'ชลน่าน'พร้อมหารือทางออกร่วม เครือข่ายยูฮอสเน็ต (UHosNet) 14 ก.พ.นี้ ปม สปสช.ติดค้างเบิกจ่ายทำขาดทุน ส่วนคลินิกอบอุ่นขอหวนใช้แบบเหมาจ่ายรายหัวแทนรายบริการ ยันไม่กระทบ 30 บาทรักษาทุกที่เฟสสอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น ออกมาเรียกร้องถึงปัญหาขาดสภาพคล่อง จากปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีการเดินทางมายื่นหนังสือวันที่ 14 ก.พ.นี้ ว่า ต้องขอดูข้อเสนอของทาง UHosNet และทางเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นก่อน ซึ่งเรื่องนี้ตนก็เคยไปพบ เพื่อรับฟังปัญหาเรื่องการจัดบริการและค่าใช้จ่าย ก็มีการนำเสนอมาหลายเรื่อง จึงบอกว่าขอให้นำเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ตนในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จะได้เอาเข้ามาพิจารณาในรูปของกรรมการ ทั้งอนุกรรมการหรือบอร์ดใหญ่ ทราบว่าจะมายื่นวันที่ 14 ก.พ.นี้ก็จะรายละเอียด
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการหารือถึงข้อปัญหาที่ติดขัด ว่า แยกเป็นสองส่วน คือ 1.กลุ่ม UHosNet ให้บริการระดับสูง Excellence Center โรคเฉพาะด้านเฉพาะทาง ที่เสนอมาคือค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุนการให้บริการ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่ สปสช.คิดให้ จึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจาก สปสช.ให้ค่าใช้จ่ายต่อ 1 หน่วยบริการ (AdjRW) อยู่ที่ 8,350 บาท ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ 1.3 หมื่นกว่าบาทหรือมากกว่า ต้นทุนจึงต่ำมาก ทำให้เขาแบกรับภาระ และการกำหนดวิธีการจ่าย เป็นแบบปลายปิด หมดแล้วคือหมดเลย วิธีการคิดก็มีผลย้อนกลับมา อย่างที่ให้ 1 หน่วย พอเงินหมดแล้วก็เหลือ 0.7 หน่วย เป็นต้น
และ 2.คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ใช้รูปแบบการจ่ายแบบโมเดล 5 หรือจ่ายตามรายการจ่ายจริง (Fee Schedule) ก็เรียกร้องว่าน่าจะกลับไปใช้วิธีการจ่ายแบบโมเดล 2 เหมือนเดิม คือการเหมาจ่าย ตามจำนวนผู้ใช้บริการในเขตที่รับผิดชอบ ที่ทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลทั้งการส่งเสริมป้องกัน รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสภาพ
ส่วนประเด็นที่สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นมีการเรียกร้องโดยการขึ้นป้าย จะส่งผลต่อประชาชนผู้รับบริการหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าเขาปฏิเสธดูแลผู้รับบริการก็ถือว่าส่งผล แต่น่าจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารมากกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องพูดคุยหรือไม่ และอาจส่งผลกระทบต่อนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในการรับบริการ เพราะมีการพูดเหมือนว่า สปสช.ไม่มีเงินจ่าย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องหารือแน่นอน แต่เราต้องยอมรับวิธีคิดการคำนวณเม็ดเงินต่อหัวประชาชนผู้มีสิทธิ ว่ามีวิธีคิดแบบนั้น ภายใต้สมมติฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริงของต้นทุนด้านสุขภาพที่คิดแบบนั้น และลักษณะเม็ดเงินเป็นแบบก้อนรวม เวลามากระจายออกไปตามรายการจ่าย ในส่วนของงบยูซีเหมาจ่ายรายหัว และไม่ใช่ยูซี ก็จะมีภาพการกระจายเม็ดเงินออกไป แน่นอนว่าระบบประกันทุกคนต้องมีส่วนร่วมเฉลี่ยทุกเฉลี่ยสุข คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย วิธีการคิดระบบประกันต้องคิดให้สอดคล้อง ไม่มีกำไรแน่นอน แต่ทำอย่างไรให้อยู่ได้ไม่ขาดทุน
"จะเคลียร์แล้วเสร็จเมื่อไรตอบไม่ได้ แต่เป็นประเด็นที่ต้องหารือพูดคุยกัน เพราะเราจะเข้าสู่ระบบบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ เรื่องการจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีผลมากต่อการเข้าร่วมโครงการของภาคเอกชน ถ้าสมเหตุสมผลอยู่ได้ก็เข้าร่วมโครงการ เราก็สามารถเปิดช่องให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก ลดความแออัดได้มากขึ้น" นพ.ชลน่านกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สปสช.ต้องเคลียร์ให้แล้วเสร็จก่อนขับเคลื่อนเฟส 2 บัตรประชาชนใบเดียวหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ก็คงต้องทำควบคู่ไป เฟสสองเราจะไม่หยุดยั้งเพราะเรื่องนี้ เพราะเฟสหนึ่งที่ทำมาก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่คำนึงว่าจะเปิดช่องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความพร้อม ระบบมีความพร้อมอย่างไร ป้องกันปัญหาแทรกซ้อน ระบบรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ก่อนหน้านี้ รพ.สังกัด สธ.ก็มีปัญหาสถานะการเงิน ได้มีการตรวจสอบสถานะการเงินในช่วงนี้ด้วยหรือไม่ว่าเป็นเช่นไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่แตกต่าง เพราะวิธีคิดใกล้คเยงกันในค่าบริการ ที่จ่ายตามลักษณะงานหน่วยน้ำหนัก ก็มีภาพใกล้เคียงกัน แต่ของเราเป็นลักษณะเนื้อใน แยกเงินเป็นสองส่วน การบริหารจัดการของ สธ.ก็ก้อนหนึ่ง และเงินกองทุนเหมาจ่ายรายหัวเป็นภาคบริการ ส่วนสถานะเงินบำรุง รพ.ที่วิกฤตระดับ 6-7 ยังไม่เห็นมีรายงานเข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 3 เป็น รพ.ขนาดเล็ก ซึ่งเรามีแนวทางการแก้ปัญหา 1 จังหวัด 1 รพ. ที่ไหนมีปัญหาควรช่วยเหลือเกลี่ยกัน ไมได้หมายความว่าเงินบำรุงของ รพ.นี้ต้องเป็นของ รพ.นี้อย่างเดียว หากอีกแห่งเดือดร้อนก็สามารถถัวเฉลี่ยกัน
นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกรณีการแก้ปัญหา UHosNet เพราะไม่มีรูปแบบอย่าง สธ. ว่า รพ.ของ UHosNet เป็นการรับส่งต่อ ไม่ได้ดูแลในมุมของการส่งเสริมป้องกัน ดูแลแค่สองมิติคือการรักษาและฟื้นฟู การตามจ่ายคิดค่าใช้จ่ายก็ต้องไปดูตรงนั้นว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน เผยระบบเปลี่ยนแนวทางการจ่ายเงินเพียง 57 % ของค่าบริการจริง ส่งผลขาดสภาพคล่อง กระทบ รพ.โรงเรียนแพทย์-คลินิกใน กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านา เครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม. กว่า 100 แห่ง ขึ้นป้ายดำประท้วงกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณของ สปสช. ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องกันทั่วหน้า เครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และ สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องข้อเท็จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช. ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โดยระบุว่า ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกทม. สปสช.เขต13 และ อปสข เขต13 มีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาดจากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564 ส่งผลกระทบให้มูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท โดย สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียงร้อยละ 57 ของค่าบริการจริง ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2567 ปรากฎว่ามีการจ่ายค่าบริการในไตรมาสแรกเกินกว่า ร้อยละ 50 ของงบประมาณ มีแนวโน้ม จะมีปัญหาเช่นเดียวกับปี 2566
จึงเรียกร้องให้หยุดใช้ โมเดล 5 ในกทม.โดยเร็ว และกลับไปใช้โมเดล 2 และแนะนำให้จัดสรรงบประมาณค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับการบริการใน 3 ไตรมาส ที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราปกติ และไม่ควรขยายบริการโมเดล 5 ออกไปนอก กทม.
ส่วนระบบบริการสุขภาพในภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดยสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข เกือบร้อยละ 100 นั้น พบปัญหาโดยสังเขป ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว สปสช. จ่ายให้ต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก เมื่อปี 2567 ต้นทุนในหน่วยบริการโรงพยาบาลศูนย์ และ โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของผู้ป่วยในอยู่ที่ 13,142 บาท ต่อ 1AdjRW แต่สปสช.กลับจ่ายในอัตรา 8,350 บาท ต่อ 1AdjRW หรือ ร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอดในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้หน่วยบริการ
ในปี 2566 สปสช. คาดว่าบริการผู้ป่วยในต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะสถานการณ์โควิด ผู้ป่วยถูกเลื่อนบริการ ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลายยอดบริการผู้ป่วยจึงปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้สปสช.ไม่เคยประสานกับหน่วยบริการในการประเมินฉากทัศน์ และใช้วิธีแก้ปัญหาเดิม ๆ ดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในกลับจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 710 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเพียง 7,678 บาทต่อ 1AdjRW หรือ คิดเป็น ร้อยละ 58 ของต้นทุน
ทั้งนี้การจ่ายค่าบริการต่ำกว่าทุนทำให้หน่วยบริการประสบปัญหาวิกฤตการเงิน รพ.เอกชนออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ อนาคตจะกระทบต่อบริการประชาชน
ที่ผ่านมาสปสช.ประกาศปรับอัตราการเบิกจ่ายไม่เคยมีการตกลงร่วมกับหน่อยบริการ ทั้งที่ต้นทุนโรงพยาบาลแต่ละระดับที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายสถานพยาบาลฯ ยังมีข้อเสนอแนะ ใช้เงินกองทุนรายได้ (ต่ำ)กว่ารายจ่ายสะสม เนื่องจากเป็นการให้บริการเกินเป้าหมายจริง ,ค่ารักษาส่วนที่เกินจากการประมาณการ สปสช. ควรแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ผลักภาระให้หน่วยบริการ สปสช.ต้องลงบัญชีเป็นลูกหนี้ ของโรงพยาบาลที่เคยเรียกคืน ไม่ใช่ลงบัญชีว่า โรงพยาบาลเป็นลูกหนี้สปสช. และต้องลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินจำเป็น พร้อมสนับสนุนให้เร่งรัดจัดตั้งเครือข่ายสถานพยาบาล Provider Board เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ใช้ข้อมูลการบริการจริงในการคำนวณวงเงิน
นอกจากนี้ ทาง 4 สถาบัน นัดรวมพลัง ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นพ.ชลน่าน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. พร้อมข้อเสนอปรับปรุงการดำเนินการของ สปสช. และ เร่งรัดจัดตั้งองค์กรสถานพยาบาล (provider board) ในวันที่ 14 ก.พ. 2567 เวลา 10.00 น.