ผู้ว่ากทพ. เผย บอร์ดกทพ.เตรียมนัดประชุมพรุ่งนี้ (20 ก.พ. 67) พลิกวาระพิจารณา 2 ทางด่วนสำคัญ ทางด่วนฉลองรัช ช่วงประเสริฐมนูกิจ-วงแหวนตะวันออก และทางด่วน 2 ชั้น งามวงศ์วาน-พระราม 9
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ. 67) จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน วารสำคัญคือการขอความเห็นชอบดำเนินโครงการ 2 โครงการ วงเงินรวม 51,460 ล้านบาท
โครงการแรก ทางพิเศษสายฉลองรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก หรือ ตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กทพ.ได้เสนอไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว แต่เนื่องจากมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเรื่องกลับมาที่ กทพ. ปัจจุบัน กทพ.ได้สรุปรายละเอียดและการปรับแผนดำเนินงานและเปลี่ยนชื่อโครงการให้เหมาะสม โดยจะเร่งรัดโครงการในระยะที่ 1 ก่อน และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ชุดใหม่พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 67 ได้เสนอมาที่บอร์ดกทพ.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่อนุมัติ โดยมีความเห็นให้กทพ.กลับไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น สภาพความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อ ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ
“กทพ.จะปรับแผนดำเนินงานทางด่วนขั้นที่3 สายเหนือ โดยเร่งรัดเส้นทาง ฝั่งที่อยู่ในแนวถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ขณะนี้ เร่งจ้างที่ปรึกษา เพื่ออัพเดท ข้อมูลเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อ และข้อมูลต่างๆ ปริมาณจราจร และค่าก่อสร้างในปัจจุบันและสรุปได้ใน 2 เดือนเพื่อเร่งนำเสนอบอร์ดกทพ.พิจารณา”ผู้ว่าฯกทพ.กล่าว
สำหรับ เสาตอม่อ จำนวน 281 ต้น บนถนนเกษตร-นวมินทร์นั้นมีอายุ 25 ปี แล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบส่วนของฐานรากล่าสุดยังใช้ได้ โดยจะรื้อเสาออกและก่อสร้างเป็นเสาทางด่วนใหม่ และจะใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง เนื่องจาก เดิมที โครงการจะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) วงเงิน 14,374 ล้านบาทแต่ปัจจุบัน กทพ. ได้มีการปรับแผนโยกเงิน TFF ไปใช้ในทางด่วน ฉลองรัช” ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา” ซึ่งขณะนี้เตรียมจะขายเอกสารประกวดราคาแล้ว
ผู้ว่ากทพ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อีกช่วงหนึ่งคือ โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ โครงการระยะที่ 2 ส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่าง ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประเด็นช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแนวทาง ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งต้องรอสรุปการศึกษาและรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า อีกโครงการที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด กทพ.คือ โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck วงเงินประมาณ 34,500 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางด่วน หลักการขณะนี้คือ ในส่วนที่เป็นโครงข่ายที่เกี่ยวเนื่องกับทางด่วนสัมปทาน กทพ.จะไม่ลงทุนเอง โดยได้มีการเจรจากับบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ให้เป็นผู้ลงทุน โดยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป ซึ่งขณะนี้ได้ศึกษาข้อมูลและแนวทางการดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากบอร์ดกทพ.เห็นชอบแนวทางการเจรจากับ BEM ให้เป็นผู้ลงทุนแล้ว จะมีการเจรจาเพื่อปรับปรุงสัญญาสัมปทาน ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 โดยคณะกรรมการตามมาตรา 43 จะพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาและนำเสนอร่างสัญญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบต่อไป
ผู้ว่าฯกทพ.กล่าวว่า หลังบอร์ดกทพ.เห็นชอบ คาดว่าจะดำเนินการพิจารณาร่างสัญญา จนไปสู่การขออนุมัติและลงนามสัญญาสัมปทานกับ BEM ได้ภายใน 2 เดือน หรือจะสามารถลงนามต่อขยายสัญญาสัมปทานได้ภายในไตรมาสที่ 3 หรือช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 2567
ผู้ว่าฯกทพ. กล่าวว่า การเจรจากับ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานเดิม ให้เป็นผู้ลงทุน เป็นแนวทางที่ดีที่สุด และเป็นประโยชน์กับกทพ.และประชาชนมากกว่า ที่กทพ.จะไปลงทุน 3.4 หมื่นล้านบาทเอง เพราะจะมีตัวเลขค่าลงทุนทางบัญชีเพิ่มแต่รายได้ไม่เพิ่ม เนื่องจากปริมาณรถที่จะเข้ามาใช้ Double Deck ก็เป็นรถเดิมที่ใช้เส้นทางอยู่แล้ว แต่การก่อสร้างจะเป็นการลดความแออัดและ แก้รถติดในโครงข่าย ประชาชนไม่เสียค่าผ่านทางเพิ่ม ส่วนเอกชนลงทุนก็ไม่ได้ผลตอบแทนเช่นกันแต่กทพ.เอาเวลาสัมปทานไปแลก ก็เป็นความคุ้มค่าของเอกชน
“จะขยายกี่ปีขอรเจรจาให้ยุติชัดเจนก่อน โดยต้องประเมินทั้งค่าลงทุน ปริมาณจราจร สุดท้ายหากสรุปขยายไปอีกกี่ปี จะต้องสามารถชี้แจงตอบสังคมได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่องโครงการ Double Deck เดิมช่วงที่มีการเจรจาขยายสัมปทาน จากกรณีคดีพิพาทค่าผ่านทาง ระหว่างกทพ.กับ BEM นั้น ส่วนของ Double Deck หากเอกชนก่อสร้าง ตอนนั้นจะให้เวลาอีก 15 ปี วงเงินลงทุนตอนนั้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่ได้ตัดเรื่องนี้ออก จึงเหลือการขยายเวลาเฉพาะเรื่องคดี ที่ 15 ปี 8 เดือน“ ผู้ว่ากทพ.สรุป
ที่มาภาพปก: Facebook อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย