ปปง.สั่งอายัดทรัพย์ 26.4 ล.ตาม กม.ฟอกเงิน คดีเจ้าของร้านเทเลคอม ย่านศูนย์การค้าบ้านหม้อฯกับพวก ลักลอบหนีศุลกากรนำเข้าวิทยุสื่อสารยี่ห้อดัง ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หลังศาลพิพากษาจำคุก 8 เดือน ปรับ 2,500 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มี คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย. 23/ 2567 ลงวันที่ 13 ก.พ.2567 เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายพีรพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอมหรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า ทรัพย์สินที่ถูกอายัดเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ในชื่อนายพีรพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ จำนวน 9 บัญชี มูลค่า 26,456,113 บาท
ที่มาของคดีตมคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมมีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เข้าตรวจค้นร้านโยเทเลคอม เลขที่ 34/1 ศูนย์การค้าบ้านหม้อพลาซ่า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 100/5 ซอยเจ้าคุณเทเวศร์ ถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพฤติการณ์จำหน่ายวิทยุสื่อสารและอุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องวิทยุสื่อสารปลอมเครื่องหมายการค้า พบนายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ และนายชยานันต์ สายสิงห์ พร้อมวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องวิทยุสื่อสารปลอมเครื่องหมายการค้า iCOM KENWOOD และ MOTOROLA และเป็นสินค้าที่ผลิตและมีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ ซึ่งมีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ผ่านศุลกากร หลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัด หรือข้อห้าม โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งนายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ รับว่าสินค้าทั้งหมดเป็นของตน โดยมีนายชยานันต์ สายสิงห์ เป็นผู้จำหน่ายสินค้า
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสรุปสำนวนการสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว ในราชอาณาจักร ร่วมกันซื้อหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่มิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรโดยถูกต้อง และร่วมกันจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อ 101/2565 หมายเลขแดง ที่ อ 444/2565 ได้มีคำพิพากษาว่านายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ และนายชยานันต์ สายสิงห์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 ประกอบมาตรา 242 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 มาตรา 83 และนายชยานันต์ สายสิงห์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 55 ประกอบมาตรา 36 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คงจำคุกนายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ มีกำหนด 8 เดือน และปรับจำนวน 2,500 บาท และคงจำคุกนายชยานันต์ สายสิงห์ มีกำหนด 8 เดือน และปรับจำนวน 7,500 บาท และให้ริบของกลาง
ต่อมาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ได้มีคำพิพากษาที่ 510/2566 ให้รอการกำหนดโทษนายชยานันต์ สายสิงห์ ไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นอกจากที่ให้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) และ (13) แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายพีระพงษ์ กิตติพลฤทธิ์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 9 รายการ พร้อมดอกผลมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน)