กทม.ประเดิมงานโยธาปรับปรุง ‘สวนลุมพินี’ วงเงิน 66 ล้านบาท เน้นทางเดิน-ทางเท้าก่อน ‘ระบายน้ำ-สิ่งแวดล้อม’ เตรียมของงบปี 68 ดำเนินการในส่วนของตัวเองทั้งการปรับปรุงระบบระบายน้ำ ปรับปรุงไฟส่องสว่าง ห้องน้ำ เดตไลน์ต้องเสร็จในปี 68 ครบรอบ 100 ปี สวนลุมฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 10 มีนาคม 2567 เว็บไซต์ระบบเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ (E-GP) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยแพร่ประกาศเชิญชวนโครงการปรับปรุงสวนลุมพินี พื้นที่เขตปทุมวัน ของสำนักการโยธา งบประมาณโครงการ 66,760,000 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ระยะเวลาดำเนินการ 180 วันนับแต่ลงนามในสัญญา โดยลงประกาศเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา และมีกำหนดยื่นข้อเสนอและเสนอราคาในวันที่ 22 มี.ค. 2567 นี้ ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 น. ทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ในรายละเอียดรูปแบบรายการก่อสร้างระบุว่า ที่มาของโครงการนี้เกิดจากปัจจุบันสวนลุมพินี มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก และเกิดปัญหามีสภาพชำรุดเนื่องจากมีการใช้งานเป็นเวลานาน โดยจะเป็นการปรับปรุงภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 2 ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 ให้มีสภาพดี มั่นคงแข็งแรง เรียบร้อย สวยงาม สะดวกและปลอดภัยกับประชาชนที่ใช้บริการ
@ 3 สำนักทยอยประมูล ‘ระบายน้ำ-สิ่งแวดล้อม’ ของบปี 68
ด้านแหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า งานปรับปรุงสวนลุมพินี ณ ขณะนี้แต่ละสำนักแยกกันทำ โดยสำนักการโยธาได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ได้ก่อน จึงเริ่มดำเนินการ โดยเนื้องานของสำนักการโยธา จะเป็นการปรับปรุงทางเดินและทางเท้าในสวนลุมพินีทั้งหมด ซึ่งนอกจากสำนักการโยธาแล้ว จะมีเนื้องานของสำนักการระบายน้ำและสำนักสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยสำนักการระบายน้ำ เนื้องานจะเป็นปรับปรุงระบบระบายน้ำภายในสวนลุมพินีทั้งหมด ส่วนสำนักสิ่งแวดล้อมจะเป็นการปรับปรุงไฟส่องสว่างและปรับปรุงห้องน้ำทั้งหมด โดยของสำนักการระบายน้ำและสำนักสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อยู่ โดยมีกำหนดให้การปรับปรุงแล้วเสร็จภ่ยในปี 2568 อันเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปี สวนลุมพินี
ส่วนการจำกัดประชากรตัวเงินตัวทองในสวนลุมพินี แหล่งข่าวกล่าวว่า กทม.ไม่ได้ดูแลตรงนี้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
@’ชัชชาติ’ หั่นงบปรับปรุงสวนลุมฯ จากพันล้านเหลือ 180 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดือนธ.ค. 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม.เคยให้สัมภาษณ์ว่าโครงการปรับปรุงสวนลุมพินี นโยบายเก่าที่มีการตั้งโครงการไว้ในโอกาสสวนลุมพินีครบ 100 ปี ใช้เงินจำนวน 1,800 ล้านบาท
ผู้บริหาร กทม.ชุดปัจจุบันพยายามปรับลดงบประมาณลงเหลือประมาณ 180 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้สวนสาธารณะมีสภาพเป็นสวนที่แท้จริง ไม่อยากให้มีสิ่งปลูกสร้างมากในสวน หลักๆจะเป็นการปรับปรุงทางเดิน ความปลอดภัย แสงสว่าง ท่อระบายน้ำ และการเชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ จากปัจจุบันที่ยังต้องเดินทางเท้าริมถนน มีนโยบายที่จะย้ายสนามแบดมินตันหัวมุมถนนวิทยุ ทำทางเชื่อมเพื่อให้สะดวกในการเชื่อมสวนหด้ดีขึ้น รวมถึงจะปรับโครงสร้างเดิม เช่น อาคารลีลาศ และลานแสดงดนตรี ให้ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
“โครงการเดิมงบ 1,800 ล้าน โอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปี เข้าใจว่าแนวคิดในตอนนั้นคือไปของบจากรัฐบาล ตอนนี้เท่าที่เคยเรียนหารือกับรัฐบาลแนวคิดท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ไม่ได้อยากให้มีสิ่งปลูกสร้างอะไรเยอะ อยากให้เป็นสวนจริง เราเองก็มองว่า สวนเป็นที่ให้คนไปพักผ่อน มีห้องน้ำ ความปลอดภัย คงไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างอะไรมาก สภาพสวนต้องเป็นธรรมชาติจริงๆ ก็ไม่เอาเงินไม่ลงจำนวนมากใช้เท่าที่จำเป็น เอาที่มีอยู่ทำให้คุ้มค่าขึ้น รวมถึงพิจารณาทำพลังงานหมุนเวียน ติดโซลาร์เซลล์เพิ่มในสวน ทำโซลาร์เซลล์จากสระน้ำขนาดใหญ่ นำไฟไปใช้ในห้องสมุดหรือห้องน้ำ จะพยามใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด ส่วนสะพานเขียว มีงบ 200 กว่าล้าน สุดท้ายไม่มีคนมาประมูล ก็คงต้องดูว่าจะปรับยังไงให้เหมาะสมเพื่อลิงค์ 2 สวนเข้าด้วยกัน เรื่องงบประมาณตอนนี้คงรีบทำโครงการให้ชัดเจนก่อน ส่วนจะขอใครยังไงเดี๋ยวดูอีกที แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินก็จะคุยกับรัฐบาลอีกครั้ง ขอปรับภายในก่อน ซึ่งหลายๆส่วนทำได้เลย ก็จะค่อยๆทยอยทำไป“ นายชัชชาติกล่าว
ผู้ว่ากทม.กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2565 อีกว่า ในการปรับปรุงสวนลุมพินี แบ่งงานให้ 3 สำนักดำเนินการ ได้แก่ สำนักสิ่งแวดล้อมใช้งบ 85 ล้านบาท ปรับปรุงทางเชื่อมสะพานเขียว ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปยังสวนเบญจกิติ สร้างสวนสุนัข ปรับปรุงอาคารสุขาสาธารณะ ปรับปรุงศูนย์อาหาร ปรับปรุงลานจอดรถโดยในส่วนของการปรับปรุงลานจอดรถ ได้หารือกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หาแนวทางให้เอกชนเช่าพื้นที่พร้อมก่อสร้างอาคาร สำนักการโยธา ใช้งบ98 ล้านบาท ปรับปรุงสะพาน ทางเท้า รั้วสวนลุมพินี และสำนักการระบายน้ำใช้งบ 3 ล้านบาท ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ สำหรับสวนลุมพินี ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยในวันจันทร์-ศุกร์ ประมาณ 10,000 คนต่อวัน และในวันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณ 15,000 คนต่อวัน
โดยจะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2568 นี้ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากการแบ่งไปให้เป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ 360 ไร่ จัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติเรียกว่า งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ และมีพระราชดำริว่าเมื่อเลิกการจัดงานแล้ว สถานที่นั่นควรจัดทำเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน
ที่มาภาพสวนลุมพินี: กรุงเทพมหานคร