'ธีรยุทธ-สนธิญา' ยื่น ป.ป.ช. ขยายผลคำวินิจฉัยศาล รธน.-ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดี 44 สส.พรรคก้าวไกล เหตุเป็นแกนนำลงชื่อแก้ไข ม.112 ย้ำชัดทุกอย่างต้องให้เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมาย ขณะ 'สนธิญา' หวัง 44 สส.ถูกตัดสิทธ์ตลอดชีวิต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลจำนวน 44 คน เช่นเดียวกับนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรม สส. 44 คน ซึ่งทางด้านของนายสนธิญาได้เน้นย้ำว่าอยากให้ทั้ง 44 สส.ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
โดยนายธีรยุทธ กล่าวว่าวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 31 ธ.ค.จากการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง และ สส. ของผู้ถูกร้องที่สอง คือ พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร และในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ได้ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งในการที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 112
และศาลวินิจฉัย ว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นการลดทอนสถานะ และการคุ้มครองสถาบัน มุ่งหมายแยกสถาบันออกจากความเป็นชาติไทย เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 5 ที่กำหนดว่าต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ และข้อ 6 ที่กำหนดว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
และข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ด้วย
เมื่อถามว่าการยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้สอบจริยธรรมอย่างเดียวหรือต้องการให้ยุบพรรค นายธีรยุทธ กล่าวว่าเรื่องการยุบพรรค เป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมกรการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. แล้วเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.)
เมื่อถามต่อว่าส่วนตัวต้องการให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยหรือไม่ได้ นายธีรยุทธ กล่าวไม่ใช่ความต้องการของส่วนตัว แต่จะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่ เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีครบถ้วน และยืนยันไม่ได้ปิดทางแก้ไขกฎหมาย แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามแนวทางนิติบัญญัติ
นายธีรยุทธ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ได้ถอดนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากหน้าเพจของพรรคแล้วนั้น ว่าเป็นการดำเนินตามคำสั่งของศาล เชื่อว่าเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคน่าจะแนะนำไว้แล้ว ส่วนตัวก็ไม่อยากก้าวล่วง แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนเรื่องนี้จะสามารถลดทอนโทษของการกระทำได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ที่จะตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการพิจารณา ซึ่งทราบว่านายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้สั่งการ ให้เตรียมตัวรวบรวมพยานหลักฐานในการต่อสู้คดี ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะมีหนทางอยู่บ้าง
ส่วนความเห็นของนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำ กลุ่มก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วย แล้วมองว่าการปลดนโยบายออกจากหน้าเพจ เป็นการกระทำที่สูญเปล่า นายธีรยุทธ มองว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายปิยบุตร เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่การสร้างพรรคการเมืองขึ้นจะต้องมีเจตจำนง ในการพิทักษ์รักษาดำรงไว้ซึ่งกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร จะต้องรับฟังคำวินิจฉัยนั้นไปปฏิบัติด้วย ดังนั้นการที่พรรคก้าวไกลนำคำวินิจฉัยของศาลไปดำเนินการด้วยความเคารพ ก็ถือเป็นการเคารพต่อกฎหมาย
เมื่อถามถึงความเห็นแกนนำบางที่กล่าวว่าว่าการเอานโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากหน้าเพจแต่ถูกซ่อนไว้ภายใน และจะสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการเมื่อไหร่ก็ได้นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากมีการทำเช่นนั้นจริง ก็ยังคงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการซ่อนเร้น แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทีมกฎหมายจะมีการเสนอแนวทาง ให้กับพรรคที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ ผลการดำเนินการในวันนี้ก็เป็นไปตามหน้าที่ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนทางด้านของนายสนธิญากล่าวว่าส่วนตัวติดตามเรื่องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ตั้งแต่ จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2561 รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของ คณะนิติราษฎร์ มาจนถึงพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ผูกพันทุกองค์กร ที่ต้องปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเรื่องนี้ถือเป็นมรดกบาป ที่เป็นการกระทำถ่ายทอดเป็นกรรมพันธุ์ เป็นดีเอ็นเอ จากอนาคตใหม่ ถึงก้าวไกล ที่ตนคัดค้านมาตลอด 7 ปี ซึ่งเห็นใจ สส.ทั้ง 44 คนที่ร่วมลงชื่อ เสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่ส่วนตัวหวังให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต
นายสนธิญากล่าวว่าผลพวงคำวินิจฉัยวันที่ 31 ม.ค. ส่งผลต่อพรรคก้าวไกล 3 ประการ คือ 1.กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อย่างน้อย 3 มาตรา ทั้งใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง 2.ฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง นำไปสู่การกระทำล้มล้างการปกครองที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง และ 3. การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่กระทำผิดซึ่งนำมาประกอบ เพราะเรื่องจริยธรรมแยกออกมาจากกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรฐานตามอุดมการณ์ที่เป็นบทบัญญัติที่ร้ายแรง ที่ ป.ป.ช.จะต้องยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นศาลฎีกา
นายสนธิญา กล่าวต่อว่าส่วนตัวจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ ตั้งแต่ 31 ม.ค. เป็นต้นมา ทั้งของพรรค และคำให้สัมภาษณ์ ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยังจะเดินหน้าเรื่องมาตรา112 ต่อไปหรือไม่ และจะรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 การเคลื่อนไหวเพื่อนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในมาตรา 112 เพื่อนำมาประกอบการชี้แจง ต่อ ป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การเอาผิด สส. 44 คน ตอไป
“วันนี้ผมมายื่นการยื่นร้องจริยธรรม แต่จะนำเอาประเด็นกฎหมายต่างๆ ในวันนี้ คิดว่า มีโอกาส 50:50 แต่ถ้าหลังจากนี้ยังมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล คิดว่ามีโอกาสตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะผมมีเป้าหมายให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต” นายสนธิญากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ว่าการที่นายพิธาและพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นั้นนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง มีบุคคลไปร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนี้
1 ก.พ. 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมือง
2 ก.พ. 2567 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร และ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรม สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร