ผู้ว่าชัชชาติ เซ็นขยายเวลารับฟังความเห็นการร่างผังเมือง กทม.ใหม่ถึงวันที่ 30 ส.ค.นี้ ด้าน สส.ก้าวไกล ติงขยายเวลาไม่พอ กทม.ควรทำงานเชิงรุกมากกว่านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และโฆษกกทม. เปิดเผยว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 66 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2566 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการผังเมือง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม พ.ศ.2565 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 โดยได้กำหนดระยะเวลาการแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 จนถึง วันที่ 22 มกราคม 2567 และได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกรุงเทพมหานคร เชิญชวนประชาชนแสดงความคิดเห็นในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 โดยได้กำหนดระยะเวลาการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผ่านช่องทางต่างๆ จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น
เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างทั่วถึงและประชาชนทุกภาคส่วนได้มีระยะเวลาพิจารณาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) อย่างรอบด้าน รวมทั้งเพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน กรุงเทพมหานครจึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฯ โดยกำหนดระยะเวลาการแสดงความคิดเห็น จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ ให้ยื่นแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทาง ดังต่อไปนี้
1.ยื่นทางเว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4)
2. ยื่นหนังสือด้วยตนเอง ณ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
3. ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ ไปยังสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
ด้านนายศุภณัฐ มีนชัยนนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความผ่าน X ว่า การขยายเวลายื่นฟอร์มอย่างเดียวไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก เป็นการทำงานแบบ passive ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ด้วยเวลา 6 เดือนที่ขยายนั้น กทม สามารถทำความเข้าใจผังเมืองได้มากกว่านี้ อยากเห็นการทำงาน active เชิงรุก ที่ทำให้คนกทม.ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเมืองได้มากกว่านี้
“การกลัดกระดุมเม็ดแรก ให้ถูกต้อง โดยร่วมกำหนดยุทธศาสตร์เมือง มีเป้าหมายร่วมกัน ว่าเมืองควรเป็นแบบไหน ที่จะตอบโจทย์ชีวิตของคนไทยทุกกลุ่ม ตรงไหนควรส่งเสริมให้พัฒนาเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่มีภาพของเมืองร่วมกัน ต่างคนต่างไปยื่นฟอร์ม คัดค้านเฉพาะผังบ้านตัวเอง ผังเมืองกทม.ก็จะวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิมครับ และต้องฝากเรื่อง การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับ คอนเซปผังเมืองที่มากพอนะครับ” ข้อความตอนหนึ่งของนายศุภณัฐ
สุดท้ายนี้ ตนเห็นโรงเรียนสาธิตบางแห่งมีการสอนเรื่องผังเมืองให้นักเรียนมัธยม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก