‘ผู้ว่ารถไฟ’ สุ่มร่างแผนฟื้นฟูกิจการ เป้าหมาย EBITDA เป็นศูนย์ ทำการตลาดมากขึ้น ฝันโละรถร้อนทั้งหมด ลุ้น คนร.ตัดสินใจ กังวลอัตรากำลังคนม้าเหล็กขาดแคลนหนัก เร่งศึกษา 9 เดือนอัตรากำลังที่ต้องใช้จริงมีเท่าไหร่ ส่วนการหาหัวรถจักรดีเซลยังไม่ผ่านด่านสภาพัฒน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า นับจากที่ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯรฟท.ได้เขียนแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะมีความชัดเจนว่าเรื่องใดที่รฟท.ทำได้เอง และปัจจัยใดที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม เป้าหมาย EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย) เป็นศูนย์ และไม่ขาดทุน โดยจะให้บริการเดินรถเป็นหลัก ทำการตลาดเชิงรุก ทั้งการโดยสาร รถท่องเที่ยว และขนส่งสินค้าซึ่งมีมาร์จิ้นค่อนข้างมาก เพิ่มสินค้าใหม่และบริการใหม่ๆ ไม่ใช่รอให้คนเดินมาซื้อตั๋วเท่านั้น และมีรายได้จากที่ดินและทรัพย์สินที่จะเป็นส่วนเสริมที่สำคัญ ซึ่ง ได้เสนอไปที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในแผนฟื้นฟูมีมีการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารไว้เป็นสมมุติฐาน แต่จะนำมาใช้หรือไม่ ต้องผ่านการพิจารณาจากหลายฝ่าย เพราะมีผลกระทบหลายส่วน ที่วางแผนไว้ คือ การยกระดับบริการ รถชั้น 3 จากร้อนพัดลมเป็นรถปรับอากาศ ทั้งหมดและจัดเก็บค่าโดยสารใหม่ ส่วนการอุดหนุนคนรายได้ ก็อยู่ที่การพิจารณาของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งรถไฟจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ประชาชนได้ใช้บริการที่ดีขึ้น
@รถไฟขาดแคลนคนทำงาน
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รฟท.กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก และส่งผลให้พนักงานรวมถึงลูกจ้างต้องทำงานหนัก และมีค่าใช้จ่ายด้านโอทีเพิ่ม
สาเหตุเนื่องจากต้องปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 ที่กำหนดให้รฟท.รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุในแต่ละปี และต้องรับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ก่อน ทำให้จำนวนพนักงานลดลงจากปี 2541 ที่มีประมาณ 18,015 คน เหลือเพียง 9,000 คน ในปัจจุบัน ขณะที่การเดินรถ เพิ่มจาก 100 กว่าเที่ยวต่อวัน เป็น 200 กว่าเที่ยวต่อวัน และการให้บริการมีความยุ่งยากมากขึ้น
โดย เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตรากำลังและการสรรหาพนักงานใหม่ จำนวน 81 อัตรา หรือร้อยละ 5 เพื่อทดแทนพนักงานเกษียณอายุจำนวน 1,610 คน ในช่วง 4 ปี ( 2563-2566) ซึ่งเป็นไปตามมติครม.วันที่ 28 ก.ค. 2541 โดยพนักงานจัดสรรใหม่จำนวน 81 อัตรา ประกอบด้วย กลุ่มงานด้านปฎิบัติการ 55 อัตรา กลุ่มงานด้านบริหารสนับสนุนและอำนวยการ 25 อัตรา และสำรองบุคคลในครอบครัวที่เสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ 1 อัตรา
“รฟท.ไม่สามารถรับพนักงานได้ตามความต้องการจริง เพราะมีมติครม.ให้รับได้แค่ 5% จากจำนวนพนักงานเกษียณโดยต้องนำเข้าบอร์ดทุกครั้ง ซึ่ง 4 ปี เกษียณออกไป 1,610 คน รับได้แค่ 81 คนก็ไม่พอกับการทำงานจริง พนักงานต้องทำงานหนัก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต ขณะที่ รถไฟก็มีค่าโอทีเพิ่มขึ้นด้วย” นายนิรุฒกล่าว
@ตั้งต้นใหม่ ขอ 9 เดือน ศึกษาอัตรากำลังจริงที่ต้องการ
นายนิรุฒกล่าวว่า ขณะนี้รฟท.เตรียมจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาว่ารฟท.ควรมีจำนวนพนักงานเท่าไร เป็นส่วนของ outsourse เท่าไร ที่จะเหมาะสมกับการขับเคลื่อนและให้บริการรถไฟตามแผนฟื้นฟูและบริบทใหม่ ที่จะมีการเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มเติมทั้งระยะที่1 และระยะที่ 2 และรถไฟสายใหม่รวมถึงมีรถจักร ล้อเลื่อน เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้ตั้งงบปี 2567 ดำเนินการศึกษาระยะเวลา 9 เดือนดังนั้นภายในปลายปีนี้ จะเห็นภาพชัดเจน ว่ารฟท.ควรมีกรอบอัตรากำลัง เท่าไร
“นโยบายรัฐบาลต้องการให้ระบบรางเป็นกระดูกสันหลังในการขนส่งของประเทศ มีรางไม่มีรถก็ไม่มีประโยชน์ หรือมีราง มีรถ แต่ไม่มีคนขับก็ไม่ได้ ขณะนี้ยังไม่มีรถจักรใหม่ งานยังล้นคน ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบัน มีพนักงานขับรถจำนวน1,078 คน ยังขาดอยู่ประมาณ 180 คน ส่วนพนักงานช่างเครื่องมีจำนวน 765 คนขาดประมาณ 493 คน” ผู้ว่ารฟท.กล่าว
สำหรับแนวทางเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาคนขับไม่พอ จะปรับลดเวลาฝึกอบรม ช่างเครื่องขึ้นเป็นคนขับจาก 7 ปี เหลือ 3-4 ปี โดยใช้กระบวนการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยฝึกอบรม ทั้งนี้จะต้องอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยและเกณฑ์ที่เข้มงวดเหมือนเดิม รวมถึงปรับโครงสร้างเพื่อเกลี่ยคนไปทำงานในจุดที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นก่อน
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
@หารถจักรดีเซล ค้างเติ่ง สภาพัฒน์
ส่วนความคืบหน้าการจัดหาตู้รถไฟสินค้า(บทต) จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท รฟท.เสนอไปกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะเสนอครม.ได้เร็วๆนี้ส่วนการจัดหารถดีเซลราง ปรับอากาศสำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 184 คันวงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาชองสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
“การจะฟื้นฟูรถไฟและให้ประชาชนหันมาใช้ระบบราง จะสำเร็จได้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องก.คมนาคม ก.ท่องเที่ยว และ รัฐบาล ต้องมีการสนับสนุนจริงจัง เช่น มีมาตรการด้านจราจรห้ามรถที่มีมลพิษ หรือรถบรรทุกเข้าเมือง มีระบบตั๋วร่วมเพื่อลดค่าเดินทาง เป็นต้น” ผู้ว่ารฟท.ปิดท้าย