เผยมติ ป.ป.ช.เสียงเอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร' รองเลขาธิการ ป.ป.ส. สมัยเป็นพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์ตู้ของกลางในคดีพิเศษ โดยมิชอบ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นในทางอาญาไม่มีมูล ส่วนความผิดทางวินัย ถือตามเสียงข้างมากให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2567 เสียงเอกฉันท์ตีตกกล่าวหา นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ป.ป.ส.) ดำเนินการเกี่ยวกับรถยนต์ตู้ของกลางในคดีพิเศษที่ 146/2558 โดยมิชอบ
หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ส่วนความผิดทางวินัย ถือตามเสียงข้างมากง ข้อกล่าวหาในทางวินัยไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป ว่า เมื่อได้รับมอบรถยนต์ตู้จากผู้ครอบครองแล้ว นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่146/2558 ไม่ได้ออกหลักฐานการรับมอบรถยนต์ตู้หรือลงนามรับมอบรถยนต์ตู้ ไม่ได้ลงสมุดบัญชียึดทรัพย์ของกลางของสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และส่งมอบรถยนต์ตู้คันดังกล่าวให้ส่วนควบคุมผู้ต้องหาและรักษาของกลาง ตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางคดีพิเศษ พ.ศ. 2553 ข้อ 3 และ 4 ไม่จัดทำบัญชีของกลางคดีอาญารวบรวมไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 139 และไม่ได้รายงานผลการปฏิบัติการยึดของกลางให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป แล้วนำรายงานดังกล่าวรวมเข้าไว้ในสำนวน ตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 14 ไม่ได้ระบุหรือกล่าวถึงการยึดหรือรับมอบรถยนต์ตู้ดังกล่าวไว้เป็นของกลางไว้ในรายงานการสอบสวน และไม่ได้เสนอความเห็นให้พนักงานอัยการฟ้องริบรถยนต์ตู้ของกลางดังกล่าว เป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่สามารถมีคำขอต่อศาลให้ริบรถยนต์ตู้ดังกล่าวซึ่งเป็นของกลางได้ และคืนรถยนต์ตู้ดังกล่าวให้แก่มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์ตู้ดังกล่าวอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงิน เป็นเหตุให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไม่อาจดำเนินการใดๆ กับรถยนต์ตู้ดังกล่าวได้ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ คดีพิเศษที่ 146/2558 ในการประชุมครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ซึ่งมีนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร เข้าร่วมประชุมและเป็นผู้ตรวจรายงานการประชุม ได้พิจารณาประเด็นที่ 3 กรณีการยึดอายัดรถตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น COMMUTER 3.0 รุ่นปี 2015 หมายเลข ถ 6605 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน - เลขตัวถัง MMKST22P205104346 1KDU723162 ว่านางสาวต่วนซารานีฯ ได้บริจาครถตู้ดังกล่าวให้กับมูลนิธิศรัทธาชน ปัจจุบันรถคันดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของมูลนิธิศรัทธาชน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อาจได้มาจากการกระทำความผิด เนื่องจากได้มาระหว่างเกิดเหตุนี้ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ยึดอายัดรถรถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น COMMUTER 3.0 รุ่นปี 2015 หมายเลข ถ 6605 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน - เลขตัวถัง MMKST22P205104346 1KDU723162 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่นางสาวต่วนซารานีฯ บริจาคให้มูลนิธิศรัทธาชนฯ ในช่วงเวลาเกิดเหตุคดีนี้ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด โดยให้ฝ่ายเลขาฯ ประสานมูลนิธิศรัทธาชนฯ ให้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษโดยเร็ว
ต่อมาสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 โดยพันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ได้มีหนังสือสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ที่ ยธ 0810.3/2056 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ถึงประธานกรรมการมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ให้ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมอบหมายให้นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 146/2558 เป็นผู้ประสานงาน หลังจากนั้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 มูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า โดยร้อยตำรวจเอก พรชัย ไวยศิลป์ ประธานมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้าได้มีหนังสือมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ที่ ศศด 70/2559 ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยมอบหมายให้นายสุภาพ เรืองปราชญ์ เป็นผู้ส่งมอบ ซึ่งนายสุภาพ เรืองปราชญ์ ได้ขับรถยนต์ พร้อมทั้งส่งมอบหนังสือมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ที่ ศศด 70/2559 ดังกล่าวให้แก่นายปิยะศิริ วัฒรวรางกูร แต่นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ไม่ได้ออกหลักฐานการรับมอบรถยนต์ตู้หรือลงนามรับมอบรถยนต์ตู้จากนายสุภาพ เรืองปราชญ์ แต่อย่างใด
เมื่อนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้รับมอบรถยนต์ตู้คันดังกล่าวก็ไม่ได้ลงสมุดบัญชียึดทรัพย์ของกลางของสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 และส่งมอบรถยนต์ตู้คันดังกล่าวให้ส่วนควบคุมผู้ต้องหาและรักษาของกลาง ตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางคดีพิเศษ พ.ศ. 2553 ข้อ 3 และ 4 ไม่จัดทำบัญชีของกลางคดีอาญารวบรวมไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 139 และไม่ได้รายงานผลการปฏิบัติการยึดของกลางให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป แล้วนำรายงานดังกล่าวรวมเข้าไว้ในสำนวน ตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 14 อีกทั้งไม่ได้ระบุหรือกล่าวถึงการยึดหรือรับมอบรถยนต์ตู้ดังกล่าวไว้เป็นของกลางไว้ในรายงานการสอบสวน
ต่อมานายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้สรุปรายงานการสอบสวนและเสนอสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 146/2558 พร้อมความเห็นทางคดีควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 - 6 ในความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น สำหรับความผิดฐานฟอกเงินนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้ขอแยกเรื่องเพื่อสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป และไม่ปรากฏว่านายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้เสนอความเห็นให้พนักงานอัยการฟ้องริบรถยนต์ตู้ดังกล่าวแต่อย่างใด ต่อมากองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีหนังสือที่ ยธ 0812.4/2396 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 146/2558 ไปยังสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีหนังสือที่ อส 0010.4/58 ลงวันที่ 17 มกราคม 2561 แจ้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่ามีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุภาพ เรืองปราชญ์ ผู้ต้องหาที่ 3 นายลุตฟี สะอิ ผู้ต้องหาที่ 4 นางเอมอร ยอดรักษ์ ผู้ต้องหาที่ 5 และนางสาวปริสนา สุลัยหมัด ผู้ต้องหาที่ 6 ซึ่งพันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะนั้นก็ได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องดังกล่าวและได้แจ้งไปยังสำนักงานคดีพิเศษ ตามหนังสือกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ ยธ 0816/307 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2561
ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้มีหนังสือที่ อส 0010.4/344 ลงวันที่ 26 เมษายน 2561 แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อย่างไรก็ตามระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ร้อยตำรวจเอก พรชัย ไวยศิลป์ ประธานมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2561 ไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและปลัดกระทรวงยุติธรรม ขอให้ส่งมอบรถยนต์ตู้คืน เนื่องจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุภาพ เรืองปราชญ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการดังกล่าว ซึ่งต่อมาพันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร คืนรถตู้ดังกล่าวให้กับมูลนิธิศรัทธาชน ตามบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ ยธ 0801.5/306 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้ส่งมอบรถยนต์ตู้ดังกล่าวคืนให้แก่ร้อยตำรวจเอก พรชัย ไวยศิลป์ ประธานมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า แล้ว ตามบันทึกส่งคืนรถยนต์ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ซึ่งปรากฏข้อความตามบันทึกส่งคืนรถยนต์ว่ารถยนต์อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ชำรุดบกพร่อง สภาพพร้อมใช้งานได้ตามปกติ และในระหว่างที่รถยนต์อยู่ในความครอบครองของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มิได้กระทำการใดๆ ให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพกับทรัพย์สินแต่อย่างใด ซึ่ง ร้อยตำรวจเอก พรชัย ไวยศิลป์ ผู้รับมอบรถยนต์ ก็ได้ลงนามในบันทึกส่งคืนรถยนต์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามคดีพิเศษ 146/2558 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นความผิดตามพระราช-กำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด อันจะเป็นของกลางในคดี คือเงินจากผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมลงทุนตามการหลอกลวง ดังนั้น รถตู้ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น COMMUTER 3.0 รุ่นปี 2015 หมายเลข ถ 6605 กรุงเทพมหานคร หมายเลขทะเบียน - เลขตัวถัง MMKST22P205104346 1KDU7213162 จึงมิใช่ของกลางในคดีพิเศษที่ 146/2558 ดังกล่าว แต่อาจเป็นของกลางในคดีความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเปลี่ยนสภาพของเงินสดที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐาน (ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527) ที่มีลักษณะปกปิดแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งในเรื่องนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการสืบสวนเกี่ยวกับรถตู้ดังกล่าวเป็นเรื่องสืบสวนที่ 163/2562 และเรื่องสืบสวนที่ 47/2563 ซึ่งผลปรากฏว่าการที่มูลนิธิรับบริจาครถยนต์ดังกล่าวยังไม่มีลักษณะซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน
พฤติการณ์ยังไม่เข้าข่ายที่จะอยู่ในอำนาจการสอบสวนตามพระราชบัญญัติกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีคำสั่งให้ยุติการสอบสวนในทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563
ทั้งนี้ รถตู้ดังกล่าวไม่ใช่ของกลางในเรื่องสืบสวนที่ 163/2562 และเรื่องสืบสวนที่ 47/2563 แต่อย่างใด เนื่องจากในเรื่องสืบสวนเป็นการดำเนินการเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งการให้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งไม่มีประเด็นว่ามีการกระทำความผิดหรือบริสุทธิ์ของผู้ใดหรือสิ่งใดหรือไม่ ดังนั้น
สิ่งของที่ถูกตรวจสอบในชั้นสืบสวนจึงไม่ใช่ของกลาง อีกทั้ง สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 (หน่วยงานที่รับผิดชอบในขณะนั้น ปัจจุบันคือกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ) ได้มีหนังสือสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ที่ ยธ 0810.3/458 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2560 รายงานคดีเบื้องต้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ข้อ 4 ต่อมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้มีหนังสือ ที่ ปง 0014.4/2965 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 แจ้งผลการดำเนินการรายนางสาวต่วนซารานี เจะอูเซ็น กับพวก ว่า สำนักงาน ป.ป.ง. ได้ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่แล้ว พบว่าทรัพย์สินบางรายการไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดและบางรายการเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพียงเล็กน้อย การดำเนินการต่อไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ จึงพิจารณาไม่ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ดังนั้น เมื่อรถตู้คันดังกล่าวไม่ใช่ของกลางในคดีพิเศษที่ 146/2558 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงไม่ต้องลงสมุดบัญชียึดทรัพย์ของกลางและส่งมอบทรัพย์ที่ยึดไปยังส่วนควบคุมผู้ต้องหาและรักษาของกลาง ตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการเก็บรักษาของกลางคดีพิเศษ พ.ศ. 2553 ข้อ 3 และ 4 แต่สามารถเก็บรักษาทรัพย์ไว้ในที่ใดก็ได้ตามความเหมาะสม ไม่ต้องจัดทำบัญชีของกลางเพื่อรวบรวมไว้เป็นหลักฐานในสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 และไม่ต้องระบุหรือกล่าวถึงการยึดหรือรับมอบทรัพย์ไว้เป็นของกลางในรายงานการสอบสวน เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าทรัพย์ที่ยึดมานั้นเป็นของกลางในคดีพิเศษ
สำหรับเหตุที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจเรียกหรือยึดรถตู้จากมูลนิธิศรัทธาชนทั้งที่ยังมิใช่ของกลางในคดีพิเศษ นั้น เนื่องจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจเรียกหรือยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาตรวจสอบก่อนว่าทรัพย์สินนั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ หรือเป็นของกลางในคดีพิเศษหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
สอดคล้องกับคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 960/2563 เรื่อง แนวทางการจัดการทรัพย์สินที่มีการยึดหรืออายัดตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นว่าไม่เป็นของกลางในคดีพิเศษ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่กำหนดให้กรณีที่หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ได้รับมอบหมายพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่สิ่งของหรือทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด ได้มาโดยการกระทำผิด ได้ใช้ หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคืนแก่ผู้มีสิทธิโดยเร็ว อันแสดงให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์เพื่อมาตรวจสอบก่อนว่าเป็นของกลางในคดีพิเศษหรือไม่
สำหรับการออกหลักฐานการรับมอบทรัพย์จากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์จากการใช้อำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นั้น ในทางปฏิบัติจะมี 2 วิธี คือ 1. กรณีไปยึดทรัพย์ ณ ที่เกิดเหตุ จะมีการจัดทำบันทึกการยึดทรัพย์เพื่อเป็นหลักฐานว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยึดทรัพย์ใดบ้าง และให้เจ้าของทรัพย์หรือพยานในที่เกิดเหตุลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว และ 2. คือ กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือเรียกให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนำทรัพย์มาส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งในกรณีนี้ผู้ส่งมอบทรัพย์จะมีหนังสือส่งมอบพร้อมนำทรัพย์มาส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องมีการลงในทะเบียนรับหนังสือส่งมอบดังกล่าวตามระเบียบสารบรรณ โดยผู้รับมอบไม่จำเป็นต้องออกหลักฐานหรือหรือลงนามรับมอบทรัพย์ดังกล่าว โดยหนังสือส่งมอบนั้นถือว่าเป็นหลักฐานในทางคดีว่าได้มีการนำยึดและส่งมอบรถแล้ว เว้นแต่กรณีที่ผู้ส่งมอบไม่ได้จัดทำหนังสือส่งมอบ ผู้รับมอบจะต้องออกหลักฐานหรือลงนามรับมอบทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโดยปกติจะดำเนินการโดยลงนามในสำเนาหนังสือเรียกให้ส่งมอบทรัพย์
สำหรับกรณีตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 14 ที่ระบุไว้ว่าให้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 24 ดังกล่าว เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปนั้น ในทางปฏิบัติจะเป็นการรายงานการตรวจสำนวนสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาทุกเดือนซึ่งครอบคลุมการดำเนินการการใช้อำนาจตามมาตรา 24 ตามข้อบังคับดังกล่าวแล้ว
ส่วนกรณีที่ต้องส่งมอบทรัพย์ที่ยึดต่อคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษนั้น ไม่มีระเบียบกำหนดให้ดำเนินการดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติเมื่อมีหลักฐานการรับมอบทรัพย์ปรากฏในสำนวนการสอบสวนและได้รายงานการตรวจสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว ก็ถือว่าเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษรับทราบถึงการส่งมอบทรัพย์ที่ยึดแล้ว ซึ่งในคดีพิเศษที่ 146/2558 ก็ได้ปรากฏหนังสือส่งมอบรถตู้ดังกล่าวในสำนวนการสอบสวนและมีการรายงานการตรวจสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว
กรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วว่าทรัพย์ที่ใช้อำนาจในการยึดหรืออายัดตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นั้น ไม่ใช่ของกลางในคดีพิเศษจะดำเนินการดังนี้
1. เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อดำเนินการเป็นเรื่องอื่น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสืบสวนหรือเป็นคดีพิเศษ ซึ่งแล้วแต่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะสั่งการ
2. หากพบว่าทรัพย์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น เช่น กรมศุลกากรหรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ก็จะส่งมอบทรัพย์นั้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ส่งคืนเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์
ทั้งนี้ มีแนวปฏิบัติในช่วงปี 2559 กรณีเห็นว่าทรัพย์นั้นไม่ใช่ของกลางในคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษต้องจัดทำบัญชีแยกจากบัญชีของกลางและแนบบัญชีดังกล่าวพร้อมสำนวนการสอบสวนแต่ไม่มีระเบียบหรือกฎหมายใดกำหนดให้ดำเนินการดังกล่าว
สำหรับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 นั้น จะเปลี่ยนสถานะเป็นของกลางต่อเมื่อได้มีการสอบสวนจนสิ้นกระแสความว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่สามารถพิสูจน์ความผิดในคดีที่สอบสวนอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องมีการประชุมพิจารณาและลงมติว่าเป็นของกลาง โดยในทางปฏิบัติจะระบุไว้ในรายงานการสอบสวนว่าทรัพย์ชิ้นใด เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดข้อหาใด กรรมใด และหากผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ ก็สามารถสั่งการให้แก้ไขหรือดำเนินการเพิ่มเติมได้ทันที หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าทรัพย์ใดเป็นของกลาง ก็จะสั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนไปดำเนินการให้เป็นของกลาง
ส่วนประเด็นว่าเมื่อนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ได้รับมอบรถยนต์ตู้ดังกล่าวจากผู้ครอบครองและนำไปจัดเก็บแล้ว มีผู้ใดนำรถคันดังกล่าวออกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ นั้น กรณีดังกล่าว มีการเก็บรถตู้คันดังกล่าวไว้ที่อาคารจอดรถของศูนย์ราชการอาคารบี และไม่ปรากฏว่ามีการนำรถคันดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และไม่ปรากฏเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษแต่อย่างใด มีเพียงกรณีที่พันตำรวจโท พเยาว์ ทองเสน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้รายงานพฤติการณ์กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 146/2558 ตามคำสั่งสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ที่ 177/2558 ว่า ได้ยึดรถตู้ของมูลนิธิศรัทธาชนเพื่อการศึกษาและเด็กกำพร้า โดยไม่มีการจัดทำบันทึกการตรวจยึดหรือบัญชีของกลาง ไม่มีการส่งมอบรถให้กับคณะพนักงานสอบสวนคดีและไม่ได้ยึดไว้เป็นของกลางในคดี ซึ่งต่อมากระทรวงยุติธรรมพิจารณารายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า กรณีไม่มีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย จึงให้ยุติเรื่อง ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 6
เสียงข้างมาก 4 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
เสียงข้างมาก 1 เสียง เห็นว่าการยึดรถตู้ดังกล่าวที่ไม่ใช่ของกลางในคดี ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่มีหน้าที่และอำนาจ และขาดความเหมาะสม แต่จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนากระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ ฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1)(2)(3) และมาตรา 83(3)
ผลสรุปมติที่ประชุม
1. ความผิดทางอาญา มติเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
2. ความผืดทางวินัย ถือตามเสียงข้างมาก 4 เสียง ข้อกล่าวหาในทางวินัยไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป