เปิดแฟ้มวาระครม.สัญจร ‘คมนาคม-กรมทางหลวง’ ของบสร้างและขยายก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ด้าน ‘อนุทิน’ นั่งหัวโต๊ะประชุมผู้ว่าฯ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ‘น่าน-แพร่-พะเยา-เชียงราย’ ขอครม.อนุมัติ 15 โครงการภูมิภาค วงเงิน 395 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2567 ในเวลาประมาณ 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 ณ หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
สำหรับวาระการประชุม ครม.สัญจรที่น่าสนใจประกอบด้วย
วาระเพื่อพิจารณา เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอขอความเห็นชอบแผนอัตรากำลังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2568-2571
กระทรวงคมนาคม ขอความเห็นชอบอนุมัติเพิ่งวงเงินงบประมาณโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 14 ตอน และขยายเวลาก่อหนี้ผู้กพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 10 ตอน ของกรมทางหลวง (ทล.)
กระทรวงกลาโหม ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสาธารณรัฐเช็ก ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหาร
กระทรวงการคลัง ขอความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฉบับที่…(พ.ศ…) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุขจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง)
ส่วนวาระเพื่อทราบ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี (นร) โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) รายงานการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และรายงานสถานภาพร่างกฎหมาย ณ วันที่ 14 มี.ค. 2567
และกระทรวงวัฒนธรรม รายงานการแต่งตั้งข้าราชการระดับสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เป็นต้น
@4 จังหวัดเหนือตอนบน เสนอ ครม.อนุมัติ 15 โครงการ 395 ล้าน
ขณะที่เดียวกัน นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วานนี้ (18 มี.ค.67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พะเยา เชียงราย น่านและแพร่)
โดยการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด และเอกชนครั้งนี้ เป็นการรับฟังข้อเสนอเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 67 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 15 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 395.88 ล้านบาท เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ณ จังหวัดพะเยา ในวันนี้ (19 มี.ค.67) ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการเร่งด่วนที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี ประกอบด้วย โครงการของกลุ่มจังหวัด/จังหวัด 11 โครงการ วงเงิน 250 ล้านบาท และโครงการที่เป็นข้อเสนอของภาคเอกชน 4 โครงการ วงเงิน 145.88 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะเป็นการขอรับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสํารองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น
สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติเพื่อเสนอต่อ ครม. ในวันที่ 19 มี.ค. 67 เป็นการการกลั่นกรองร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากทั้งหมด จํานวน 89 โครงการ ใน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 โครงการที่มีความพร้อมและดําเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ที่สศช. สํานักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับจังหวัด ลงพื้นที่พิจารณากลั่นกรอง จํานวน 11 โครงการ
1) โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Gastronomy tourism สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน วงเงิน 20 ล้านบาท 2) โครงการ A Cup to Village เพิ่มขีดความสามารถการเป็นนวัตกรด้านชาและกาแฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน วงเงิน 15 ล้านบาท 3) โครงการยกระดับสินค้าและบริการด้านสุขภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 วงเงิน 15 ล้านบาท 4) โครงการเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท 5)โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วงเงิน 26.12 ล้านบาท
6)โครงการยกระดับการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง ตามแนวทางตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ จังหวัด พะเยา วงเงิน 23.88 ล้านบาท 7) โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและยกระดับการท่องเที่ยวน่านสู่ท่องเที่ยวคุณภาพสูง วงเงิน 14 ล้านบาท 8) โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก วงเงิน 21 ล้านบาท 9) โครงการเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง (กาแฟ) จังหวัดน่าน วงเงิน 15 ล้านบาท 10) โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่าแพร่ วงเงิน 45 ล้านบาท และ 11) โครงการยกระดับการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าจังหวัดแพร่ วงเงิน 5 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 โครงการซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดและจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จํานวน 78 โครงการ ซึ่ง สศช. สํานักงบประมาณ จังหวัดและกลุ่มจังหวัด และภาคเอกชน ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีความพร้อมและดำเนินแล้วเสร็จภายใน 1 ปี มีจํานวน 4 โครงการ วงเงินรวม 145.88 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 1202 ตอนควบคุม 0200 ตอน สันต้นแหน - ป่าแดด ตําบลโรงช้าง อําเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย วงเงิน 50 ล้านบาท 2) โครงการอํานวยความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท 3) โครงการพลิกโฉมถนนสายวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Soft Power พะเยา วงเงิน 25.88 ล้านบาท และ 4) โครงการสูบน้ำขึ้นดอย สอย PM2.5 สร้างป่าคาร์บอนเครดิต วงเงิน 20 ล้านบาท
นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นข้อเสนอของเอกชนนี้มีอีก 1 กลุ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ที่ประกอบไปด้วย 4 โครงการย่อย ที่ประชุมเห็นว่ามีความพร้อมในการดำเนินการเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นรายการที่จะได้รับการสนับสนุนตามงบประมาณรายจ่ายปี 2568 อยู่แล้ว ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอ ครม. อนุมัติเพื่อให้ดำเนินการขอใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2568 ต่อไป รวมวงเงิน 34.87 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนน สายบ้านฝั่งหมิ่น บานนาก้า อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วงเงิน 9.86 ล้านบาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมผิวถนน สายบ้านเด่น บ้านห้วยลี่ อำเภอเมืองน่าน วงเงิน 9 ล้านบาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนนสายบ้านนาก้อ -บ้านสบกอน 2 อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 9.9 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงซ่อมแซม ถนนสายบ้านตอน บ้านป่าต้าง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน 6.11 ล้านบาท
สำหรับอีก 74 โครงการ ที่เอกชนเสนอ แม้จะไม่ได้เสนอให้ได้รับการจัดสรรงบกลางในครั้งนี้ แต่จะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการกำชับเร่งรัด เพื่อให้มีการดำเนินการตามข้อเสนอของภาคเอกชน เป็นไปตามแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“ที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ เห็นชอบในหลักการของโครงการของภาครัฐ 11 โครงการ และที่เอกชนได้นำเสนอ 4 โครงการ และให้นำเสนอต่อ ครม. ต่อไป ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและเร่งจัดทําข้อเสนอโครงการ โดยให้ความสําคัญกับความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบต่อไป” นายอนุทิน กล่าว