เผยแพร่มติ ป.ป.ช. เสียงเอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ 'สมควร โอบอ้อม' อดีต สส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิดปมหุ้นบริษัทครอบครัว 30 ล้าน เผยเคยโดนโทษคุก 1 เดือน รอลงอาญา ยื่นทรัพย์สินเท็จ-ให้นอมินีถือหุ้นมาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายสมควร โอบอ้อม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในคดีร่ำรวยผิดปกติ หลังพบทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นไม่สัมพันธ์กับรายได้ โดยเฉพาะหุ้นบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่า 30,000,000 บาท
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุปว่า ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 บัญชี จากการเปรียบเทียบบัญชีฯ กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีพ้นจากตำแหน่งครบหนึ่งปี กับบัญชีฯ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสุทธิ 18,306,475.23 บาท และ 17,242,887.93 บาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรากฏว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นไม่สัมพันธ์กับรายได้ โดยทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ คือ หุ้นบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด จำนวน 300,000 หุ้น มูลค่า 30,000,000 บาท
โดยผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงว่า ไม่มีการชำระค่าหุ้น เนื่องจากเป็นกิจการภายในครอบครัว ขัดแย้งกับเอกสารที่บริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด ยื่นต่อกรมพัฒนาธรุกิจการค้า ซึ่งระบุว่า บริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด ได้รับเงิน ค่าหุ้นจากผู้ยื่นบัญชี จำนวน 30,000,000 บาท ครบถ้วนแล้ว
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงประเด็นเดียวว่า ในการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2553 ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นใดไปลงทุน หรือไม่ อย่างไร นายสมควร โอบอ้อม ผู้ถูกกล่าวหา ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าสรุปได้ว่า บริษัทฯ ประสบปัญหาภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ตามงบการเงินปี 2552 บริษัทฯ มีขาดทุนสะสม จำนวน 90,974,623.33 บาท ทุนจดทะเบียนจำนวน 30,000,000 บาท ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 60,974,623.33 บาท ไม่สามารถที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินภายนอกเพื่อนำไปชำระหนี้ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานบัญชีที่ดูแลบริษัทฯ จึงได้แนะนำให้บริษัทฯ จดทะเบียนเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางบัญชีและเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินภายนอก
จากนั้นในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 บริษัทฯ จึงได้ทำการจดทะเบียนเพิ่มทุน จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 30,000,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 61,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียน 91,000,000 บาท ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา ได้รับหุ้นเพิ่มขึ้น 300,000 หุ้น มูลค่าจำนวน 30,000,000 บาท และในส่วนของนางสาวภัทรภร โอบอ้อม ได้รับหุ้นเพิ่มขึ้น 310,000 หุ้น มูลค่าจำนวน 31,000,000 บาท แต่บริษัทฯ ไม่ได้มีการรับรู้รายได้เงินเข้า (ไม่มีเงินเข้าบริษัทฯ) จำนวน 61,000,000 บาท แต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าไม่ได้นำเงินสดไปลงทุนในการจดทะเบียนเพิ่มทุนในส่วนของตน จำนวน 30,000,000 บาท ตามข้อกล่าวหา ซึ่งการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 69,000,000 บาท และบริษัทฯ ได้นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ปรากฏตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 และทำให้บริษัทฯ มีการรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวทั้งสิ้น 120.89 ล้านบาท ในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 พิจารณาจากงบการเงินของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2551 - 2553 เห็นได้ว่าบริษัทฯ มีผลประกอบการขาดทุนสะสมเกินทุนเป็นจำนวนเงินระหว่าง 61.29 - 66.59 ล้านบาท
ผู้สอบบัญชีต่างได้ให้ความเห็น ในการตรวจสอบงบการเงินเช่นเดียวกัน สรุปได้ว่า การดำรงอยู่ของกิจการขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในอนาคตและการจัดหาเงินทุนเพื่อหมุนเวียนในกิจการ โดยผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงยอมรับว่าบริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2546 - 2547 ซึ่งจากเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของ ธพว. มีข้อมูลการกู้เงินของบริษัทฯ จากสถาบันการเงิน และการกู้เงินนอกระบบหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากยื่นคำขอกู้กับ ธพว. ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 แล้ว ธพว. ได้ให้บริษัทเอกชนภายนอกมาทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทฯ เพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
จนกระทั่งในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 บริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด ได้ทำการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัทฯ จากเดิมมีทุนจดทะเบียน 30,000,000 บาท เป็น 91,000,000 บาท โดยเป็นเงินลงทุนส่วนของนายสมควร โอบอ้อม จำนวน 30,000,000 บาท และเป็นส่วนของนางสาวภัทรภร โอบอ้อม จำนวน 31,000,000 บาท ซึ่งตามสำเนาใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น ฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 จำนวน 2 ฉบับ ที่บริษัทฯ ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ได้รับชำระเงินค่าหุ้น เป็นเงิน 30,000,000 บาท จากผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเป็นค่าหุ้น จำนวน 300,000 หุ้น และบริษัทฯ ได้รับเงินค่าหุ้น เป็นเงิน 31,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าหุ้น จำนวน 310,000 หุ้น จากนางสาวภัทรภร โอบอ้อม ไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงจากคำให้การของ นาง ผ. ผู้ทำบัญชีของบริษัทฯ ในปี 2553 และนางสาว ก. ผู้สอบบัญชีให้กับบริษัทฯ ในรอบปีบัญชี 2553 ให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่า ในการจัดทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับเงินสดและเงินฝากธนาคารไม่พบว่ากรรมการบริษัทฯ มีการนำเงินมาลงทุน และ นาง ผ. ยังได้ให้การยืนยันว่าในการบันทึกบัญชีของบริษัทฯ บริษัทฯ ได้นำหลักฐานภาพถ่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมของบริษัทฯ และเอกสารเกี่ยวกับการประเมินราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่งให้นาง ผ. ประกอบการบันทึกบัญชีและขอให้ทำการลงทะเบียนเป็นรายการทรัพย์สินเพิ่มเติมของบริษัทฯ แม้บริษัทฯ จะไม่สามารถส่งมอบทะเบียนทรัพย์สินให้กับคณะกรรมการไต่สวนเพื่อตรวจสอบที่มาและมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทฯ ได้ เนื่องจากบริษัทฯ แจ้งว่าเกินระยะเวลาที่ต้องจัดเก็บไว้ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 บริษัทฯ จึงไม่ได้จัดเก็บไว้แล้ว
แต่บริษัทฯ ได้ส่งมอบสำเนารายงานตารางค่าเสื่อมราคาสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งนางสาว ณ. ให้ถ้อยคำในฐานะผู้จัดทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ในรอบปีบัญชี 2563 และ 2564 ยืนยันว่าในการทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ดังกล่าว พบว่า มีรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์รวมจำนวน 28 รายการ ที่ซื้อหรือได้มาเมื่อวันที่ 1 และวันที่ 15 ธันวาคม 2553 เป็นรายการทรัพย์สินที่ยกมาอยู่ก่อนแล้ว ตามที่ปรากฏอยู่ในสำเนารายงานตารางค่าเสื่อมราคาสะสมฯ ประกอบกับจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานงบการเงินของบริษัทในปี 2553 แล้ว เชื่อว่าจากสถานะงบการเงินของบริษัทฯ ขณะนั้น บริษัทฯ ไม่น่าจะมีความสามารถในการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่จำนวนหลายรายการและมีมูลค่าสูงถึง 17,497,830.25 บาท เนื่องจากในปี พ.ศ. 2552 และ 2553 บริษัทฯ ขาดทุนจำนวน 90,974,624.33 บาท และขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก 66,618,319.21 บาท ตามลำดับ
โดยในการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับบัญชีทุน และลูกหนี้เงินให้กู้ยืมกรรมการ ในปี พ.ศ. 2553 นั้น นาง ผ. ให้การว่า นอกจากได้ตรวจดูเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีแล้ว ตนได้สอบถามข้อเท็จจริงจาก นาย ส. ผู้ที่นำเอกสารของบริษัทฯ มาให้ตนช่วยปิดบัญชีให้ โดย นาย ส. แจ้งว่าเหตุที่บริษัทฯ ได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเนื่องจากบริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสมเกินทุนจดทะเบียน ธนาคารได้แนะนำให้บริษัทฯ ทำการเพิ่มทุนเพื่อจะได้กู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนเพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ประกอบกับตนทราบว่าได้มีธนาคารเข้ามาทำการตรวจสอบทรัพย์สินที่จะใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินของบริษัทฯ พบว่ามีเครื่องจักรจำนวนหนึ่งที่ใช้ในการผลิตลำโพง ไม่ได้อยู่ในทะเบียนทรัพย์สินของบริษัทฯ ธนาคารจึงได้แนะนำให้ทำการบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ โดยบริษัทฯ ได้นำหลักฐานภาพถ่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมของบริษัทฯ และเอกสารเกี่ยวกับการประเมินราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ส่งให้ นาง ผ. ประกอบการบันทึกบัญชีและขอให้ทำการลงทะเบียนเป็นรายการทรัพย์สินเพิ่มเติมของบริษัทฯ
เมื่อตนได้ตรวจสอบทะเบียนทรัพย์สินที่มีอยู่ ณ วันที่ 1 มกราคม 2553 กับเอกสารเกี่ยวกับการประเมินราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ พบว่าเป็นทรัพย์สินคนละรายการกัน ซึ่งยังไม่เคยมีการบันทึกบัญชีมาก่อนจึงได้ทำการบันทึกบัญชีเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยมูลค่าตามเอกสารราคาประเมินที่ได้รับจากบริษัทฯ โดยบันทึกเป็นรายการทรัพย์สิน ในปี พ.ศ. 2553 เมื่อพิจารณางบการเงินในปี พ.ศ. 2553 เปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2552 แล้วจะเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2553 มีรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น จำนวน 17,497,830.25 บาท โดย นางสาว ณ. ผู้จัดทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ในรอบปีบัญชี 2563 และ 2564 ยืนยันว่าในการทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ดังกล่าว พบว่ามีรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์ มูลค่า 17,497,830.25 บาท เป็นรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมจำนวน 28 รายการ ที่ซื้อหรือได้มาเมื่อวันที่ 1 และวันที่ 15 ธันวาคม 2553 เป็นรายการทรัพย์สินที่ยกมาอยู่ก่อนแล้ว ตามที่ปรากฏอยู่ในเอกสารสำเนารายงานตารางค่าเสื่อมราคาสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบรายการเครื่องจักรและอุปกรณ์จำนวน 28 รายการดังกล่าว พบว่า เครื่องจักรจำนวน 27 รายการ เป็นเครื่องจักรที่มีเลขทะเบียนเครื่องจักร และมีเครื่องจักรจำนวน 1 เครื่องที่ไม่ปรากฏเลขทะเบียนเครื่องจักรอยู่ที่ตัวเครื่องจักร ซึ่งจากการนำเลขทะเบียนเครื่องจักรจำนวน 27 รายการดังกล่าว ไปตรวจสอบกับสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์
ประกอบการสอบปากคำพยานบุคคลราย นาย ธ. ผู้อำนวยการกลุ่มจดทะเบียนและนิติกรรม 1 สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นาย ธ. ให้การยืนยันว่า บริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด และบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (2001) จำกัด ได้ดำเนินการ จดทะเบียนเครื่องจักร จำนวน 27 เครื่อง จริง เนื่องจากขณะที่บริษัทฯ มาขอจดทะเบียนเครื่องจักร นายทะเบียนเครื่องจักรจะต้องตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการได้มาของเครื่องจักรที่บริษัทฯ นำมายื่นเพื่อขอจดทะเบียน เช่น INVOICE ใบขนส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน หนังสือรับรองการขายเครื่องจักร และเอกสารอื่น ๆ เกี่ยวกับการได้มาของเครื่องจักร เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงจะรับจดทะเบียนเครื่องจักรให้ตามคำขอ และจะถือว่าบริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องจักรดังกล่าวแล้วตามวันที่ปรากฏในเอกสารที่ตรวจสอบ
ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่นำมาจดทะเบียนก่อนวันที่รับจดทะเบียน โดยเครื่องจักรจำนวน 27 เครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องจักรที่มีการจดทะเบียนไว้ตามเลขรหัสปี 45 - 47 แม้จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาของเครื่องจักรจดทะเบียน จำนวน 27 เครื่องดังกล่าว จะพบเอกสารเกี่ยวกับการได้มาของเครื่องจักร จำนวน 4 เครื่อง ส่วนที่เหลือจำนวน 23 เครื่อง จากการตรวจสอบไม่พบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาของเครื่องจักร เนื่องจากเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่เก่าและมีการจัดเก็บเอกสารหลายแห่ง แต่เมื่อพิจารณาคำให้การของ นาย ธ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเครื่องจักร ได้ให้การยืนยันเกี่ยวกับการทำหน้าที่รับจดทะเบียนของสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางและยืนยันข้อเท็จจริงว่า บริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด และบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (2001) จำกัด ได้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องจักรดังกล่าวจริง โดยจดทะเบียนไว้ตามเลขรหัสปี 45 - 47 จึงรับฟังได้ว่าเครื่องจักรดังกล่าวเป็นเครื่องจักรที่ได้มาในระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2547 ประกอบกับจากการลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องจักรที่โรงงานของบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด พบเครื่องจักรทั้ง 28 เครื่องดังกล่าว โดยเครื่องจักรจำนวน 27 เครื่อง มีเลขทะเบียนตรงตามที่ปรากฏในเอกสารที่ได้ตรวจสอบกับสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลางและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์
จึงเชื่อได้ว่ารายการเครื่องจักรทั้ง 28 รายการที่ได้นำมาบันทึกเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ในปี 2553 เป็นเครื่องจักรเดียวกันกับที่คณะกรรมการไต่สวนได้ทำการลงพื้นที่ตรวจสอบและที่ปรากฏในสำเนารายงานตารางค่าเสื่อมราคาสะสม ดังนั้น เครื่องจักรดังกล่าวที่อยู่ในชื่อของบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด และบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (2001) จำกัด ณ วันจดทะเบียน ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องจักร จึงเป็นเครื่องจักรที่มีอยู่จริงและได้มาก่อนหรือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 - 2547
ในชั้นนี้ เมื่อพิจารณาคำให้การพยานบุคคล นาย ธ. ผู้อำนวยการกลุ่มจดทะเบียนและนิติกรรม 1 สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนเครื่องจักร นาง ผ. ผู้ทำบัญชี และ นางสาว ก. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นพยานบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพทางบัญชีที่มีหน้าที่จัดทำบัญชีและตรวจสอบความถูกต้องของการจัดทำบัญชีของบริษัทฯ ในปี 2553 ซึ่งเป็นพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงและเป็นผู้ที่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นอย่างดี คำให้การของพยานบุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ อีกทั้ง นางสาว ณ. ผู้จัดทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ในรอบปีบัญชี 2563 และ 2564
แม้ปัจจุบันจะเป็นพยานบุคคลที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างประกอบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ได้ให้ถ้อยคำในฐานะผู้จัดทำบัญชีให้กับบริษัทฯ ในปี 2563 และ 2564 ตามข้อเท็จจริงที่ตนเองได้ประสบพบเจอในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางบัญชีมา โดยตลอด ซึ่งปัจจุบัน นางสาว ณ. เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ ทำหน้าที่สอนวิชาบัญชีและภาษีอากร ก็ได้ให้ถ้อยคำสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้จาก นาง ผ. นางสาว ก. และ นาย ธ. ซึ่งพยานบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าวไม่มีส่วนได้เสียหรือมีสาเหตุโกรธกับบุคคลใด ๆ ในเรื่องกล่าวหานี้
จากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนจึงรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในการจดทะเบียนเพิ่มทุนของบริษัท โอบอ้อมอุตสาหกรรม (1994) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2553 นอกจากรายการเครื่องจักรเก่า จำนวน 28 รายการ ที่ได้นำไปลงทะเบียนเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ แล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้นำเงินไปลงทุน ตามที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหารับฟังได้ จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน ว่า จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสมควร โอบอ้อม ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง นายสมควร โอบอ้อม อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้คัดค้าน
ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายสมควร โอบอ้อม กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ ภายหลังพ้นจากตำแหน่ง สส. ครบ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 และ 33 ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง กับมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 119 จำคุก 2 เดือน ปรับ 8,000 บาท
ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่า ผู้คัดค้านได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง