สถาบันสิงคโปร์ชี้แลนด์บริดส่อเกิดยาก เหตุไม่มีผู้ตอบรับลงทุนโดยเฉพาะจีนที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจ คาดแนวคิดอาจไม่เกิด หาก 2-3 ปีนี้ หาก 'เศรษฐา' หลุดตำแหน่งนายกฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความเห็นเกี่ยวกับโครงการแลนบริดจ์ที่มาจากประเทศสิงคโปร์ โดยสำนักข่าวแชนนอลนิวส์เอเชียรายงานข่าวอ้างความเห็นนายเอียน สโตรีย์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูซอฟ อิสฮะก์ แห่งประเทศสิงคโปร์ โดยนายสโตรีย์กล่าวว่าตอนนี้โครงการแลนด์บริดจ์ของนายเศรษฐากำลังถูกกล่าวหาว่าอาจมีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม การประมงและการท่องเที่ยวของไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ในทางภูมิรัฐศาสตร์ กรรมสิทธิ์ในการบริหารแลนด์บริดจ์อาจจะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่วังวนการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลจีนให้ทุนสำหรับการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ซึ่งที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ามูลค่าการก่อสร้างแลนด์บริดจ์นั้นอยู่ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,068,900,000,000 บาท)
สื่อจากสิงคโปร์ระบุต่อไปว่าสิ่งที่นายเศรษฐาจะต้องตัดสินใจคือว่าใครจะเป็นคนต้องจ่ายเงินการลงทุนมหาศาลกับค่าใช้จ่ายแลนด์บริดจ์ โดยนายเศรษฐาได้เคยเสนอแนวคิดว่าจะให้สหรัฐฯ,จีน และญี่ปุ่น ให้เป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย
แม้ว่าบริษัทก่อสร้างของจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการก่อสร้างท่าเรือ ถนน และทางรถไฟ แต่ว่ากรุงปักกิ่งก็ไม่น่าจะนำเอาแลนด์บริดจ์นี้มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวันเบลท์วันโรด (BRI) เนื่องจากว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มจะสะดุดจีนจึงต้องระมัดระวังยิ่งในการระดมทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่ยังมีความน่าสงสัยในเรื่องมูลค่าเช่นโครงการแลนด์บริดจ์ ขณะที่โตเกียวก็ดูจะไม่สนใจในโครงการนี้เช่นกัน
โดยในปัจจุบันยังไม่มีบริษัทเดินเรือรายใหญ่ของโลกรายใดออกมารับรองข้อเสนอของนายเศรษฐา
นายเศรษฐาได้แสดงความมุ่งมั่นมากเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ว่าตอนนี้อนาคตทางการเมืองของเขายังไม่แน่นอน โดยผู้สังเกตการณ์มองว่านายเศรษฐาเป็นเพียงตัวแทนของนายทักษิณ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
ถ้าหากนายเศรษฐาถูกแทนที่ภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า แนวคิดเรื่องแลนบริดจ์อาจหายไปกับตัวเขาด้วยเช่นกัน
หากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ไม่นานหลังจากนายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งไป ก็จะมีข้อเสนอใหม่ๆเพื่อทดแทนแนวคิดเรื่องคอคอดกระปรากฎออกมาอีกไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/commentary/thailand-kra-shipping-bypass-malacca-singapore-srettha-thaksin-4059866