'สัญญา' สส.นครสวรรค์ รวมไทยสร้างชาติ ตั้งกระทู้ถาม รมว.สธ. ข้องใจกฎกระทรวงยาบ้า 5 เม็ด ทำให้หาซื้อได้ง่าย ด้าน 'ชลน่าน' เผยที่มาพิจารณาข้อมูลแพทย์ประกอบ ข้อสรุปมาจากหลายฝ่ายร่วมกัน มั่นใจระบบบำบัด คืนโอกาสผู้เสพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ตั้งกระทู้ถาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ถึง ประเด็นกำหนดปริมาณยาเสพติดยาบ้าเป็นผู้เสพ เนื่องจากกระแสสังคมขณะนี้ถกเถียงกันรุนแรงถึงกฎกระทรวงดังกล่าว ว่า ยาบ้าเป็นยาเสพติด ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในปัจจุบัน แทบทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนจะมียาบ้าเข้าไประบาด การออกกฎกระทรวงดังกล่าว มีทั้งผู้คัดค้าน ทักท้วงชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ต่างๆ โดยเฉพาะ เป็นห่วงว่า เยาวชนจะเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายหรือไม่
"ยาบ้าในปัจจุบันซื้อขายได้อย่างสะดวกสบาย จากการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว ทำให้การค้าขายครึกครื้นคึกคัก เพราะลูกค้าสั่งมากขึ้น เป็นประเด็นที่สะท้อนมาว่า การออกกฎกระทรวงลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่ นอกจากนั้น มีความเป็นห่วงเรื่องการบำบัด ผู้ที่เคยเป็นผู้เสพ เป็นห่วงว่าการบำบัดจะสามารถ บำบัดได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน มีสถานที่รองรับมีความพร้อมหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญเหล่านี้สังคมอยากรู้" นายสัญญา กล่าว
นายสัญญา ถามคำถามที่ 1 ว่า อยากทราบเหตุผล ที่มาและกระบวนการต่างๆ ที่ได้กำหนดปริมาณยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ เพื่อเสพอยากให้สาธารณสุขได้อธิบายเหตุผลที่มาที่ไปให้ได้ทราบ คำถามที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขมีตัวชี้วัดที่กำหนดว่าเสพยาบ้า 5 เม็ดส่งผลต่อจิตประสาทก็มีคำถามว่าแล้วในกรณีที่เขาเสพทุกวันวันละเม็ด 2 เม็ด จะมีผลต่อจิตประสาทหรือไม่ จำนวน 5 เม็ดจะตอบโจทย์หรือไม่ รวมถึง สถานที่บำบัดมีความพร้อมไหน และการติดตามผู้ที่ได้รับการบำบัดมีแผนงานอย่างไรบ้าง
นายสัญญา กล่าวว่า ขอฝากพวกผู้ค้ายาบ้าอย่าเข้าใจผิด มี 5 เม็ดก็มีความผิด จากที่ฝังรมว.สาธารณสุขชี้แจงขอให้ผู้ค้าเข้าใจใหม่ครอบครองกี่เม็ดก็มีความผิด อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยในการคิดบวกคคืนผู้ติดยาสู่สังคม พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดยาก็เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะไม่อยากให้ลูกหลานของตนเสียคนไปมากกว่านี้ แต่ยังมีปัญหาด้านลบที่เราต้องตั้งข้อสังเกตไว้คือ ในกรณีที่เราดูผลดีผลเสียในการใช้กฎกระทรวงดังกล่าว แต่กรณีไปส่งเสริมผู้ค้าหรือการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ กฎกระทรวงดังกล่าว จะสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้หรือไม่
'ชลน่าน' แจงที่มากฎ 'ยาบ้า 5 เม็ด' พิจารณาข้อมูลทางการแพทย์ประกอบ-มั่นใจระบบบำบัด
นพ.ชลน่าน กล่าวชี้แจงถึงที่มาของการประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวว่า เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 วรรคสอง เขียนถึงการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ประเภท 2 หรือปริมาณเล็กน้อยตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ จึงต้องออกกฎกระทรวงรองรับ ให้โอกาสกับผู้ที่หลงผิด กลับเนื้อกับตัวเป็นคนดีด แยกผู้เสพออกจากผู้ค้า
"ปัจจุบันมีผู้ใช้ผู้เสพผู้ติด 1.9 ล้านคน หากเราไม่แก้ปัญหาคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่เลวร้ายหนักหนาสาหัสผันตนเองไปเป็นผู้ค้า หากมีครอบครองไว้ไม่เกินกำหนดให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่ามีไว้เพื่อเสพ ต้องเข้าสู่การบำบัดรักษา ไม่ต้องรับโทษ" นพ.ชลน่าน ระบุ
ในส่วนเรื่องการกำหนดปริมาณ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ส่วนใหญ่เป็นกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด มี รมว.สธ. เป็นประธาน ประกอบด้วย ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ทหาร ตำรวจ และอัยการร่วมกันพิจารณา โดยมีข้อสรุปว่า ยาบ้าอยู่ที่ 5 เม็ด หรือ 5 หน่วย ใช้น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ถือเป็นผู้เสพ และเมื่อพิจารณาเหตุผลหลายด้านประกอบกัน ทั้งเหตุผลทางการแพทย์ โดยใช้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดเป็นตัวชี้วัดทางการแพทย์ หากมีผู้เสพยาบ้าในปริมาณที่เกิน 5 เม็ด จะเริ่มมีอาการทางจิต หวาดระแวง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หากกำหนดให้ครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ก็จะเข้าสู่การบำบัดได้ก่อน
นพ.ชลน่าน กล่าวเน้นย้ำว่า นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ต้องการลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องยาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ประกาศยุทธศาสตร์ 'ปลุก เปลี่ยน ปราบ' โดย สธ.ได้นำมาใช้เป็นนโยบายที่จะต้องแล้วเสร็จภายใน 100 วัน กำหนดให้มีสถานบำบัดยาเสพติดกระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน มีมินิธัญญารักษ์อยู่ 153 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีสถานบำบัดที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน รองรับการบำบัดโดยไม่ต้องนำคนออกจากชุมชน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการร่วมกับ 5 เสือในชุมชน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายทหาร ตำรวจ สาธารณสุข และฝ่ายท้องถิ่น โอบอุ้มชุมชนล้อมรักษ์ได้ดำเนินการแล้ว 100 ชุมชน และอีก 200 อำเภอทั่วประเทศ ครอบคลุม 31 จังหวัดรับไปดำเนินการแล้ว มั่นใจว่าสถานที่บำบัดมีความพร้อมโดยเฉพาะชุมชนบำบัด มั่นใจว่าทำสำเร็จได้แน่นอน โดยใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน และติดตามผลต่ออีก 1 ปี