เผย ‘จุลพันธ์’ มีกำหนดเดินทางไปพบ ‘นักลงทุน’ ที่ ‘ฮ่องกง’ เร็วๆนี้ ชี้แจงแผนการออก ‘พันธบัตรรัฐบาล’ ในสกุลเงินตราต่างประเทศ ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ‘วงใน’ คาดอาจเกิดยาก เหตุ ‘ดอกเบี้ยสหรัฐสูง-กู้ในประเทศถูกกว่า’
..........................................
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในเร็วๆนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มีกำหนดจะเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนต่างประเทศที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เพื่อชี้แจงนักลงทุนเกี่ยวกับการออกพันธบัตรรัฐบาล ในสกุลเงินต่างประเทศ โดยขนาดของการออกพันธบัตรรัฐบาลฯ ที่เหมาะสมจะกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท
“หากจะดำเนินการจริง กระทรวงการคลังจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณ และ สศช. (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เพื่อพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมจะใช้จ่ายเงินและมีการใช้เงินตราต่างประเทศ โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 22” แหล่งข่าวระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติว่า “การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินอย่างชัดเจนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การออกพันธบัตรรัฐบาลฯในสกุลเงินต่างประเทศ มีข้อดี เช่น เป็นการสร้าง Benchmark ให้กับภาคเอกชนที่ประสงค์จะไปกู้เงินจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรรัฐบาลฯในสกุลเงินต่างประเทศน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงมาก ในขณะที่การกู้เงินในประเทศมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ถูกกว่ามาก
“นาทีนี้ (การออกพันธบัตรรัฐบาลฯในสกุลเงินต่างประเทศ) น่าจะเกิดยาก เพราะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับที่สูงมาก กู้ในประเทศถูกกว่าเยอะ” แหล่งข่าวย้ำ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเสนอขายพันธบัตรรัฐบาล สกุลเงินตราต่างประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพื่อระดมทุนในตลาดโลกในวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยกับสื่อว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ต้นทุน ผลประโยชน์ รวมถึงขั้นตอนอื่นๆ เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศ ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยวัตถุประสงค์ในการออกพันธบัตรดังกล่าว เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงให้กับภาคธุรกิจที่ไปออกหุ้นกู้หรือระดมทุนในต่างประเทศ
“อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 4.24% ขณะที่พันธบัตรในรุ่นอายุเดียวกันของไทย อยู่ที่ 2.55% ส่วนพันบัตรรัฐบาลจีนอยู่ 2.43% ต้นทุนรวมในการออกพันธบัตรของไทย ในสกุลเงินอื่น ๆ รวมถึงสกุลเงินเยนจะสูงกว่าต้นทุนการออกเป็นสกุลเงินอื่นๆ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมต่างๆ” นายพชรระบุ
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุว่า ความพยายามผลักดันแผนดังกล่าว เพื่อระดมเงินผ่านกองทุนทั่วโลก มาใช้ในโครงการด้านความยั่งยืน
ปัจจุบันตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกโดยรัฐบาลไทย มีสัดส่วนเพียง 1.8% ของทั้งหมด โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินกู้จากหน่วยงานระดับพหุภาคี ขณะที่กรอบวงเงินกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท (6.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบฯ 2567