‘พิธา’ ฉายภาพก้าวไกลปี 2567 ผ่า 6 วาระ 4 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ จัดทัพ 4 กรรมาธิการลุย 4 เป้าหมายสำคัญ ก่อนเผยแผนปรับโครงสร้างองค์กร-ซักฟอกรัฐบาลช่วง เม.ย. นี้ ก่อนปูความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นปลายปี 2567
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ห้อง 601 ฝั่ง สส. ห้องริมน้ำ อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงแผนงานของพรรคก้าวไกลในปี 2567
นายพิธาเริ่มต้นว่า พรรคก้าวไกลมี 6 วาระสำคัญที่จะขับเคลื่อน หากเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งที่สำคัญกับประเทศไทยจะมี 6 วาระด้วยกันได้แก่
1.การทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบ ประกอบด้วยการปฏิรูปกองทัพ, ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ, การทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่
2.ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ, สวัสดิการ, สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข
3.หยุดแช่แข็งชนบทไทย ประกอบด้วย ลดต้นทุนภาคการเกษตร, การเพิ่มเครื่องจักรในการผลิต, การเพิ่มแหล่งน้ำ, การแปลง สปก.เป็นโฉนด แลัการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
4.การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ประกอบด้วย ปฏิรูประบบงบประมาณ, กิโยตินกฎหมาย, การกระจายอำนาจ, การปราบโกง สร้างความโปร่งใส และ Digital Information
5.เรียนรู้ทันโลก ประกอบด้วย การคิดค้นหลักสูตรการศึกษาใหม่, ลดภาระครู, Reskill/Upskill และการลดความเป็นอำนาจนิยมในโรงเรียน
และ 6. เติบโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย การสร้างงานดี, ลงทุนท้องถิ่น, สนับสนุน SMEs, หาแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, หาอุตสาหกรรมใหม่ และการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายพิธากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมด อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสื่อมวลชนและประชาชน เพราะตั้งแต่ที่ได้หาเสียงไว้เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนได้เห็น 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล แต่สุดท้ายแล้ว จะทำให้มีพลังได้ ต้องทำให้เห็นว่าเป้าหมายสำคัญที่ได้จัดเรียงลำดับความสำคัญแล้ว วาระ 6 ประการข้างต้นคืออะไรบ้าง
@4 ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
นายพิธากล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญกว่าทำอะไรคือจะทำอย่างไร? พรรคก้าวไกลตกผลึกออกมาเป็น 4 ปัจจัยความสำเร็จได้แก่ 1. กฎหมาย 2. แผนปฏิบัติการ 3. งบประมาณ และ 4. บุคลากร
ด้านกฎหมาย จะผลักดันร่างกฎหมาย 47 ฉบับ ทั้ง 47 ฉบับแบ่งได้ 2 ก้อน ก้อนแรกอยู่ในวาระการประชุมสภา มีจำนวน 21 ฉบับ และก้อนที่สองยังไม่ได้บรรจุวาระในสภาอีก 26 ฉบับ (ดูรายละเอียดตามภาพด้านล่าง)
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่เป็นเรือธงและพรรคจะผลักดันเป็นพิเศษคือ กฎหมาย 5 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งผ่านวาระ 1 ไปแล้ว 2. ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเพื่อไทย ที่เคยดำริไว้ตั้งแต่สมัยเป็ยพรรคไทยรักไทย เชื่อว่าน่าจะผ่านการพิจารณา 3. ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 4.เปลี่ยน สปก.เป็นโฉนด และ 5.ร่างแก้ฝุ่นพิษ
@เปิด 4 เป้าหมาย 4 กรรมาธิการใต้ก้าวไกล
ขณะที่แผนปฏิบัติการ นายพิธาระบุว่า เชื่อในการทำงานของกรรมาธิการ ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลได้เข้าไปเป็นประธานกรรมาธิการ 8 คณะ ซึ่งแต่ละกรรมาธิการได้ทำแผนปฏิบัติงานประจำปีของแต่ละกรรมาธิการส่งมาให้แล้ว โดยพรรคก้าวไกลจะเน้นที่ 4 กรรมาธิการหลักได้แก่
1.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร เป้าหมายคือ การใช้กรรมาธิการในการทำให้กองทัพเป็นกองทัพที่มีสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และลดการสูญเสียของทหารเป็นศูนย์ มาตรการ เช่น ตั้งคณะกรรมการพลทหารปลอดภัย, บังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย, ตรวจเยี่ยมทุกค่ายทหารอย่างสม่ำเสมอ, ทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหมาและหน่วยงานความมั่นคงอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), ป.ป.ช., ปปท. และเปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียนผ่านไลน์
2. กรรมาธิการพัฒนาการเมือง โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ไว้ว่า ต้องมีการยื่นร่างกฎหมาย ข้อเสนอ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมือง เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมนอกเหนือจากกฎหมาย 47 ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยจะมีร่างกฎหมายทั้งหมด 6 ฉบับที่จะใช้กรรมาธิการเป็นกลไกในการร่างกฎหมาย ได้แก่ พ.ร.บ.ประชามติ, พ.ร.บ.สภาเยาวชน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเสรีภาพและสวัสดิภาพของพี่น้องสื่อมวลชน เป็นต้น ส่วนในเชิงการปฏิบัติคือการทำงานเพื่อส่งข้อเสนอต่อฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ข้อเสนอโมเดลการเลือกตั้ง สสร. การปรับปรุงระเบียบพรรคการเมือง ไปจนถึงการปฏิรูปเรือนจำเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ เป็นต้น
3.กรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ คือการผลักดันและให้ข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์อีวี การสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี กฎหมายการค้า กฎหมายลดการผูกขาด และการติดตามผลกระทบจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น
4.กรรมาธิการการสวัสดิการสังคม โดย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ วางเป้าหมายการทำงานในปีนี้ คือการพัฒนาสวัสดิการและสาธารณูปโภคของคนทุกกลุ่ม ได้แก่ การผลักดันสาธารณูปโภคให้ครบทุก อบต. การแก้ไขโครงสร้างกองทุนเงินฌาปนกิจและการป้องกันเงินของสมาชิกสูญหาย การปรับปรุงคุณภาพชีวิตเด็กแรกเกิด และการพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนกองทุนของผู้พิการ เป็นต้น
@ปรับทำงบใหม่-จัดกำลังคนลงลึกปัญหาแต่ละด้าน
นายพิธากล่าวต่อถึงการปรับปรุงกระบวนการงบประมาณ เป็นไปตามที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคก้าวไกลเคยเสนอไปแล้ว ประกอบด้วย 5 ด้าน คือการจัดทำงบประมาณอย่างโปร่งใสโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม การอนุมัติงบประมาณตามหลักให้ประชาชนได้ประโยชน์ การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (zero-based budgeting) และการใช้ภารกิจนำในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีพื้นที่ทางการคลังเหลืออีกปีละประมาณ 9 แสนล้านบาท เพื่อให้สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและตอบสนองความท้าทายของแต่ละปีได้
ส่วนการเตรียมความพร้อมของบุคลากร นายพิธาระบุว่า เมื่อกฎหมายพร้อม การปฏิบัติการพร้อม การทำงบประมาณพร้อม ก็ต้องเตรียมทีมงานคนให้พร้อมด้วย ทุกวันนี้พรรคก้าวไกลนอกจากจะมีกรรมาธิการแล้ว ยังมีการแบ่งเป็นทีมทำงานภายในพรรค เช่น “ทีมก้าวกรีน” เกาะติดเรื่องสิ่งแวดล้อม “เก้า Geek” เกาะติดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล “ก้าวเมือง” เกาะติดเรื่องผังเมือง และ “เก้าเกษตร” เกาะติดเรื่องการเกษตร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะบุคลากรของพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่ยังมีทั้งอาสาสมัคร ข้าราชการที่สนใจ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมด้วย โดยมีการทำงานเป็นทีม และในอนาคตจะขยายทีมให้ใหญ่ขึ้นและกระจายไปในแต่ละภูมิภาค
ท้ายที่สุด นายพิธากล่าวถึง “หมุดหมายการทำงาน” ของพรรคก้าวไกลในปี 2567 โดยระบุว่า วาระสำคัญที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คือการพิจารณาทบทวนตัวชี้วัดของประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ และ สส. ของพรรคก้าวไกลทั้งหมด โดยทบทวนว่าควรจะมีตัวชี้วัดอะไรบ้าง เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
@อภิปรายรัฐบาล เม.ย.-ลุยศึกเลือกตั้งท้องถิ่น
และในช่วงเดือนเมษายนนี้หลังสงกรานต์ เป็นไปได้ที่จะมีการเปิดอภิปรายเป็นการทั่วไปหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และในเดือนเมษายนเช่นกัน ก็จะมีประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคก้าวไกล ซึ่งกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ที่ทำงานมาครบ 4 ปีแล้วจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร ทบทวนการทำงานและรูปแบบในการทำงาน
ส่วนในช่วงเดือนพฤษภาคม จะมีการจัด “Policy Festival” ซึ่งจะทำให้การเมืองและนโยบายเป็นเรื่องสนุก ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ส่วนในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ก็จะเป็นช่วงที่จะมีการอภิปรายงบประมาณปี 2568 และในช่วงปลายปี พรรคก้าวไกลจะมุ่งเน้นเรื่องการเตรียมตัวผู้สมัครในการลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
นายพิธากล่าวปิดท้ายว่า พรรคก้าวไกลทำงานอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอและผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้าเป็นหน้าที่ของเรา การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่การตรวจสอบอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีการแนะนำ และในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเรียนรู้ในกระบวนการ เพราะเมื่อพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลด้วยตัวเองแล้ว จะสามารถทำงานได้ทันทีอย่างไม่มีข้อติดขัด