แพร่มติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'นิทัศน์ รายยวา' อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข-พวก คดีนำรถส่วนกลางสถาบันพระบรมราชชนกไปใช้โดยมิชอบ หลังพิจารณารายงานสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอฟังได้ว่ากระทําความผิดทางอาญา ส่วนวินัยโดนชี้ไม่ร้ายแรง แต่รอดเนื่องจากเกษียณอายุราชการไปแล้ว ไม่ต้องชดใช้ค่าทางด่วน 1,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา นายนิทัศน์ รายยวา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และพวก คือ นางสุพรรณ กาญจนเจตนี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ สถาบันพระบรมราชชนก นางสุกัญญา แสงรุ่งเรือง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน หัวหน้างานยานพาหนะ สถาบันพระบรมราชชนก นำรถส่วนกลางของสถาบันพระบรมราชชนกไปใช้โดยมิชอบ ทั้งที่ ได้เลือกรับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งแล้ว จึงไม่มีสิทธินำรถส่วนกลางไปใช้อีก
หลังพิจารณารายงานสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่ากระทําความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ตกไป ขณะที่นายนิทัศน์ แม้จะมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง แต่เกษียณอายุราชการเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันแล้ว สิทธิดําเนินการทางวินัยกับนายนิทัศน์ ย่อมระงับไป ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากค่าทางด่วน 1,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้กำกับดูแลสถาบันพระบรมราชชนก มีอำนาจหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของสถาบันพระบรมราชชนก รวมทั้งปกครองบังคับบัญชาผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หัวหน้างานยานพาหนะ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตให้ใช้รถส่วนกลางของสถาบันพระบรมราชชนกโดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 หัวหน้างานยานพาหนะ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันพระบรมราชชนกเป็นผู้เขียนใบขออนุญาตใช้รถส่วนกลางของสถาบันพระบรมราชชนก โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการเป็นผู้อนุญาตให้ใช้รถส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ฮธ 267 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน กต 3290 อุดรธานี หมายเลขทะเบียน นข 3537 ขอนแก่น หมายเลขทะเบียน ฮธ 266 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน นค 7108 ชลบุรี หมายเลขทะเบียน ฮจ 7025 กรุงเทพมหานคร เพื่อรับ - ส่ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไปปฏิบัติภารกิจตามสถานที่ต่าง ๆ นับตั้งแต่ที่ได้รับมอบรถส่วนกลางหมายเลขทะเบียน กต 3290 อุดรธานี จากโรงพยาบาลอุดรธานี ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 จนกระทั่งสถาบันพระบรมราชชนก ส่งมอบรถส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน กต 3290 อุดรธานี ให้แก่สำนักตรวจและประเมินผล ในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 จำนวน 26 ครั้ง รวมเป็นเงิน 15,295 บาท ซึ่งแบ่งออกเป็นค่าผ่านทางพิเศษ จำนวน 2,845 บาท และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 12,450 บาท
ทั้งที่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้มีบันทึกข้อความ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ สธ 0201.014/10 ลงวันที่ 16 มกราคม 2555 นำเรียน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขออนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งประจำปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไป ในอัตราค่าตอบแทน 31,800 บาท/คน/เดือน (1 ตุลาคม 2554 - 30 กันยายน 2555 รวมเป็นเงิน 381,600 บาท) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้อีก อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงินหรือทรัพย์สินของสถาบันพระบรมราชชนก สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเงินจำนวน 15,295 บาท
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน ดังนี้
1. จากการไต่สวนข้อกล่าวหายังฟังไม่ได้ว่า การกระทำของนายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสุพรรณ กาญจนเจตนี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสุกัญญา แสงรุ่งเรือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
2. การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละเว้นการกระทำหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 หรือฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 83 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 23 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณากรณีดังกล่าวแล้วว่าไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อไปได้ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และนับจากวันเกษียณอายุราชการเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงไม่มีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เสมือนว่ายังมิได้ออกจากราชการได้ ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการตามนัยมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
3. สำหรับความเสียหายในส่วนของค่าผ่านทางพิเศษที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้รถส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ฮธ 267 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน นข 3537 ขอนแก่น หมายเลขทะเบียน ฮธ 266 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน นค 7108 ชลบุรี หมายเลขทะเบียน ฮจ 7025 กรุงเทพมหานคร รวมเป็นเงินจำนวน 1,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งความเสียหายในส่วนนี้ยังไม่ระงับไป เห็นควรมีหนังสือแจ้งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเบิกจ่ายค่าผ่านทางพิเศษ รวมเป็นเงินจำนวน 1,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดต่อไป
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียง เห็นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทําการอันมีมูลความผิดอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่การกระทําของนายนิทัศน์รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แต่ด้วยเหตุที่นายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 และนับจากวันเกษียณอายุราชการเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา จึงไม่มีอํานาจดําเนินการทางวินัย ดําเนินการสืบสวนหรือพิจารณากับนายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เสมือนว่านายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ยังมิได้ออกจากราชการได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 100 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น สิทธิดําเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ย่อมระงับไป ดังนั้น จึงไม่ต้องส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดําเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
การกระทําของนางสุพรรณ กาญจนเจตนี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสุกัญญา แสงรุ่งเรือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะฟังได้ว่า นางสุพรรณ กาญจนเจตนี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสุกัญญา แสงรุ่งเรือง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทําความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ทั้งนี้ เนื่องจากนายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 จึงมิให้มีหนังสือแจ้งให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดําเนินการให้นายนิทัศน์ รายยวา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเบิกจ่ายค่าผ่านทางพิเศษ