'จรูญเกียรติ' เผยมีข้อมูลคนบงการระดับสูงชักใยอยู่เบื้องหลังขบวนการรีดทรัพย์ อธิบดีกรมการข้าว เตรียมขยายผลสอบหลังหน่วยงานอื่นถูกเรียกรับเงินกว่า 100 ล้านบาท พบมีมูลเรียกอธิบดีกรมฝนหลวงด้วย ด้านทนายเเจงไทม์ไลน์เรียกเงินอธิบดีกรมการข้าว พร้อมเผยมีนักการเมือง อดีตผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ออกโรงเคลียร์ให้เบาๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการ ตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวภายหลังประชุมชุดสืบสวน ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, ที่มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นคณะทำงานเพื่อคลี่คลายคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกรวม 3 ราย ได้ร่วมกันข่มขู่เรียกเงินอธิบดีกรมการข้าวจำนวน 3 ล้านบาท แลกกับการไม่ร้องเรียนโครงการทุจริต
พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ได้เปิดเผยว่า การสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะคำให้การของอธิบดีกรมการข้าวที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก และยังมีพยานหลักฐานอื่น ๆ อีกหลายส่วน ซึ่งสามารถระบุถึงพฤติการณ์ของขบวนการดังกล่าวได้ชัดเจนว่ามีการวางแผนทำเป็นขั้นตอน ทั้งคนชี้เป้า คนเคลียร์ คนรับเงิน และยังพบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายคน ซึ่งจะต้องเรียกเข้ามาสอบปากคำ โดยมีคนหนึ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นคนให้ข้อมูลกับระดับ 'ผู้สั่งการ' ในขบวนการดังกล่าวให้ร้องเรียนในที่ต่างๆ และยังมีข้อมูลว่ามีหน่วยงานอื่นที่ถูกเรียกรับทรัพย์จากกลุ่มดังกล่าวในระดับร้อยล้านบาท แต่ยังไม่มีการจ่ายเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานดังกล่าวว่าจะเข้ามาให้ข้อมูลหรือไม่
ทั้งนี้ ตำรวจเชื่อว่า น่าจะมีผู้สั่งการในระดับที่สูงขึ้นไปอีกนอกเหนือจากผู้ต้องหาทั้ง 3 คนขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อน ยืนยันว่า ตำรวจยังต้องการตัว 'ปลาใหญ่' กว่านี้ แต่ไม่ขอระบุเป็นนักการเมืองหรือไม่ ส่วนกรณีของอธิบดีกรมฝนหลวงที่อาจจะถูกกลุ่มนี้เรียกรับเงินนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีมูล ซึ่งหากตำรวจพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกรณีอื่นก็จะเปิดเผยให้รับทราบ
ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบวงจรปิดบริเวณรอบบ้านนายศรีสุวรรณ รวมถึงโทรศัพท์ของผู้เสียหายนั้น อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบทุกขั้นตอน คาดว่าจะเสร็จในวันนี้ (29 ม.ค. 2567) แต่จะเข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงินหรือไม่นั้นยังต้องตรวจสอบว่ามีความเชื่อมโยงกับ การรับผลประโยชน์ในคดีก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ยืนยันว่าชุดพนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองมา แต่อย่างใดและ ยังไม่มีใครติดต่อมา หากมีก็รับมาตรา 157 ไปก่อน ส่วนกรณีที่ในคลิปเสียงสนทนามีการกล่าวอ้างถึงบุคคลอื่นในขบวนการ เช่น นักข่าว หรือตำรวจก็อาจต้องเรียกมาชี้แจง แต่ผู้ต้องหาก็สามารถการ กล่าวอ้าง หรือมีสิทธิ์พูดอย่างไรก็ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรับฟัง แต่จะดำเนินการไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ยังกล่าวถึงพฤติการณ์ของบุคคลเหล่านี้ว่ามีการกระทำกันจนย่ามใจ ไม่รู้ว่าขอบเขตของกฎหมายเป็นอย่างไรและบางคนในทรัพย์สินร่ำรวย มีบ้าน 10 หลัง มีที่นาเป็น 100 ไร่ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องตรวจสอบต่อไป
ด้าน นายดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายอธิบดีกรมการข้าว ให้สัมภาษณ์ย้อนไปถึงก่อนเหตุว่า มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนอธิบดีกรมการข้าว ส่งมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะถูกเรียกเข้าไปชี้แจงถึงงบก้อนดังกล่าว ไม่ได้ใช้แล้ว และส่งให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยชาวนาไปแล้ว จากนั้นเรื่องจึงยุติไป จนอธิบดีกรมการข้าวจึงมาปรึกษากับตัวเองว่า น่าจะถูกคนกลั่นแกล้ง จึงมอบอำนาจให้ไปแจ้งความร้องทุกข์
นายดนุเดช กล่าวอีกว่า ต่อมา มีที่ปรึกษาของผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ เรียกอธิบดีกรมการข้าวเข้าไปพบ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ซึ่งปรึกษาคนนี้ได้แนะนำให้จ่ายเงินเคลียร์นายศ. เรื่องจะได้ยุติลง เพราะหากมีการแถลงข่าวก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ก่อนจะนัดแนะให้ไปจ่ายเงินที่บ้านนายศ. จำนวน 6 หลัก มากกว่า 100,000 บาท ซึ่งขณะนั้นก็คิดว่า เรื่องจะจบแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายศ. และนายจ.ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา กล่าวหาถึงการทุจริตในกรมฝนหลวง ซึ่งในช่วงท้ายมีการกล่าวถึงกรมการข้าว ว่า เป็นกรมเล็กแต่มีการซุกงบกว่าหมื่นล้าน และตั้งภรรยาผู้บริหารให้เปิดบริษัทรองรับการการทุจริต
นายดนุเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนั้นเดียวกันก็มีโทรศัพท์จากนายศ.โทรเข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าว แต่ไม่ได้รับ วันถัดมานายศ.ก็โทรเข้ามาอีก เพื่อนัดกินกาแฟช่วงเที่ยง มาถึงก็บอกว่า ขณะนี้เตรียมตรวจสอบงบประมาณ และเตรียมยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมการข้าว ตอบกลับว่า จะตรวจสอบอะไร และยืนยันว่า ไม่ได้ทำความผิด จากนั้นเมื่อแยกย้ายกันแล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาหาอธิบดีกรมการข้าวอีกครั้ง และเรียกรับเงินเพิ่ม ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะยื่นโทรศัพท์ให้ภรรยาเป็นคนคุย ปลายสายตอบกลับว่า จะเรียกเงินจำนวน 2 โล หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ก็บอกว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และหากดูแลเล็กๆน้อยๆก็ดูแลได้ ก่อนจะมีการต่อรองกันจนเหลือ 1 กิโลครึ่ง หรือ 1.5 ล้านบาท
โดยทางฝั่งผู้ต้องหาได้ขอให้โอนมาก่อน 100,000 บาท แต่ตัวเองนั้นบอกภรรยาอธิบดีกรมการข้าวว่า โอนไปแค่ 50,000 บาทก่อน ทั้งนี้เลข ที่บัญชีที่มีการส่งมาให้โอนไปนั้นไม่ได้เป็นชื่อของ 1 ใน 3 ผู้ต้องหา จากนั้นก็มีการเร่งเร้าให้จ่ายเต็มจำนวน 100,000 บาท วันที่ 23 ธ.ค. 2566 จึงโอนให้อีก 10,000 บาท ระหว่างนั้นก็ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอส่วนหนึ่ง และเข้าพบกับตำรวจบก.ปปป.แล้ว ก็โทรกลับไปหานายศ. ซึ่งบอกว่า ยังเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีก 1,440,000 บาท ภรรยาอธิบดีกรมการข้าวจึงนำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้นายศ.ที่บ้าน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ซึ่งวันนั้นมีการถ่ายคลิปวีดีโอขณะที่นายศ.กำลังรับรับเงิน เป็นพยานหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับ จนวันที่ 26 ม.ค. 2567 ตำรวจ บก.ปปป.จึงเข้าจับกุมนายศ. โดยมีของกลางเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท
ส่วนกรณีที่นายศ. อ้างว่า ไม่รู้ว่าเป็นเงินนั้น นายดนุเดช บอกว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาจะพูดอะไรก็ได้ แต่ตัวเองในฐานะทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับคดีทุจริต มั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอทั้งภาพถ่าย และคลิป ซึ่งนาย ศ.นั้นมีลักษณะเหมือนวางใจ หลังจากได้เงินไปก้อนหนึ่งแล้ว และคิดว่าจะได้อีก
นายดนุเดช กล่าวต่อว่า ตัวเองนั้นกังวลว่า จะมีการเมืองเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นายจ.ผู้กระทำผิดไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่เข้าข่ายมาตรา 173 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ โทษที่จะได้รับสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์ซึ่ง โทษเบากว่า และนายศ.ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะไม่ถือเป็น ผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ก็จะได้รับโทษน้อยไปด้วย จึงอยากให้ตำรวจเดินหน้าทำงานต่อ อย่าให้เรื่องเงียบ
นายดนุเดช เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักการเมืองตัวย่อ นาย ป. ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดต่อมายังอธิบดีกรมการข้าว และภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว ฝากมาบอกตัวเองให้เบาๆหน่อย และให้ยุติบทบาท รวมทั้งพยายามโยงธุรกิจของภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ที่ทำธุรกิจฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนตีนไก่เถื่อนด้วย
นายดนุเดช ได้ย้ำว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ แต่ส่วนตัวไม่กลัว เพราะเห็นว่า หากมัวเกรงกลัวอิทธิพลคงไม่ได้ เพราะวิธีการมาใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ด้าน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะเพื่อนของนายดนุเดช เปิดเผยว่า ได้แนะนำให้นายดนุเดชให้นำหลักฐานสำคัญๆ มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้ยากต่อการวิ่งเต้นล้มคดี ช่วยเหลือพวกพ้องกัน ไม่ต้องกลัวตาย ถ้าตายจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ ในขณะที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ตำรวจเองก็อย่าปอดแหก ไม่ใช่สร้างภาพจนในที่สุดคดีก็หายไป ต้องทำคดีถึงที่สุด
นายเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดกรณีนี้ ทำให้วงการของนักร้องเรียนต่างๆ สั่นสะเทือนพอสมควร ซึ่งจากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าพฤติกรรมของนักร้องเรียนประเภทตบทรัพย์ จะมีการโพสต์เฟซบุ๊กก่อนว่าจะมีการแถลงข่าวและแจ้งหมายข่าวล่วงหน้าว่าจะไปร้องเรียนใคร หลังจากนั้นก็จะมีการยกเลิกหมายข่าว และเมื่อไปร้องเรียนจะเป็นการยื่นซองเปล่าไม่มีเอกสารอยู่ด้านใน มีเพียงกระดาษแผ่นเดียว และเมื่อถูกเรียกไปสอบสวนก็จะไม่ไปพบและเงียบหายไป
โดยลักษณะของคนเหล่านี้จะไม่มีอาชีพ ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี แต่มีเงินใช้อยู่ตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถูกร้องเรียนจะไม่กล้าเอาผิดคนกลุ่มนี้ จึงยอมเอาเงินไปจ่าย เพราะส่วนใหญ่คนที่โดนตบทรัพย์จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่มีบ่อนการพนันเยอะ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องของการตบทรัพย์ล้วนๆ ส่วนตัวมองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะทำมานานแล้ว โดยแนะนำว่าใครที่ได้รับความเสียหายควรออกมาแสดงตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคลิปหลักฐานใดๆ เพียงแค่ผู้เสียหายมายืนยันว่าถูกตบทรัพย์ก็สามารถเอาผิดได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามวันนี้ นางธัญญรัตน์ ไชย์ศิริคุณากร ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว เดินมาศาลแพ่งเพื่อให้การในคดีอื่น แต่ไม่ได้ปรากฎตัวพบสื่อมวลชนแต่อย่างใด