ตำรวจ ปอศ.จับกุมขบวนการแอบอ้างมูลนิธิชัยพัฒนา รวบ 6 ผู้ต้องหาหลอกลงทุนโครงการหลวง เหยื่อ 900 รายหลงเชื่อ เสียหายเกือบ 300 ล้านบาท ยึดของกลางรถหรู ที่ดิน มูลค่ากว่า 16 ล.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. มอบหมาย พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.กริช วรทัต ผกก.4 บก.ปอศ. พร้อมด้วย ม.ร.ว.รุจยารักษ์ อาภากร กรรมการมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ร่วมแถลงผลจับกุม นางชยาวรรณ อายุ 60 ปี ,นายวิโรจน์ อายุ 56 ปี ,นางพิชญา อายุ 27 ปี ,นายสิงขร อายุ 53 ปี , นายจารุเดช หรือเสกสรร อายุ 41 ปี ,นางไก่แก้ว (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดปทุมธานี ข้อหา 'ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
หลังกระจายกำลังเข้าตรวจค้นในพื้นที่ กทม. ลพบุรี ฉะเชิงเทรา สงขลา และ นครศรีธรรมราช จำนวน 7 จุด ยึดของกลางกว่า 100 รายการ อาทิ เช่น สมุดบัญชี 54 เล่ม,รถยนต์หรู 3 คัน คอมพิวเตอร์ 17 เครื่อง,กระเป๋าแบรนด์เนม 5 ใบ,นาฬิกาหรู 2 เรือน,แหวนเพชร 1 วง ,กล้อง DSLR 5 ตัว ,เหรียญเฉลิมพระชนพรรษา 100 ชิ้น ,โฉนดที่ดิน 4 ฉบับ ในพื้นที่ จ.พัทลุง จ.สงขลา รวมมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท
พล.ต.ต.พุฒิเดช กล่าวว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย.65 - ก.ค.66 นางชยาวรรณ ผู้ต้องหา ได้แอบอ้างเป็นประธานโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา, มูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ มีหน้าที่บริหารโครงการต่าง ๆ ประมาณ 28 โครงการ จากนั้นได้ชักชวนประชาชนทั่วไปตามสื่อสังคมออนไลน์ให้มาลงทุนในโครงการหลวง โดยเสียค่าสมาชิกแรกเข้ารายละ 75,000 บาท เพื่อรับผลตอบแทน 13 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการภายในระยะเวลา 1 ปี
และหลังจากนั้นจะได้รับเงินจาก หน่วยงานของรัฐอีก 50 ล้านบาทเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ ได้ชักชวนลงทุนอีกหลายรูปแบบ ซึ่งอ้างได้ค่าตอบสูงทุกโครงการ เช่นอ้างว่า บัญชีของโครงการหลวงถูกธนาคารล็อกไว้ ก่อนชักชวนสมาชิกลงทุนปลดล็อกระบบเงินในบัญชี เช่น ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 4 ล้านบาท หรือ ลงทุน 10,000 บาท ได้รับผลตอบแทน 5 ล้านบาท
พ.ต.อ.จักรกริช กล่าวว่า เบื้องต้นมีผู้เสียหายจำนวน 8 ราย หลงเชื่อร่วมลงทุน รวมเป็นเงินจำนวน 787,090 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดรับเงินปันผลก็ถูกบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จึงเริ่มสงสัยและตรวจสอบข้อมูลกระทั่งทราบว่าโครงการดังกล่าวไม่มีอยู่จริงเชื่อว่าถูกหลอกลวง จึงเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. จากการสืบสวนพบว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ มีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
โดยมี นายจารุเดช หัวหน้าแก๊งอยู่เบื้องหลังทั้งหมด สั่งการให้ นางชยาวรรณ อดีต พนักงานบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง อ้างเป็น 'นายใหญ่” ดูแล ประสานงานของมูลนิธิฯ
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะชักชวนเข้ากลุ่มไลน์ต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง , โครงการในดวงใจ, หัวใจพระราชา เป็นต้น ซึ่งในไลน์กลุ่ม นางชยาวรรณ กับพวก จะส่งภาพถ่ายขณะประชุมงาน โดยแอบอ้างว่าเป็นการประชุมของมูลนิธิฯ บางครั้ง ก็แอบอ้างว่าเป็นการประชุมกับผู้ใหญ่รัฐบาลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
พ.ต.อ.กริช กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนกว่า 900 ราย หลงเชื่อโอนเงินให้ นางชยาวรรณ รวมเป็นเงินจำนวน 269 ล้านบาท โดย นางชยาวรรณ ใช้บัญชีธนาคารของตนเองเป็นบัญชีรับโอนเงินลงทุนจากผู้เสียหาย ก่อนจะโอนต่อไปยังบัญชีของ นางไก่แก้ว จากนั้น นางไก่แก้ว โอนเงินต่อให้ นายจารุเดช ก่อนโอนต่อไปยังบัญชีบริษัทต่างๆ ของตนเองอีก จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์และผลิตสื่อมีเดีย ,บริษัทเพลง ,บริษัทผลิตเครื่องดื่มและเครื่องสำอาง จากนั้นนำเงินมาซื้อทรัพย์สินต่างๆ เจ้าหน้าที่จึงรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายจับไว้ กระทั่งเจ้าหน้าที่กระจายกำลังตามจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้ง 6 ราย พร้อมของกลางได้ดังกล่าว
สอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ จึงนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน ม.ร.ว.รุจยารักษ์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณกุลศล มีเจตจำนงค์ส่งเสริมสนับสนุนด้านการแพทย์ ศาสนา กีฬา และ ศิลปะวัฒนธรรมไทย มีการเชิญชวนบริจาคเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิฯ เท่านั้น ไม่ได้มีนโยบายชักชวนร่วมลงทุนทางธุรกิจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แต่อย่างใด
พล.ต.ต.พุฒิเดช ยังฝากเตือนภัยถึงพี่น้องประชาชนว่า พฤติการณ์ของคนร้ายที่หลอกลวงเหยื่อในหลายลักษณะดังกล่าว โดยให้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีผู้ชักชวนให้ร่วมลงทุน โดยเสนอให้ผลตอบแทนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า ท่านอาจกำลังถูกหลอก ควรตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนการลงทุนทุกครั้งเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพกลุ่มนี้