กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงการพักโทษของ ‘ทักษิณ’ ไม่ต้องติดกำไล EM เพราะอายุเกิน 70 มีอาการเจ็บป่วยและไม่พบพฤติกรรมที่จะทำผิดซ้ำได้ ขณะที่การปล่อยตัวหากรับโทษมาเกิน 6 เดือน วันถัดไปปล่อยตัวได้เลย ส่วนถ้าติดเสาร์-อาทิตย์ หากประสานและคุมประพฤติแล้ว ก็ปล่อยตัวในวันดังกล่าวได้เช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า แนวทางการพักโทษของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามหลักการคือเมื่อรับโทษมาแล้วครึ่งปี หรือเท่ากับ 6 เดือน หลังจากครบ 6 เดือนแล้ว วันถัดไปจะเป็นวันปล่อย
ส่วนแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ จะต้องประสานกับหลายส่วน เนื่องจากผู้ต้องขังมีอยู่ทั่วประเทศ หากได้รับการพักโทษแล้วติดวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ได้ประสานกับคุมประพฤติไว้แล้ว ก็สามารถปล่อยตัวในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้เลย แต่ถ้าบางที่หากคุมประพฤติยังไม่พร้อมอาจต้องไปปล่อยตัวในวันปกติ
ทั้งนี้ ในการพักโทษไม่จำเป็นต้องรายงานต่อศาล เพราะผู้ต้องขังยังอยู่ในคำพิพากษาของศาล และกรมราชทัณฑ์ยังคงปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จึงไม่ต้องขอหมายปล่อยจากศาล แต่เป็นการพักโทษในรูปแบบที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ สามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้
สำหรับช่วงเวลารับโทษที่เหลืออยู่ตามคำพิพากษาของศาล เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดว่า ผู้ที่ได้รับการพักโทษ จะต้องปฏิบัติอย่างไร มีข้อห้ามอย่างไร และมีข้อที่จะต้องพึงระวังอย่างไร รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ คุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดให้กับผู้ที่ได้รับการพักโทษได้ทราบถึงแนวปฏิบัติ
นายสหการณ์ ยังกล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตามมติของกรรมการซึ่งระบุว่า ผู้ที่เจ็บป่วยพิการอายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ต้องติดกำไล EM เพราะถือว่าอยู่ในเงื่อนไขที่มีการประเมิน และมีข้อมูลยืนยันว่า คนในกลุ่มนี้ไม่เคยทำผิดซ้ำ พร้อมยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด