รอง อสส.’จุมพล’ลุยเจรจายึดทรัพย์เครือข่าย’เหว่ยเซียะกัง’จากธนาคารสวิส สำเร็จได้เงินเข้าหลวง76 ล้านบาท หลังอัยการคดีพิเศษร้องศาลเเพ่งจนมีคำสั่งยึดทรัพย์ ชี้ เป็นข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์สินฉบับแรกในประวัติศาสตร์ ไทย เล็งตามยึดทรัพย์จากการฟอกเงินในคดีอื่นอีกหลายประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 มีนาคม 2567 เมื่อเร็วๆนี้ นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์สินระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิส โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสถานะเป็นสนธิสัญญาที่ประเทศไทยจะได้รับเงินจำนวน 1,882,332.68 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 76,896,733
บาท พร้อมดอกผลที่จะมีขึ้นในภายหน้า คืนจากสมาพันธรัฐสวิส
สืบเนื่องจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหารายหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยผู้ต้องหากับพวก มีพฤติการณ์ค้ายาเสพติดเมทแอมเฟตามีนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเหว่ยเซียะกังในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ต่อมามีการสืบทราบว่าผู้ต้องหาได้นำทรัพย์สินบางส่วนไปฝากไว้ที่ธนาคารในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สำนักงานปปง. จึงขอให้อัยการสูงสุด ผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ดำเนินการยึดอายัดเงินฝากในธนาคารสวิสของผู้ต้องหา สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากทางการสมาพันธรัฐสวิส และพนักงานอัยการสวิสได้ดำเนินการอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารสวิสของผู้ต้องหา
ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 ลงโทษผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3,60,61 วรรคหนึ่ง และพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินของผู้ต้องหาตกเป็นของแผ่นดิน ศาลแพ่งมีคำสั่งถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560ให้ทรัพย์สินเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งอยู่ ที่สมาพันธรัฐสวิส พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2561 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งคำร้องขอไปยังสมาพันธรัฐสวิสเพื่อดำเนินการริบและส่งคืนทรัพย์สินตามคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวกลับคืนมายังประเทศไทย ซึ่งทางการสมาพันธรัฐสวิสได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายสมาพันธรัฐสวิสแล้ววินิจฉัยให้ส่งคืนทรัพย์สินกลับมายังประเทศไทยภายใต้ข้อตกลงการแบ่งปันทรัพย์สิน (Asset Sharing) ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐบาลทั้งสอง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 มอบให้ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจาทำข้อตกลง โดยมีผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานปปง. และกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นองค์คณะผู้เจรจา อัยการสูงสุดมอบหมายให้นายจุมพล พันธุ์สัมฤทธิ์ รองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะเจรจา
ผลการเจรจากับสมาพันธรัฐสวิสตกลงแบ่งปันทรัพย์สินจากทรัพย์สินที่ได้อายัดไว้ในอัตราส่วนที่เท่ากันระหว่างสองประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้อัยการสูงสุดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามข้อตกลงฝ่ายราชอาณาจักรไทย ข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์สินฉบับนี้เป็นข้อตกลงฉบับแรกที่เป็นประวัติศาสตร์ซึ่งไทยทำกับต่างประเทศและสามารถใช้เป็นแบบอย่างในการทำข้อตกลงแบ่งปันทรัพย์สินกับประเทศอื่นๆได้ โดยคดีดังกล่าวนับเป็นความสำเร็จของสำนักงานอัยการสูงสุดในการติดตามเอาทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดที่ได้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังต่างประเทศคืนมายังประเทศไทย อันเป็นผลจากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานปปง. กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือที่ดีเป็นอย่างยิ่งจากพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมแห่งสมาพันธรัฐสวิส
ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดขอขอบคุณเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปัจจุบันยังมีทรัพย์สินของผู้กระทำผิดในคดีค้ายาเสพติด ฉ้อโกงประชาชน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทุจริตประพฤติมิชอบ ฟอกเงิน และคดีอื่นๆ ที่นำไปซุกซ่อนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เกาะเจอร์ซีย์ และเกาะเกิร์นซีย์ ที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังดำเนินการประสานงานกับต่างประเทศเพื่อยึด อายัด และริบทรัพย์ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 อยู่หลายคดี ซึ่งคาดว่าจะนำทรัพย์สินดังกล่าวทั้งหมดกลับคืนมาประเทศไทยได้ในไม่ช้