‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ เผย ‘ไทยสร้างไทย’ จ่ออภิปรายงบปี 67 ทั้ง 3 กระทรวง ‘กลาโหม-มหาดไทย-คมนาคม’ ให้ฉายางบคือ ‘ลดไม่จริง-ใช้ไม่คุ้ม’ ถล่ม 2 กรมถนนดีแต่ซ่อม ไม่สร้างให้งานได้ยาว ก่อนสรุปเป็นงบปีที่ผูกพัน สร้างภาระยาวนานกับรัฐบาลในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เตรียมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2-3 วงเงิน 3,480,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคมนี้
ในส่วนของพรรคไทยสร้างไทย(ทสท) จะอภิปรายงบประมาณของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม เดิมทีในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวาระ 1 ได้พิจารณาให้ปรับลดงบฯ ของทั้ง 3 กระทรวงลง กระทรวงละ 10% แต่ปรากฏว่าตัวเลขที่ออกมาปรับลดลงน้อยมากหรือแทบไม่ได้ปรับลดเลย กล่าวคือกระทรวงกลาโหม ปรับลด 2.8% กระทรวงมหาดไทยปรับลดแค่ 0.52% ขณะที่กระทรวงคมนาคม ปรับลดน้อยมาก 0.23%
นายฐากรกล่าวต่อว่า เมื่อดูจากตัวเลขการปรับลดของ 3 กระทรวง จึงขอตั้งฉายางบของกระทรวงกลาโหมว่าเป็น "งบลดไม่จริง" ส่วนกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม เป็น "งบใช้ไม่คุ้ม"
นายฐากรอธิบายความหมายว่า "ลดไม่จริง" คือการที่กระทรวงกลาโหมระบุมีการปรับลดแล้ว 2.8 %นั้น แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่ายังใช้กรอบวงเงินงบประมาณเหมือนเดิมเพียงแต่นำเอาตัวเลขที่ปรับลดไปเป็นงบฯ ผูกพันในปีงบประมาณ 2568-2569 โดยไม่ปรับลดโครงการออกไป จึงถือเป็นการเล่นกลหลอกคนดูเรียกว่า "ลดไม่จริง"
ส่วนของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมเป็นงบ "ใช้ไม่คุ้ม" หมายถึงงบประมาณที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรักษาทางหลวง งานอำนวยความปลอดภัยทางหลวง และ งานก่อสร้างโครงการขนาดเล็กมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ แขวงทางหลวง และ กรมทางหลวงชนบท สังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนกระทรวงมหาดไทย อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด
@อัด 2 ทางหลวง ดีแต่ซ่อม แต่ไม่ทำให้ดี
"หน่วยงานเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงรักษาทางหลวง วางแผนเกี่ยวกับงานบำรุงและสร้างถนน ที่ผ่านมาจะเห็นว่างบประมาณในส่วนนี้สร้างแล้วสร้างอีก ซ่อมแล้วซ่อมอีก ทำให้มีคนโยงไปถึงคำถามที่ว่าทำไมคนถึงอยากไปเป็นตำแหน่งแขวงการทางหลวง อยากไปเป็นแขวงกรมทางหลวงชนบท หรืออยากไปอยู่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด เพราะงบประมาณบำรุงเส้นทางเฉพาะงบกรมทางหลวง 27,000 กว่าล้านบาท กรมทางหลวงชนบทเกือบ20,000ล้านบาทและทางหลวงท้องถิ่นอีกกว่า29,000ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานเหล่านี้ทั้งหมด ที่เป็นอยู่ปัจจุบันจึงมีการวิ่งเต้นยิ่งกว่าเป็นกรมเล็กๆที่มีงบฯไม่ถึง1พันล้านเสียอีก"นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวอีกว่า แทนที่จะสร้าง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมถนนให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพ ใช้งานได้นาน คุ้มค่า เช่นถนนควรจะใช้ได้ 5 ปี แต่กลับเป็นว่าต้องมาจ่ายเงินงบประมาณปรับปรุงซ่อมทุกปี จึงเรียกว่างบใช้ไม่คุ้ม แทนที่จะเอาเงินไปใช้ในโครงการอื่นที่เป็นประโยชน์ ก็นำไปใช้ไม่ได้ หนำซ้ำเมื่อไม่มีงบปรับปรุง ถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอีก จุดที่ทำให้งบใช้ไม่คุ้ม คือ 1.การปรับปรุงถนนทำอย่างไม่มีคุณภาพ 2.ปล่อยให้รถที่มีน้ำหนักเกินเข้าไปวิ่งทำให้ถนนพัง นี่เป็นจุดใหญ่ที่ทำให้ตั้งงบซ่อมบำรุงทุกปี และไม่มีใครกล้าตัดงบประมาณในส่วนนี้
"แต่ถ้าปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้มาตรฐานมีคุณภาพและควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก จะทำให้ถนนแข็งแรงประชาชนใช้ได้นาน รัฐบาลก็ไม่ต้องมาตั้งงบฯ ซ่อมแซมรักษาทุกปี และลดปัญหาการจราจร เกิดความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งนำงบฯ ส่วนนี้ไปทำช่วยเหลือสวัสดิการให้กับประชาชน เบี้ยยังชีพหรือโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลอยากทำและประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า ขณะเดียวกันถนนก็มีคุณภาพใช้ได้นาน”นายฐากรกล่าว
“งบฯปี 2567 จึงสรุปได้ว่า เป็นงบฯที่ลดไม่จริงใช้ไม่คุ้ม แล้วยังกลายเป็นภาระผูกพันในปีงบประมาณอย่างหนักในปีต่อๆไป ยิ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ได้ และอยากเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยมีความน่าเชื่อถือและสร้างคุณประโยชน์มากกว่ารัฐบาลชุดก่อนๆ"นายฐากรกล่าว