นายกฯรับหนักใจเซ็นย้าย 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก' เข้าทำเนียบ แต่ต้องทำเพื่อให้ ตร.เดินหน้าไปได้ ย้ำชัดทั้ง 2 คนยังบริสุทธิ์- โชว์คำสั่งตั้งปลัดฉิ่งคุม กก.สอบข้อเท็จจริงความขัดแย้ง ตร. ด้าน 'บิ๊กโจ๊ก' แจงพร้อมรับทุกสถานการณ์ ส่วน 'บิ๊กต่อ' แจงเหตุย้ายเพื่อให้การสอบเป็นไปอย่างยุติธรรม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังให้ได้แถลงถึงกรณีที่มีคำสั่งเมื่อช่วงบ่ายให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผบ. ตร.ทำหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. โดยลงนามคำสั่งเมื่อบ่ายวันนี้ (20 มี.ค.) นั้น
โดยนายเศรษฐากล่าวยอมรับว่าการเซ็นคำสั่งดังกล่าวมีความลำบากใจ และไม่สบายใจที่จะทำแบบนี้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินไปข้างหน้าได้ ต้องให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปได้ด้วยความเป็นธรรม และไม่มีการแทรกแซง จริง ๆ ขอย้ำว่า ทั้งสองยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ให้เข้ามาช่วยราชการเป็นการชั่วคราว ไม่ได้เป็นการลงโทษ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งในวันนี้มีการออกจดหมายสองฉบับ คือให้ทั้งสองมาช่วยงานที่สำนักนายกฯ เป็นการชั่วคราว 60 วัน และอีกฉบับคือให้พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรักษาการ ผบ.ตร. พร้อมตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3 ท่าน เป็นตำรวจ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและมาจากสำนักอัยการ
อย่างไรก็ตาม ในการเรียกพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาพบช่วงเที่ยงที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และพูดคุยกันว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงที่ถูกโอนมาปฎิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และก็ได้มีการรับปากว่าจะไม่ยุ่ง ปล่อยให้เป็นกระบวนการตามกฎหมาย ให้มีการสืบทราบความจริง ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปข้างหน้าได้ โดยไม่มีการแทรกแซง และไม่ให้ลูกน้องของทั้งสองออกมาพูดอะไรอีกแล้ว หากภายใน 60 วัน คณะกรรมการทั้ง 3 ท่านตรวจสอบมาแล้ว และอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่หากพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินไปได้ โดยที่ไม่ต้องมีการก้าวก่าย หรือแทรกแซง ก็จะพิจารณาโอนย้ายกลับมาได้ และขอให้เวลาคณะทำงาน ซึ่งเป็นในทุกเรื่องคดีที่มีการกล่าวโทษกัน
“ผมไม่ได้มีธงว่าต้องตัดสินออกมาเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่องของการทำงานกับสำนักงานตำรวจตำรวจแห่งชาติ เรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แถวสองแถวสาม ที่อาจเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะฉะนั้น การที่เอาคู่ขัดแย้งไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ ก่อน ทุกท่านจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ จุดโฟกัสสำคัญที่สุดคือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ส่วนในวันพรุ่งนี้ตนเองจะเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะมีการเรียกประชุมกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วย ผู้บัญชาการภาค และผู้บัญชาการทั้งหลาย เพื่อมอบนโยบาย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ระบุ อีกว่า หลังจากออกหนังสือตั้งคณะกรรมการฯแล้ว จะเรียกประชุมคณะกรรมการฯ ทันทีว่าจะให้แต่ละท่านทำอย่างไร ไม่อยากให้มีการชี้นำว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองท่าน
สำหรับ 3 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่นายกฯแต่งตั้ง ประกอบด้วย
1. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
2. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด
3. พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ
มีรายงานด้วยว่า นายเศรษฐา มอบหมายให้คณะกรรมการชุดนี้สอบข้อเท็จจริงให้ได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือน เพื่อพิจารณาว่า จะย้ายนายตำรวจทั้งสองกลับมาทำงานตามปกติหรือไม่ หรือจะให้ช่วยราชการสำนักนายกฯต่อไป
สำหหรับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ถึงกรณีที่นายเศรษฐามีคำสั่งให้ตนและพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาการเเทน
โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเพิ่งทราบจากข่าวเมื่อไม่นานนี้ โดยได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว และคาดว่าเป็นเรื่องจริง เนื่องจากเห็นกระแสข่าวจากหลายแห่ง และทราบว่าโฆษกรัฐบาลได้แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นเนื้อหาว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่อะไร คาดว่าจะมีความชัดเจนในเย็นวันนี้ แต่ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งมาก็พร้อมปฏิบัติหน้าที่ และหากหนังสือคำสั่งดังกล่าวมีผลทันที วันพรุ่งนี้ (21 มี.ค.) ตนเอง และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เนื่องจากถือว่าต้องไปช่วยราชการแล้ว
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ตนและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังไม่ทราบว่าการย้ายมาจากเหตุผลใด ต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่จะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างตนเองกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือไม่นั้นก็ไม่ยืนยัน เนื่องจากการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตนเอง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็ไม่เห็นสัญญาณบ่งชี้ใดๆ นายกรัฐมนตรีกำชับเพียงเรื่องการทำงาน ขณะที่การพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อคืนวานนี้ก็เป็นไปโดยปกติ ส่วนการสั่งย้ายคู่จะเป็นการมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งหรือไม่นั้น โดยวันที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ก็ได้แถลงแล้ว และตั้งแต่มีคำสั่งมาก็ยังไม่ได้คุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพราะประชุมมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่จะได้กลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา พร้อมยืนยันว่าไม่ถือว่าการไปทำงานที่ จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะตนเองไปทำงานรักษาความปลอดภัยให้นายกฯและงานก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี ยืนยันว่าไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพราะตนเองเคยไปมาแล้ว และแม้ว่าอยู่ที่ไหนตัวเองก็ต้องตั้งใจทำงาน ผมไม่กังวลใจ ไม่เป็นไร พร้อมทุกสถานการณ์
ต่อมาเวลา 15.50 น. ด้าน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า เห็นคำสั่งดังกล่าวเเล้วโดยมีผลตั้งเเต่วันนี้ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ตนและพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เข้าไปพูดคุยกับนายกฯก็ไม่ได้มีสัญญาณอะไรในทิศทางที่เป็นลบ ซึ่งเนื้อหาคร่าวๆของคำสั่งคือ เนื่องจากตนไม่สามารถบริหารความขัดแย้งได้ จึงต้องมอบหมายให้ผู้ไม่มีส่วนได้เสียมาเป็นรักษาการณ์ ผบ.ตร.แทน เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างยุติธรรม ถึงแม้ตนก็ยังคงเป็น ผบ.ตร.อยู่ แต่พรุ่งนี้(21 มี.ค.)จะไม่ได้มาร่วมประชุมข้าราชการตำรวจระดับผู้บัญชาการทั่วประเทศมาให้นโยบายในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะตนมีภารกิจตามรับเสด็จ
เมื่อถามว่านี้เป็นครั้งแรกที่มีการย้าย ผบ.ตร.และ รอง ผบ.ตร.พร้อมกัน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าว ว่าสบายใจมากเพราะถือว่าตนได้พักสมอง โดยตนได้เป็น ผบ.ตร.คนที่ 14 แล้ว หากตนบริหารงานไม่ผ่านก็ต้องพิจารณาตัวเอง ตนไม่ได้เป็นทุกข์อะไร ไม่ท้อไม่หวั่นไหว จะให้ตนไปอยู่จนปลดเกษียณที่ไหนก็ทำงานได้ ท้ายสุดต้องฝากไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาว่า หน้าที่ของท่านคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ถึงเวลาก็ต้องไป และทุกอย่างนี้ก็ไม่ใช่ของตัวเอง โดยสำหรับคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นหน้าที่ของ พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ที่จะรับหน้าที่รักษาการณ์ ผบ.ตร.