'สส.ก้าวไกล-เพื่อไทย' เสนอปรับลดงบรวม 2567 ด้านสภามีมติเสียงข้างมากไม่แก้ไขมาตรา 4 งบรวม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2 และ 3
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายพ.ร.บ.งบประมาณ โดยขอสงวนความเห็นสำหรับมาตรา 4 งบรวม
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ขอเสนอให้ปรับลดเหลือ 3.45 ล้านล้านบาท เหตุผลที่ควรตัดงบประมาณ ได้แก่ งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากงบประมาณ ปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่ งบไปพลางฯ ที่ผอ.สำนักงบประมาณอนุมัติไปพลางก่อน 1.8 ล้านล้านบาท และงบที่สภาพิจารณา 1.68 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด และที่สำคัญที่งบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า คือ รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ จะเห็นว่ารายจ่ายประจำเบิกไปแล้ว 79% ส่วนรายจ่ายลงทุนเบิกไป 55%
"ดังนั้นดิฉันจึงคิดว่าถ้ารัฐบาลจะขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ เกือบ 6 เดือนเบิกรายจ่ายลงทุนได้แค่ 55% ไม่สมควรนำงบไปทั้ง 3.48 ล้านล้านบาท จึงขออนุญาตตัดเล็กน้อย" นางสาวศิริกัญญา กล่าวว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ต่อมาเป็นการประมาณการรายได้ที่อาจจะผิดพลาด เนื่องจากหลังการประมาณการรายได้รัฐบาลมีการออกนโยบายที่อาจจะกระทบรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น ไม่จัดเก็บภาษีขายหุ้น ลดการนำส่งรายได้ของกฟผ. เป็นต้น เหล่านี้ทำให้มีความเสี่ยงที่ทำให้การประมาณการรายได้สูงกว่าความเป็นจริง และจัดเก็บรายได้ได้จริงเพียง 110,000 ล้านบาท
ปัญหา คือ ณ วันนี้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้จัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้าหมาย จะสามารถกู้เงินชดเชยขาดดุลจนเต็มเพดานแค่ 790,656 ล้านบาท เท่ากับว่าเราสามารถกู้ชดเชยขาดดุลได้ 97,656 ล้านบาท เมื่อเกิดการเก็บรายได้ไม่ตรงเป้า จะทำให้หน่วยงานใดของบก่อนได้ก่อน ซึ่งไม่ควรเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จึงควรจัดลำดับความสำคัญใหม่ ปรับลดงบเล็กน้อยเพื่อทำให้สถานะการคลังของประเทศไม่มีปัญหา
"นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอตัดลดงบประมาณปี 2568 ที่ไม่จำเป็น ทั้งงบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ และลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ปัญหาคืองบประมาณปี 2568 ณ ตอนนี้ หน่วยรับงบประมาณส่งคำขอไปเรียบร้อยตั้งแต่ 2 ก.พ. 2567 แต่นายกรัฐมนตรีเพิ่งทราบจากคณะกรรมาธิการ และสั่งในวันที่ 3 มี.ค. ออกหนังสือ วันที่ 6 มี.ค. เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายเช่นนี้ตั้งแต่วันมอบนโยบาย 12 ม.ค. 2567 แต่อย่างไรก็ตามเราจะติดตามงบประมาณปี 2568 อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นงบประมาณข้างต้นในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้า" นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ต่อมานายประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ สส.ปทุมธานี เขต 7 พรรคก้าวไกล อภิปรายเป็นลำดับถัดมา มีใจความสำคัญ คือ ขอเสนอให้ตัดงบประมาณในมาตรา 4 จำนวน 5%
หลังจากที่นายประสิทธิ์ อภิปรายเสร็จสิ้น นายสกล สุนทรวาณิชย์กิจ สส.ปทุมธานี เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เนื่องจากงบประมาณถูกใช้หลายวัตถุประสงค์ จะพาไปดูตัวอย่างการใช้งบเกี่ยวกับการพิมพ์เอกสาร ด้วยการใช้งบประมาณซื้อ-เช่าเครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์เอกสาร ในกระทรวงต่าง ๆ 12 กระทรวงจาก 20 กระทรวง
จากการรวบรวมข้อมูลมีการขอพัสดุ ดังนี้
- เครื่องถ่ายเอกสาร 828 เครื่อง มูลค่ารวม 84 ล้านบาท
- เครื่องพิมพ์เอกสาร 1,788 เครื่อง มูลค่ารวม 33 ล้านบาท
- เครื่องสแกนเนอร์ 103 เครื่อง มูลค่ารวม 2 ล้านบาท
- เครื่องทำลายเอกสาร 20 เครื่อง มูลค่ารวม 8 แสนบาท
- เครื่องเข้าเล่ม 8 เครื่อง มูลค่ารวม 9.4 หมื่นบาท
รวมพัสดุ 5 รายการเป็นจำนวน 2,747 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 121 ล้านบาท โดยกระทรวงที่ใช้เครื่องพิมพ์เอกสารมากที่สุด คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 654 รายการ มูลค่าประมาณ 23 ล้านบาท
"กระทรวงที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ใช้เครื่องผลิตเอกสารมากที่สุด และจากการแถลงของรัฐบาลที่จะทำให้ราชการไทยเป็น E-Government ผมเสนอว่าเราควรเริ่มปรับตัวได้แล้ว โดยปรับนโยบายในหน่วยงานภาครัฐให้กลายเป็นราชการไร้กระดาษ ลดครุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการผลิตเอกสารลง นี่แค่เป็นการยกตัวอย่างจาก 12 กระทรวงใช้งบประมาณ 121 ล้านบาท ถ้าเป็น 20 กระทรวงคาดว่าจะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เห็นควรปรับลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเครื่องผลิตเอกสารต่าง ๆ เป็นจำนวน 10 ล้านบาท" นายสกล กล่าว
@ สส.เพื่อไทย เสนอลดงบมาตรา 4 3% เอาเงินไปทำดิจิทัลวอลเล็ต
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายแปรญัตติขอปรับลดงบประมาณในมาตรา 4 ขอปรับลดงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2567 ลง 3% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยและการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เข้าเป้า และเพื่อนำไปใช้ดำเนินการแจกโครงการดิจิทัลวอตเล็ต เนื่องจากในช่วงหาเสียงได้ชรี้แจงต่อกกต.ไปว่าจะดำเนินโครงการด้วยเงินงบประมาณ และลดปัญหาการถกเถียงเรื่องความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกู้ยืมเงินมาดำเนินโครงการตาม มาตรา 28 และมาตรา 53 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
"อีกทั้ง GDP ของประเทศไทยเติบโตต่ำมากเพียง 1.9% ถือว่าเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำมาก ประเทศไทยแทบไม่มีประวัติเช่นนี้มาก่อน โดยในปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 5 ครั้งติดต่อกัน ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนทำให้ GDP ลดลงเหลือ 1.9% นอกจากนี้ยังส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไม่ดี ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไม่ดี ประชาชนจึงไม่กล้าใช้จ่าย" นายจิตติพจน์ กล่าว
จากนั้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ขอชี้แจงประเด็นงบประมาณไปพลางก่อนว่าไม่ใช่อำนาจของสำนักงบประมาณเพียงฝ่ายเดียว แต่มีการเห็นชอบของสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับสำนักงบประมาณ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและครม.รับทราบเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบบที่เกี่ยวข้องทุกประการ
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในส่วนของงบลงทุนไม่ได้มีการเร่งรัดใช้จ่ายเพราะจะต้องรอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน ส่วนที่เพื่อนสมาชิกกังวลเรื่องการทำงบประมาณขาดดุลนั้น ด้วยสภาวะของประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา กลไกงบประมาณขาดดุลเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้มีกำลังในการดูแลประชาชนและพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลก็ดำเนินการเช่นนี้มาหลายปี แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดนี้ได้มีการอนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางปี 2568-2571 ให้ความสำคัญกับการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 2568 จำนวนประมาณ 7 แสนล้านบาท และลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ส่วนที่สมาชิกเสนอให้บรรจุโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทเข้าไปในงบประมาณปี 2567 นั้น ขอขอบพระคุณในความห่วงใย ขอยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการยังเดินหน้าต่อไป แต่เนื่องจากในการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ดำเนินโครงการ เห็นว่าจำเป็นจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งจะเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากสภาพอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก มีการลงมติให้ความเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากว่าไม่มีการแก้ไขมาตรา 4 เห็นด้วย 262 เสียง ไม่เห็นด้วย 140 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนแนเสียง 5 เสียง จึงไม่มีการแก้ไขในมาตรานี้