กมธ.ความมั่นคงฯ ชี้กรณีมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ควรออกระเบียบการปฏิบัติงานของตร.-รับร่างพ.ร.บ.คำสั่งเรียกกมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร หากรัฐมนตรี-นายกไม่มาตามเรียกผิดวินัยข้าราชการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ แถลงข่าวเกี่ยวกับผลประชุมของกมธ.ความมั่นคงฯ ว่า กมธ.สรุปข้อเท็จจริงได้ว่าขั้นตอนตามพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย ค่อนข้างมีความมั่นคง เขียนไว้ครอบคลุมทุกประเด็น ปิดช่องโหว่ในเรื่องความไม่ปลอดภัยไว้หมดแล้ว มีเพียงแค่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่ต้องออกระเบียบอีกฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่กมธ.ฝากเป็นการบ้านให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นายปิยรัฐ กล่าวว่า ทั้งนี้ประเด็นหารือในวันนี้ (29 ก.พ. 2567) ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมชุดใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้กมธ.ความมั่นคงฯ ตั้งคณะทำงานหรือพิจารณากรณีการยื่นญัตติให้มีการศึกษาข้อกฎหมายมาตรการถวายความปลอดภัย ในเรื่องนี้กมธ.ได้ตั้งประเด็นศึกษาเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนหรือมาตรการในการถวายความปลอดภัย โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ได้มาเนื่องจากติดภารกิจไม่สามารถมาตอบข้อซักถามได้
ส่วนด้านตำรวจ ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้รองผู้บังคับการนครบาล 1 มาเข้าร่วม พร้อมผู้บังคับการตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชน ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียดเพราะกมธ.ตระหนักดีว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 มอบอำนาจให้กรมราชองครักษ์เป็นผู้ออกกฎระเบียบในการวางมาตรการถวายความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาชี้แจงวันนี้ตอบได้เพียงระเบียบของตำรวจที่ทำตามระเบียบที่กรมราชองค์รักษ์ชี้แนะเท่านั้น
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่กมธ.กังวล ได้แก่
1. การที่เจ้าหน้าที่มีการสื่อสารผิดพลาด เช่น หากกรณีที่กระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจร ก็อยากให้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความระมัดระวังในการสื่อสารในเรื่องการอ้างการปิดถนน การอ้างเรื่องการปิดจราจรเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกหรือถวายความปลอดภัย ก็อาจกระทบต่อจิตใจของผู้ใช้รถใช้ถนน อยากให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น
2. ระเบียบใดก็ตามที่ไม่เป็นไปตามพระราชโยบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไม่อยากให้การเสด็จกระทบต่อประชาชน อยากให้มีการออกระเบียบให้ชัดเจน กรณีเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการ ทราบจากตำรวจที่มาวันนี้ว่าขณะนี้จะมีการทำรายงานชี้แจงผู้บังคับบัญชาเพื่อนำเสนอเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งกมธ.จะติดตามต่อไป
3. ประเด็นการแจ้งข้อกล่าวหาหลังจากนี้ซึ่งเกิดกับผู้ที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที่เข้าไปขัดขวางหรือทำให้กระทบต่อขบวนเสด็จ อยากให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ใช้แรงกดดันจากสังคมเพื่อให้เกิดการตั้งข้อหาที่หนักเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ตำรวจหรือรัฐบาล
"นอกจากนี้กมธ.ยังมีมติร่วมกันในการรับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องการเรียกของกมธ.สภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา (พระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เพื่อให้กมธ.นี้มีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกหน่วยงานราชการ รัฐมนตรี รวมถึงนายกรัฐมนตรี มาตอบข้อซักถาม ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร หากไม่มาสำหรับรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมีโทษถึงการวินัยหรือประมวลจริยธรรมและวินัยสำหรับข้าราชการ" นายปิยรัฐ กล่าว