อธิบดีอัยการคดีพิเศษ เผยความคืบหน้าคดีหมูเถื่อน ร่ายที่มาแยก 2 คดี ยื่นอายัดรัพย์แล้วรอบหนึ่ง 24 รายการ วงเงิน 53 ล้าน ศาลนัดไต่สวน 27 พ.ค. 67 และได้ยื่นอายัดอีก 26 รายการ วงเงินรวม 100 ล้าน ศาลแพ่งจะไต่สวน1 ก.ค. 67 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของคดีกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายความ คดีนี้มีการส่งสำนวนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มายังสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีพิเศษจำนวน 2 สำนวน
@สำนวนคดีที่ 1 ลักลอบขนหมูเถื่อน สำแดงราคาเป็นเท็จ
สำนวนแรก ส่งมาเมื่อวันที่ 11กุมภาพันธุ์ 2567 ที่มีพฤติการณ์ในการกระทำผิดก็คือ กลุ่มผู้กระทำความผิดได้ลักลอบนำเข้าซึ่งซากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร โดยมีข้อเท็จจริงว่าจะมีกลุ่มกระบวนการผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นขบวนการอยู่เบื้องหลังการทำผิด มีการเชิดนิติบุคคลให้มีการลักลอบนำเข้ามาซึ่งซากสุกรดังกล่าวมาทางด่านศุลกากรในลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรโดยการยื่นสำแดงราคาสินค้าอันเป็นเท็จ การสำแดงสินค้าพิกัดอัตราภาษีศุลกากรที่ไปยื่นเป็นร้อยละศูนน์
แต่ถ้าหากสำแดงตามความเป็นจริงก็จะต้องชำระภาษีพิกัดอัตราภาษีศุลกากรประมาณร้อยละ 30 เเละเมื่อนำเข้ามาแล้วให้ตัวแทนนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปเก็บยังห้องเย็นเพื่อที่จะรอจำหน่าย หรือจัดเก็บโดยในการนำซากสุกรดังกล่าวไปจำหน่ายจะใช้วิธีการสวมสิทธิโควต้าสุกรภายในประเทศทำให้ผู้เลี้ยงสุกรในฐานะเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายสุกรได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมซึ่งเป็นเกษตรกรอย่างกว้างขวาง และการจำหน่ายซากสุกรดังกล่าวหากจำหน่ายแล้วจะมีกำไรถึงราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งเป็นกำไรที่เป็นจำนวนสูงมาก ซึ่งซากสุกรดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่าบริษัทแห่งหนึ่งที่เป็นบริษัททำกิจการเกี่ยวกับห้องเย็น จากการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ แล้วก็พบว่าผู้ที่เป็นผู้จัดการบริษัทดังกล่าวได้แสดงตนเป็นผู้จัดการสถานที่จัดเก็บ(ห้องเย็น)เเละก็แจ้งว่าเป็นผู้ที่รับฝากมาจากบุคคลคนหนึ่งซึ่งอยู่ในขบวนการดังกล่าว
โดยบุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าซึ่งซากสุกร ต่อมาเมื่อได้ตัวผู้ที่ถูกซัดทอดดังกล่าวมาแล้ว ก็ให้การยอมรับว่าเป็นคนนำเข้ามาจากต่างประเทศจริง จนกระทั่งทางสำนักงานปปง. ได้มีการยึดทรัพย์สินในสำนวนแรกได้จำนวน 24 รายการเป็นจำนวนเงิน 53 ล้านบาทเศษ โดยทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ทางสำนักงาน ปปง.จึงได้มีการส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการพิเศษของเรา หลังจากนั้นตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษก็ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นซึ่งประกอบไปด้วย นายนิรันดร์ นันตาลิต อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ,นายสมุทร ลีพชรสกุล อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน ,นางพรรณทิพย์ คูณทอง ฉันทะดำรงรัตน์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเป็น เจ้าของสำนวน
@ยื่นขอริบทรัพย์ 24 รายการ
อธิบดีอัยการคดีพิเศษกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่คณะทำงานได้ตรวจสำนวนดังกล่าวแล้วจากพยานหลักฐานมีมูลเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดมูลฐานตาม พรบ.ศุลกากรดังกล่าวจริงและก็ทรัพย์สินที่ยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ดังกล่าวจำนวน 24 รายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานฟอกเงิน จึงได้ทำความเห็นเสนอต่อรองอธิบดีอัยการคดีพิเศษและตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษซึ่งได้พิจารณาเเล้ว เห็นควรยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ริบทรัพย์สิน ที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน และขอไต่สวนฉุกเฉินพร้อมกับขออายัดไว้ชั่วคราวในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล โดยได้มีการยื่นคำร้องดังกล่าวดังกล่าวในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นคดีหมายเลขดำที่ฟ.23/2567 โดยศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ก็ได้นัดไต่สวนคดีในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00น.
@สำนวนที่ 2 คล้ายสำนวนแรก แต่ทรัพย์ที่ริบมี 26 รายการ
ต่อมาหลังจากที่ส่งสำนวนคดีแรกแล้วก็สำนักงานปปง. ก็ได้ส่งสำนวนที่2 ซึ่งเป็นสำนวนที่มูลความผิดเป็นผู้กระทำความผิดรายเดียวกัน พฤติการณ์เดียวกันทั้งหมดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ต่างกันตรงที่ว่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวในคดีหลังมีทั้งหมด 26 รายการรวมมูลค่าได้ 43 ล้านบาทเศษเมื่อรับสำนวนในวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2567 ตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานชุดที่ 2 ประกอบไปด้วย นายนิรันดร์ นันตาลิต อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน , นายณัฏฐ์ศาสน์ สิทธิชัย อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นคณะทำงาน เเละมีนางพรรณทิพย์ คูณทอง ฉันทะดำรงรัตน์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเป็น เจ้าของสำนวน
@ศาลแพ่งนัด 1 ก.ค.นี้ อายัดทรัพย์ 100 ล้านบาท
ภายหลังจากที่คณะทำงานได้พิจารณาตรวจสอบสำนวนคดีหลังซึ่งเป็นคดีที่สองแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกับคดีแรกว่าทรัพย์สินดังกล่าวจำนวน 26 รายการเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดมูลฐานซึ่งเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดมูลฐานในฐานความผิด พรบ.ศุลกากรฯจริง สมควรยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้ชั่วคราวดังกล่าวให้ตกไว้เป็นของแผ่นดินพร้อมกับสมควรยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและขอยึดอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราวระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล คณะทำงานก็ได้นำเสนอสำนวนพร้อมความเห็นต่อรองอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษและตนในฐานะอธิบดีสำนักงานอัยการคดีพิเศษตรวจพิจารณาแล้วมีความเห็นและคำสั่งสอดคล้องกัน กับคณะทำงานจนกระทั่งต่อมาเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องและคำขอดังกล่าวข้างต้นต่อศาลแพ่งที่เป็นศาลมีเขตอำนาจเป็นคดีหมายเลขดำที่ฟ.33/2567 โดยศาลแพ่งได้นัดไต่สวนคดีดังกล่าวในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.
ซึ่งทรัพย์จากทั้งสองสำนวนรวมกันเเล้วจะเป็นเงินเกือบ100 ล้านบาท ในส่วนคดีอาญาที่เกี่ยวกับซากสุกรขณะนี้ยังไม่มีส่งมายังอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เข้าใจว่ายังอยู่ระหว่างการสอบสวนของดีเอสไอ เเต่มีส่งมาอยู่หนึ่งเรื่องแต่จะเป็นคดีซากไก่
@ตอกย้ำความสำเร็จ ยึดทรัพย์ที่สวิส
นายวิรุฬห์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวถึงการยื่นขออายัดทรัพย์สินเกี่ยวกับเรื่องการกระทำความผิดตามมูลฐานเรื่องฟอกเงินที่ผ่านมาในเรื่องของพัฒนาการว่า เมื่อล่าสุดเร็วๆนี้ อัยการสูงสุด เเละนายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลงานต่างประเทศของสำนักงานอัยการไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการยึดอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดข้ามแดน ได้ประสานงานไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีที่ตั้งของทรัพย์สินที่ศาลศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ไว้แล้ว ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เกิดจากความผิดตาม พรบ.ป้องกันเเละปราบปรามการฟอกเงินโดยที่สำนักงานคดีพิเศษของเราเองเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องต่อศาล หลังจากที่รับสำนวนมาจาก ปปง. เเละจากการประสานงานของนายจุมพลรองอัยการสูงสุดก็ได้มีการทำ mou กับทางสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีถิ่นที่อยู่ของทรัพย์สินหรือที่ตั้งของทรัพย์สิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องจากการกระทำผิด ให้มีการส่งกลับมาที่ประเทศไทย ก็ปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ของอัยการเราในด้านการยึดอายัดข้ามแดนและริบทรัพย์สินที่ซุกซ่อนไว้ในต่างแดน
โดยนอกจากสวิตเซอร์แลนด์ ในส่วนประเทศอื่นๆอย่างเช่นเคสนี้ที่มีการนำเข้าส่งออก ก็ทราบจากนายจุมพลว่าในส่วนนี้สำนักงานอัยการก็จะมีการดำเนินการเช่นเดียวกับที่มีการทำmou กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าหากมีการสืบทรัพย์ได้แน่ว่าทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่ได้นำไปจำหน่ายจ่ายโอนหรือเก็บรักษาหรือซุกซ่อนในฐานฟอกเงินไปอยู่ในประเทศไหน เราก็พยามที่จะดำเนินการขอให้มีการส่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเช่นเดียวกับที่เราเคยทำสำเร็จมาดังกล่าวเเล้ว
“เท่าที่ผ่านมาคดีที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษเรารับสำนวนจาก ปปง. แล้วได้มีการร้องต่อศาล ทางเราอาจกล่าวได้ว่าชนะคดีเกือบทั้งหมดเกือบ 100% และมีคดีที่เราก็ขอให้คืนทรัพย์ให้กับทางผู้เสียหายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ที่เราขอศาลไป ก็ให้เกือบทั้งหมดถ้าคิดเป็นมูลค่าตั้งเเต่ปี2560 เป็นต้นมาเป็นจำนวนกว่า 4หมื่นล้านบาทเศษ และในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งอธิบดีสำนักงานคดีพิเศษมาประมาณ1ปีกว่าๆก็ยึดทรัพย์ตกเข้าคลังเเผ่นดินได้กว่า 1หมื่นล้านบาท” อธิบดีอัยการคดีพิเศษระบุ