คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. เห็นชอบให้ดำเนินโครงการทางด่วน 2 โครงการ วงเงินรวม 4.8 หมื่นล้าน ‘ด่วนฉลองรัชเกษตร-นวมินทร์’ เตรียมดันเข้า คจร.ก่อนก่อสร้างปี 68 ‘ด่วน 2 ชั้นงามวงศ์วาน-พระราม 9’ เปิดทางเจรจา BEM ให้เป็นคนทำ แลกขยายเวลาสัมปทานทางด่วนเดิมที่จะหมดอายุปี 2578 ออกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบให้กทพ.ดำเนินโครงการทางพิเศษ 2 สาย วงเงินรวม 48,165 ล้านบาท ดังนี้
1.ทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง6.7 กม. วงเงินลงทุน 13,665.89 ล้านบาท โดยขั้นตอนจากนี้ กทพ.จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในปี2567 และก่อสร้างในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
ทั้งนี้ บอร์ดให้กทพ.พิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างฐานรากเดิมของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งตามแนวเส้นทาง มีโครงสร้างฐานรากเสาเข็มเสาตอม่อบนถนนถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) จำนวน 75 ต้น จากฐานรากที่มีรวมทั้งหมด 281 ต้น เนื่องจากมีอายุ 25 -30 ปี ซึ่งหากสำรวจแล้ว ฐานรากยังมีความแข็งแรง ก็จะนำมาใช้งานต่อโดยเสริมความแข็งแรง ซึ่งได้กันวงเงินสำหรับดำเนินการไว้ ประมาณ 250 ล้านบาท
สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯตะวันออกเดิมคือโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอนN2 ) ในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือ ตอน N2 มี ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท ซึ่งกทพ.ได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปรับแนวเส้นทางสั้นลง เหลือระยะทาง6.7 กม. มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชกับถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกระดับซ้อนทับไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านถนนรัชดา-รามอินทรา ผ่านถนนนวมินทร์ โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษ (M9) วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก มีทางขึ้น-ลง จำนวน 4 แห่ง
แบบจำลองทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก
@เคาะทางด่วน 2 ชั้น เปิดทาง BEM เจรจาลงทุน แลกยืดสัมปทาน
ผู้ว่ากทพ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดกทพ.ยังเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมฯ และรูปแบบการลงทุนโครงการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษระยะที่ 1 ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck โดยให้เจรจา บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้ลงทุนโดยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป เนื่องจากเป็นแนวทางที่ดีที่สุดโดยกทพ.ไม่ต้องลงทุนเอง และไม่มีการการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ส่วนจะขยายระยะเวลาสัมปทานอีกกี่ปี ขึ้นอยู่กับการเจรจา
ทั้งนี้บอร์ดกทพ.ให้ดำเนินการภายใต้ระเบียบ ข้อกฎหมายและพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการมาตรา 43 พิจารณาการเจรจา และการแก้ไขสัญญาสัมปทานตามขั้นตอน โดยจะพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาและนำเสนอร่างสัญญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากนั้นจะเสนอครม.เห็นชอบต่อไป
สำหรับมูลค่าลงทุนการแก้ปัญหาจราจร บนโครงข่ายทางด่วนนอกจาก Double Deck (งามวงศ์วาน-พระราม 9) แล้ว ยังมีการทำDouble Deck ช่วงจากถนนเลียบด่วนรามอินทรา ฝั่งขาเข้า ฝั่งตรงข้ามคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เชื่อมทางพิเศษศรีรัชบริเวณ รพ.ปิยะเวท รวมถึงการขยายผิวจราจรบนทางพิเศษที่มีปัญหาคอขวดเพิ่มเติมอีก2-3 จุด อาทิ ขยายผิวจราจรบริเวณต่างระดับมักกะสัน บริเวณศรีนครินทร์ เป็นต้น ซึ่งประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 34,500 ล้านบาท
“จะขยายสัมปทานกี่ปี ต้องเจรจาก่อน ยังบอกอะไรไม่ได้เพราะอยู่ที่เจรจา เอาตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ก่อนหน้านี้ ตัวDouble Deck (งามวงศ์วาน-พระราม 9) เคยเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาขยายสัมปทาน จากกรณีคดีพิพาทค่าผ่านทาง ระหว่างกทพ.กับ BEM มีวงเงินลงทุนตอนนั้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทตอนนั้นจะให้เวลาอีก 15 ปี แต่ได้ตัดเงื่อนไขนี้ออก จึงตกลงขยายเวลาสัมปทานเฉพาะเรื่องคดีพิพาทที่ 15 ปี 8 เดือน ไปสิ้นสุดปี 2578 ซึ่งในครั้งนี้คาดว่า จะขยายเวลาออกไปมากกว่า 17 ปี โดยกทพ.จะเพิ่มงานแก้ไขจราจรบนทางด่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้ทาง” ผู้ว่ากทพ.สรุป
สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)