‘คมสัน ศรีวณิชย์’ อดีตผู้สมัคร สส.อ่างทอง พรรคประชาชาติ ฟ้องคณะกรรมการ กกต. 7 คน หลังพ้นผิดจากการถูกกล่าวหาถือหุ้นสื่อ ขาดคุณสมบัติลงสมัคร สส. และพ้นผิดจากการถูกฟันซ้ำกรณีรู้ว่าไม่มีสิทธิ์แล้วยังสมัคร ระบุ 7 กกต.ไม่สืบสวน ไม่แจ้งให้ทราบ ไม่ทำตามระเบียบ ด้าน ‘แสวง บุญมี’ ยังไม่ทราบเรื่อง แต่ กกต.พร้อมสู้คดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 มีนาคม 2567 นายคมสัน ศรีวนิชย์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 1 จ.อ่างทอง พรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบให้ดำเนินคดีกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะจำเลยรวม 7 คน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 157, 137, 172, 173 และ 174
กรณีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แจ้งความดำเนินคดีตนในความผิดฐานสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 151 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
แต่เนื่องจากการกระทำของโจทก์ไม่ได้มีการกระทำใดที่เป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เนื่องจากหุ้นที่โจทก์ถือใน บริษัท ที.เอ็ม.อินเตอร์เนชั่นแนล อิมพอร์ท เอ็กซ์พอร์ท จำกัด ประกอบกิจการขายส่งโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง ขายส่งเชื้อเพลิงแร่โลหะโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง ไม่ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่อมวลชนหรือหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยร้องทุกข์กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด
หากจำเลยทั้ง 7 ได้ใช้อำนาจตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 ตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างต้นก็จะพบว่าไม่ควรดำเนินคดีกับโจทก์เพราะกรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ในคดีที่ 20/2563 เรื่องพิจารณาที่ 17/2562 ฉบับลงวันที่ 28 ต.ค. 2563 ในคดีระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร(ผู้ร้อง) กับ ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน (33 ราย) มีกรณีข้อเท็จจริงเดียวกันกับโจทก์ ซึ่งการจะมีความผิดเข้าข่ายเป็นผู้ถือหุ้นสื่อต้องได้ความว่าบริษัทที่โจทก์ถือหุ้นนั้น ต้องมีการประกอบกิจการสื่อจริงและมีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อโดยพิจารณาได้จากแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วน/บริษัท (แบบ สสช .1) และแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวคำวินิจฉัยไว้
ประกอบกับเมื่อปี 2563 กกต.ก็ได้ยึดตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยคณะกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่น(อบจ) ตามคำวินิจฉัยที่ 72/2563, 74/2563, 80/2563, 98/2563, 102/2563, 116/2563, 127/2563 และ136/2563 ซึ่งจำเลยได้เคยวินิจฉัยทำนองว่าการจดวัตถุประสงค์ในหนังสือรับรองบริษัทเพียงอย่างเดียวไม่ถือว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการรับสมัครรับเลือกตั้ง โดยวินิจฉัยตามบรรทัดฐานศาลฎีกาเช่นเดียวกัน
@7 กกต.ดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส. แต่ศาลยกฟ้อง
แต่เมื่อปี 2564 คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับผิดพลาดอย่างร้ายแรงเนื่องจากได้มีมติการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 43/2563 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 เรื่อง 5.1 การพิจารณาดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ ลต.0019 (ฝคต.1)/440 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 โดยให้ดำเนินคดีกับโจทก์ในความผิดฐานสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครตามพ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 42 (3) และ 151 ผู้ที่ลงชื่อในการประชุมประกอบด้วย นายอิทธิพร บุญประคอง จำเลยที่ 1 นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี จำเลยที่ 2 นายปกรณ์ มหรรณพ จำเลยที่ 3 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ จำเลยที่ 4 นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย จำเลยที่ 5 นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ จำเลยที่ 6 นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ จำเลยที่ 7
ต่อมานายนายอิทธิพร ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ใช้อำนาจตามมติการประชุมที่ 43/2564 ลงวันที่ 5 เม.ย. 2564 มอบอำนาจให้นายสุวิทย์ พวดชู เป็นผู้มีอำนาจในการร้องทุกข์กับโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอ่างทอง
ซึ่งต่อมา ตนในฐานะโจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อประธานคณะกรรมการการให้ยุติการดำเนินคดี เพราะโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา แต่กลับไม่เป็นผลและจำเลยยังยืนยันให้ดำเนินคดีกับโจทก์ต่อไป ท้ายที่สุดคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจังหวัดอ่างทองมีคำสั่งไม่ฟ้องและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ไม่เห็นแย้งคดีจึงยุติเป็นที่เรียบร้อย
@เปิด 4 ความผิดที่ฟ้อง กกต.
ดังนั้น จึงมาฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งตามข้อกล่าวหาข้างต้นเนื่องจากเป็นการประพฤติมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการ เนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ แต่กลับไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่และตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้
ประการที่ 1 ละเว้นไม่ทำการ สืบสวน ไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เสียก่อนที่จะมีมติให้ดำเนินคดี หรือก่อนที่แจ้งความดำเนินคดี ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 หมวด 2 มาตรา 41 ว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดหรือไม่ย่อมเป็นการกระทำที่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการประพฤติมิชอบ
ประการที่ 2 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 41-44 กล่าวคือ ก่อนดำเนินคดีอาญากับโจทก์ คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่แจ้งให้โจทก์ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหาข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐาน อีกทั้งไม่ได้สรุปข้อเท็จจริงให้กับโจทก์ทราบว่าได้กระทำความผิดตามพ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 151 อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสแก่โจทก์ในการเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อันเป็นการที่กระทำฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ประการที่ 3 คณะกรรมการการเลือกตั้งละเว้นไม่ยึดแนวทางปฏิบัติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคดีที่ 20/2563 เรื่องพิจารณาที่ 17/2562 ฉบับลงวันที่ 28 ต.ค. 2563 และไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ได้หน่วยงานของตนได้เคยพิจารณาวินิจฉัยคดีไว้แล้วตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการเลือกตั้งที่ 72/2563, 74/2563, 80/2563, 98/2563, 102/2563, 116/2563, 127/2563, 136/2563 ถือเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จงใจปฏิบัติผิดไปจากระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติ และกฎหมายอย่างประจักษ์ชัด
ประการที่ 4 การมอบอำนาจดำเนินคดีโจทก์ จำเลยไม่ได้หลักฐานใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์ว่าเป็นความผิด จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย การแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีแก่นายคมสัน ศรีวนิชย์ โจทก์ถือเป็นการจงใจเจตนากลั่นแกล้งดำเนินคดีทั้งที่ไม่มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นหรือการกระทำของโจทก์ไม่ได้เป็นความผิด การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 137,172,173 และ 174 ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและรู้อยู่แล้วว่าไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้วมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาอันมีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อสิทธิ เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน จึงถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เกินล้ำออกนอกกรอบของความชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้ง 7 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพิจารณาและบังคับใช้กฎหมายอย่างดียิ่งกว่าหน่วยงานราชการและบุคคลทั่วไป
จึงขออำนาจบารมีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ลงโทษแก่จำเลยทั้ง 7 เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่เกินล้ำขอบเขตแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้จนเกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนต่อไป
ด้านนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าวอิศราว่า กรณีที่นายคมสันฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทางคณะกรรมการ กกตง ยังไม่ทราบถึงเรื่องดังกล่าว แต่หากมีการฟ้องร้องก็คาดว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งมายัง กกต.เร็ววันนี้
ส่วนเกี่ยวกับคดีที่ฟ้องร้อง ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะก็เพิ่งทราบว่ามีการฟ้องร้องจากสื่อที่โทรศัพท์เข้ามา แต่ยืนยันว่า กกต. ทำทุกอย่างตามระเบียบและกฎหมาย หากมีข้อพิพาทฟ้องร้องก็ต้องต่อสู้คดีต่อไป
อ่านประกอบ