห่งหรือไม่
เมื่อกมธ.ศึกษาและติดตามการจัดทํางบได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สถ. สํานักงบประมาน ก็ไม่มีหน่วยงานใดยืนยันได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีความเหมาะสมในการสร้าง อีกทั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังระบุว่าฝายไม่ได้มีหน้าที่กักเก็บนํ้า แต่มีหน้าที่ยกระดับนํ้า และหากสร้างแล้วอาจเป็นการทําลายแหล่งนํ้า
“ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่มีความคิดไปตัดงบให้ประชาชนเดือดร้อน แต่กระบวนการเร่งรัดตั้งงบเป็นสิ่งที่ผิด จะปล่อยผ่านได้อย่างไร นอกจากนี้ ยืนยันว่า กมธ.งบตัดส่วนนี้เพราะเสียงข้างมาก ดังนั้น การกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลตัดงบโดยอคติและความไม่รู้จึงไม่ยุติธรรม มองว่าหากชะลอโครงการนี้บางแห่งในปีนี้ ไม่เป็นการเสียหาย” นายณัฐพงษ์กล่าว
หลังจากนั้น มีการโหวตลงมติ โดยสมาชิกโหวตผ่านตามที่กมธ.เสนอ 427 ต่อ 1 เสียง และโหวตตามที่กมธ.เสียงข้างมากแก้ไข 270 ต่อ 157 เสียง