สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ปรับลดมาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง ด้าน 'ศิริกัญญา ตันสกุล' จวกรัฐบาลพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ ไม่ถอดบทเรียนจากรัฐบาลที่ผ่านมาจัดทำงบฯให้ดีกว่าเดิม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3 ในการพิจารณามาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบกลางให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการมีงบกลาง โดยปีนี้พบว่ารัฐบาลไม่ได้จัดสรรเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ และค่ารักษาพยาบาลของบุคลากรภาครัฐไว้อย่างเพียงพอ ซึ่งถือว่าพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่ตั้งงบไว้ขาดเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ปี 2566 มีการเบิกจ่ายเกือบ 360,000 ล้านบาท แต่ปี 2567 ตั้งไว้ที่ 330,000 ล้านบาท ขาดงบประมาณไปประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นต้น เรื่องนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นความจริงในการตั้งงบประมาณขาด แต่จะขาดเท่าไรขึ้นอยู่กับการประมาณการ
"สาเหตุที่ต้องตัดงบประมาณเพราะรัฐบาลไม่ได้มีการถอดบทเรียนจากรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อปรับปรุงการจัดทำงบกลางส่วนนี้ให้ดีขึ้น และคาดหวังว่าจะไปใช้เงินสำรองฉุกเฉินจำเป็นแทน ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการใช้เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เราไม่ต้องใช้เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อไปทำมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใดแล้วใช่หรือไม่ วัตถุประสงค์ของงบกลางไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ใช้อุดช่องโหว่ในการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ดังนั้นงบประมาณฉุกเฉินควรจะต้องใช้เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่รัฐบาลตั้งใจตั้งงบขาดแล้วจะมาใช้เงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็น จึงเสนอให้ตัดลดงบกลางเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นลง 3 หมื่นล้านบาท
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมาธิการจากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า มาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลางปีนี้มีการตั้งงบกลางไว้ 665,700 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยหวัด ค่ารักษาพยาบาลราชการ ลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำ เห็นว่าควรแยกส่วนต่างหากไม่ควรนำมารวมไว้ในงบกลางให้เข้าใจสับสนว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ทั้งที่เป็นงบที่ต้องจ่ายเป็นประจำตามกฎหมายนั้น ๆ ส่วนเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นที่จะใช้ได้ในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งปีนี้ตั้งไว้สูงถึง 98,500 ล้านบาท โดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ ให้ตรวจสอบ
"นอกจากนี้ในช่วงการพิจารณาปรับลดของคณะกรรมาธิการนั้น รัฐบาลได้แปรเพิ่มจากงบที่ปรับลดจากหน่วยราชการต่าง ๆ มาไว้ในงบกลางเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอีกจำนวน 1 พันล้านบาท รวมเป็นงบกลางที่ตั้งไว้ใช้จ่ายเพื่อสำรองจ่ายในกรณีที่ฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเป็น 99,500 ล้านบาท อีกเพียง 500 ล้านจะถึง 1 แสนล้านบาท ในอำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน" นายชวลิต กล่าว
นายชวลิต กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่างบประมาณจำนวนนี้บางส่วนปรับลดโครงการซื้อเรือฟริเกตของกองทัพเรือที่ตั้งงบประมาณปี 2567 ไว้กว่า 1,700 ล้านบาท แต่ถูกตัดออกทั้งหมด และงบที่ถูกตัดดังกล่าวถูกนำมาอยู่ในงบกลาง ฉะนั้นการใช้จ่ายงบกลางของรัฐบาลควรคำนึงให้ใช้จ่ายให้ตรงกับวัตถุประสงค์ คือ เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ไม่เปิดช่องไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นใด ๆ ถ้าโครงการที่รัฐบาลอนุมัติไม่เหมาะสม ไม่ฉุกเฉินเร่งด่วนจริง ๆ ก็จะเกิดการเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือเพื่อมาปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ถูกปรับออกไป การใช้จ่ายงบกลางต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะจะถูกจับตาจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะจากกองทัพเรือ
"หากเป็นไปได้ปี 2568 รัฐบาลควรหาแนวทางให้กองทัพเรือได้เรือฟริเกต โดยมีเงื่อนไขให้กองทัพเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เงินงบประมาณก็จะไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ หมุนเวียนอยู่ในประเทศเราเอง ผมจะรอฟังคำตอบประเด็นนี้จากรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องปรับลดงบกลางลง 5% เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาช่วยเหลือประชาชนในกรณีจำเป็นฉุกเฉินจริง ๆ " นายชวลิต กล่าว
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า งบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2567 มีการเบิกจ่ายต่ำเนื่องจากสำนักงบประมาณมีการพิจารณาจากความสามารถในการใช้จ่ายตามระเบียบตามที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้ ในส่วนของงบกลางในรายการเบี้ยหวัด บำเน็จ บำบาญ และรายการค่าใช่จ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ คาดว่าปี 2567 คงจะไม่เพียงพอแก่การเบิกจ่ายไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะเป็นภาระกับเงินคงคลังจำนวนมาก สำหรับการตั้งงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐเป็นการตั้งงบประมาณในรอบ 1 ปีงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการเบิกสวัสดิการเป็นภารกิจที่เราไม่คาดการณ์มาก่อน อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายทั้งหมดจะเป็นไปตามสิทธิ์การขอใช้สิทธิ์ในการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นตามความจริง ซึ่งเป็นเป็นระดับจุลภาคที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เช่นเดียวกัน จึงทำให้มีบางรายการที่มีความคลาดเคลื่อน
นางมนพร กล่าวว่า กรณีที่ถูกมองว่างบกลางเป็นการตีเช็คเปล่านั้น งบกลาง คือ งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีที่จัดสรรให้หน่วยขอรับงบประมาณ ซึ่งเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณปกติ การตั้งงบประมาณของบกลางส่วนหนึ่งมาจากเหตุผลที่ไม่อาจจัดสรรหรือไม่สมควรจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานโดยตรง ซึ่งโครงการต่าง ๆ ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว จากนั้นจึงเสนอมายังกรรมาธิการงบประมาณฯที่มีตัวแทนมาจากทุกพรรคการเมือง ดังนั้นงบประมาณใด ๆ ก็ตาม นายกรัฐมนตรีมีคำอธิบายและคำชี้แจงทุกโครงการ ยืนยันว่ารัฐบาลบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมมีมติ 444 ต่อ 0 เห็นด้วยควรมีการแก้ไขมาตรา 6 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง
จากนั้นที่ประชุมลงมติอีกครั้งว่า เห็นด้วยว่าจะมีการแก้ไขตามกรรมาธิการงบประมาณฯ เสียงข้างมาก เห็นด้วย 279 เสียง ไม่เห็นด้วย 160 เสียง มีผู้งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง