รองอธิบดีกรมคุมประพฤติเผย เจ้าหน้าที่เข้าพบ 'ทักษิณ ชินวัตร' แจ้งเงื่อนไขพักโทษ-นัดรายงานตัว เมื่อ 20 ก.พ. 2567 ชี้ระหว่างพักโทษนั่งที่ปรึกษางานทางการเมืองได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยมีเงื่อนไขคุณสมบัติผ่านเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ และเข้าพักอาศัยยังสถานที่พักโทษที่ได้มีการแจ้งไว้ (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้บริหารได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว ได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณและผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไข ข้อกำหนดการพักโทษ และนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไปในเดือนมี.ค.
เมื่อถามว่าการไปดำรงตำแหน่งบอร์ดกรรมการหรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมือง สามารถทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า ตนเองมองว่า ระหว่างนี้สามารถทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้น กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งโดยมีข้อยกเว้นประการใดหรือไม่ ดังนั้น ระหว่างการพักโทษจึงยังไม่มีการห้ามในงานทางการเมือง
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า สำหรับการนัดหมายรายงานตัวในเดือน มี.ค. หากนายทักษิณยังอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว หรือการตรวจรักษากับแพทย์ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบยังบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้น ๆ สามารถแจ้งเลื่อนได้ แต่หากมีอาการดีขึ้น สะดวกในการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วยตามช่วงเวลา
อย่างไรก็ตาม หลักการโดยรวมของการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติ คือ ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ เช่น ขยับเข้ามาเร็วขึ้น เพียงแค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น และถ้ารายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปสามารถลดหย่อนได้เป็น 2 เดือนค่อยรายงานตัว เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่น ๆ
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้อุปการะผู้ได้รับการพักโทษว่า ผู้อุปการะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทะเบียนบ้านของสถานพักโทษ แต่ต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้หลักประกันแก่กรมคุมประพฤติได้ เช่น มีสถานะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในพื้นที่ กทม. เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถติดต่อได้สะดวก เพราะผู้อุปการะเหมือนผู้ปกครอง เวลาผู้ถูกคุมความประพฤติเกิดปัญหาใด เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องประสานติดต่อได้
ส่วนข้อกำหนด ข้อห้าม หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างการพักโทษ พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า คือ "5 ให้ 5 ห้าม" ซึ่งระบุในหนังสือสำคัญแจ้งการพักการลงโทษ หรือใบ พ.8 เป็นเอกสารของกรมราชทัณฑ์สำหรับผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ ประกอบด้วย 5 ให้ คือ ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน, ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ, ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติทราบ ส่วนจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย, ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ
ส่วน 5 ห้าม คือ 1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาต และต้องแจ้งกำหนดเวลาไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้ 2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย 3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด 4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน 5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ
พ.ต.ท.มนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเรื่องการติดกำไล EM ผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออกเพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติจะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุจะเข้าเงื่อนไขยกเว้นไม่ต้องติดกำไล EM เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษกำหนดไว้