เผยมติ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา 'อรรจยา มาลากรอง' อดีตผจก.ศูนย์ฉายรังสี สทน.-พวกรวม 11 ราย ช่วยเหลือผู้รับจ้างให้มีคุณสมบัติมีสิทธิเข้าทำสัญญาจ้างงานออกแบบการก่อสร้างโครงการฯ หลังพิจารณาสำนวนไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงพยานหลักฐานฟังได้ว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล แต่ให้แจ้งข้อสังเกตระมัดระวังพฤติการณ์ผู้เสนอราคามอบอำนาจซื้อเอกสารแทนกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ตีตกข้อกล่าวหา นางสาวอรรจยา มาลากรอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. กับพวก ช่วยเหลือผู้รับจ้างให้มีคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าทำสัญญาจ้างงานออกแบบการก่อสร้างและจัดทำเป็นรายละเอียดของงานก่อสร้าง (BOQ : Bill of Quantities) ส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาพ
หลังพิจารณาสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่ให้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตกรณีบริษัทผู้เข้าทำการแข่งขันราคาโครงการฯได้มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมแข่งขันราคาในการจัดจ้างครั้งนี้ไปซื้อเอกสารการจ้างแทนกันการกระทำของเอกชนผู้เข้าร่วมแข่งราคาดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ส่อว่าจะมีการร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผุ้ใดผุ้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ได้ หากมีการจัดซื้อจัดจ้างในคราวต่อไป ขอให้ระมัดระวังพฤติการณ์ของผุ้เสนอราคาในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วย
โดยคดีนี้ ปรากฏชื่อผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 11 ราย ประกอบไปด้วย
1. น.ส.อรรจยา มาลากรอง ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
2.นางสาววรรนิภา เพี้ยนภักตร์ หรือศศิยาพัชร์ ธำรงอริยวาณิช หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเทคนิคและผลิตภัณฑ์ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
3.นายชุมพล สืบจากศรี ช่างเทคนิคชำนาญงาน ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3
4.นางสาวนฤมล เนรมิตมานสุข นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ืผู้ถูกกล่าวหาที่ 4
5.บริษัท พี เอส เอ็ม ซี จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
6.นายประสาน รัตนสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี เอส เอ็ม ซี จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6
7.บริษัท ซี โอ ยู จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7
8. นายอุกกฤษฎ์ ถนอมนาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี โอ ยู จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8
9.บริษัท เอ็ม เจ อาร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9
10.นายเด่นไชย สุวรรณพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็ม เจ อาร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10
11. นายโอภาส อิสสระชัย หัวหน้าฝ่ายฉายรังสี ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11
ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิดโดยสรุป 2 ประเด็น คือ
1. กำหนดขอบเขตของงาน TOR และราคากลางมีพฤติการณ์ช่วยเหลือ บริษัท พี เอส เอ็ม ซี จำกัด ให้มีคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าทำสัญญาจ้างงานออกแบบการก่อสร้างและจัดทำเป็นรายละเอียดของงานก่อสร้าง (BOQ : Bill Of Quantities) ส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค
2. ในขั้นตอนการเสนอราคาบริษัท PSMC จำกัด ได้ให้พนักงานบริษัทของตนดำเนินการขอรับเอกสารเสนอราคาและยื่นเสนอราคาแทนบริษัท ซี โอ ยู จำกัด และบริษัท เอ็ม เจ อาร์ แมนเนจเมนท์ จำกัด จึงมีลักษณะเป็นการสมยอมราคา
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดังนี้
ข้อกล่าวหาที่ 1 ทางไต่สวนได้ความว่า ในการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาออกแบบ ศูนย์ฉายรังสี
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี และเป็นเจ้าของโครงการจ้างงานออกแบบการก่อสร้างและจัดทำเป็นรายละเอียดของงานก่อสร้าง (BOQ : Bill Of Quantities) ส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR และราคากลางงานจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ ซึ่งประกอบด้วยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 3 4 11 เพื่อกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR และราคากลาง (ปัจจุบัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 เสียชีวิตแล้ว) ในการกำหนดร่างขอบเขตของงาน TOR ครั้งแรก คณะทำงานได้ใช้ TOR โครงการจัดจ้างออกแบบและควบคุมงานอาคารเพาะเลี้ยงและทำหมันแมลงวันผลไม้เป็นต้นแบบ ในการพิจารณาร่างขอบเขตของงาน TOR คณะทำงานได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยเข้ามาควบคุมงานก่อสร้างอาคาร CO-60 ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เป็นกรรมการผู้จัดการ เข้าร่วมประชุมพิจารณาด้วย ในการประชุมพิจารณาคณะทำงานได้แจกร่างขอบเขตของงาน TOR .ให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เพื่อช่วยตรวจพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และได้มีการร้องขอให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 ช่วยติดต่อบริษัทที่ปรึกษาออกแบบรายอื่นที่รู้จัก เพื่อติดต่อสืบหาข้อมูลราคาและกำหนดเป็นราคากลาง
ต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 จึงได้จัดส่งไฟล์ข้อมูลเอกสาร 3 รายการทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับคณะทำงาน ผ่านทางผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งเป็นเลขาคณะทำงาน โดยเอกสาร 3 รายการประกอบด้วย 1.ร่างขอบเขตของงาน TOR ฉบับที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 ได้ทำการแก้ไขแล้ว 2.เอกสารประสบการณ์ผลงานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และ 3.นามบัตรของผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 กรรมการผู้จัดการ และนามบัตรของผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 กรรมการผู้จัดการ
จากการไต่สวนร่างขอบเขตของงาน TOR ฉบับที่มีการแก้ไขโดยผู้ถูกกล่าวหาที่่ 5 และที่ 6 พบว่ามีการแก้ไขจำนวน 3 รายการ คือ
1.เพิ่มเติมข้อความว่า ผู้เสนองานจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ในข้อ 3.1 เหตุผลที่แก้ไข เนื่องจากต้องการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้บริษัทที่ปรึกษา ออกแบบ ต้องจดทะเบียนกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และเป็นการกำหนดที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหน่วยงานของรัฐ ประกอบกับศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาได้รายงานข้อมูลว่าในขณะเกิดเหตุนั้นมีบริษัทที่ได้จดทะเบียนจำนวน 55 ราย ไม่ได้มีเพียงบริษัทของผู้ถูกกล่าวที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 รายเท่านั้น
2.เพิ่มเติมข้อความคำว่า “หรือ” ในข้อ 3.7 ประโยคข้อความว่า ผู้เสนองานจะต้องมีบุคคลากรเพื่อปฏิบัติงานออกแบบและหรือควบคุมงาน เหตุผลที่แก้ไข เนื่องจากต้องการเปิดกว้าง ไม่เป็นการเฉพาะเจาะจงให้กับกลุ่มบุคคลใด และเพื่อให้บริษัทที่มีอาชีพในการออกแบบเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้รับควบคุมงานด้วยสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้
3.ตัดข้อ 3.2 ความว่า “ผู้เสนองานต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประเภทนิติบุคคลจากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก” เหตุผลที่แก้ไข เนื่องจากข้อความซ้ำซ้อนกับข้อ 3.1 ซึ่งได้มีการกำหนดไว้แล้วความว่า“ผู้เสนองานต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการรับจ้างเป็นที่ปรึกษาออกแบบ ควบคุมงานก่อสร้าง และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประเภทนิติบุคคลทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม” โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับร่างขอบเขตของงาน TOR ฉบับที่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้อนุมัติเห็นชอบและใช้ในการจัดจ้างออกแบบ พบว่า คณะทำงาน TOR ได้แก้ไขเพิ่มเติม.TOR ในข้อ 3.1 การจดทะเบียนศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา และตัดข้อ 3.2 ที่มีความซ้ำซ้อนกับข้อ 3.1 ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 แนะนำ แต่ไม่ได้มีการแก้ไขในข้อ 3.7 ดังนั้น การแก้ไข TOR ตามข้อแนะนำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 นั้น เป็นการแก้ไขที่ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 หรือกลุ่มบุคคลใด หรือเป็นการกีดกัน หรือตัดสิทธิของบุคคลใดไม่ให้มีสิทธิเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการดังกล่าว
กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 จัดส่งเอกสารประสบการณ์ผลงานการออกแบบของบริษัทให้คณะทำงาน TOR เนื่องจากมีเจตนาให้ช่วยตรวจสอบดูว่าประสบการณ์ผลงานที่ผ่านมาของบริษัทจะมีผลงานที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติบ้างหรือไม่ เป็นการสอบถามเบื้องต้นตามธรรมดาปกติของทางการค้าที่เมื่อมีหน่วยงานของรัฐมาติดต่อขอข้อมูลบริษัทก็หวังว่าจะได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมการแข่งขันการเสนอราคาด้วย ประกอบกับคณะทำงาน TOR ไม่ได้มีการนำผลงานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มากำหนดเป็นเงื่อนไขใน TOR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 หรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น
กรณีการจัดส่งนามบัตรของผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 เนื่องจากเป็นไปตามที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ได้มีการร้องขอต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดต่อและสืบราคา แต่ในการกำหนดราคากลางงานฝ่ายพัสดุ ไม่ได้กำหนดราคากลางจากการสืบข้อมูลของท้องตลาดและใช้ข้อมูลจากใบเสนอราคาของบริษัทผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย แต่ได้กำหนดราคากลางเป็นไปตามข้อบังคับ ว่าด้วยการพัสดุของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ข้อ 99
ข้อกล่าวหาที่ 2 ทางไต่สวนได้ความว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และที่ 6 ได้ให้พนักงานของตนไปรับเอกสารและยื่นเอกสารแทนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และที่ 9 เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 10ได้ติดต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ให้ช่วยดำเนินการขอรับและยื่นเอกสารแทน โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และที่ 10 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายเอง เหตุผลเนื่องจาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ไกลค่าใช้จ่ายในการจ้าง Messenger Service ให้ไปดำเนินการซื้อเอกสารและยื่นเอกสารข้อเสนองานจ้างออกแบบจึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ด้วยความสนิทสนมรู้จักกันเป็นอย่างดีระหว่างผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 ที่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันและเคยร่วมทำงานด้วยกันมาก่อน และผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ต้องเดินทางไปซื้อเอกสารและยื่นซองเอกสารข้อเสนองานที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) อยู่แล้ว
ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติปกติของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการงานที่ปรึกษา ออกแบบและควบคุมงานนี้ก็จะมีความคุ้นเคยรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะอยู่ในกลุ่มการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันและโดยส่วนมากจะเป็นสมาชิกของสภาสถาปนิกและสภาวิศวกรจึงมีการชักชวนกันระหว่างบริษัทให้เข้าร่วมการแข่งขันข้อเสนอการจ้างออกแบบอยู่บ่อยครั้ง และการซื้อเอกสารจ้างออกแบบดังกล่าวเป็นเพียงการรับเอกสารมาทำการศึกษารายละเอียดข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการว่าบริษัทของตนมีศักยภาพและมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ และในการยื่นซองข้อเสนอการจ้างออกแบบในทางปฏิบัติโดยปกติก็จะเป็นการแข่งขันในเรื่องของกรอบแนวความคิดเทคนิคการออกแบบมากกว่าข้อเสนอทางด้านราคาด้วยเหตุผลที่ว่าอัตราราคาค่าจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบนั้นมีอัตราข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังที่ได้กำหนดไว้อยู่แล้วว่าให้คิดราคาค่าจ้างออกแบบหรือค่าควบคุมงานอย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง หรือในกรณีที่งบประมาณค่าก่อสร้างเกิน 10,000,000 บาท สำหรับในส่วนที่เกิน 10,000,000 บาท ให้จ่ายค่าออกแบบหรือค่าควบคุมงานอย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราร้อยละ 1.75 ของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง ในการยื่นซองข้อเสนองานจ้างออกแบบ ซองเอกสารจะต้องทำการปิดผนึกลงลายมือชื่อกำกับเรียบร้อยไม่มีร่องรอยของการเปิดผนึกซองเอกสารออกดูก่อนที่จะมียื่นซองเอกสารต่อคณะกรรมการรับซอง
โดยหากคณะกรรมการรับซองตรวจพบมีร่องรอยการเปิดผนึกซองเอกสาร หรือการปิดผนึกซองไม่เรียบร้อยทางคณะกรรมการย่อมที่จะปฏิเสธการรับซองเอกสารหรือไม่รับพิจารณาข้อเสนอของบริษัท ๆ นั้น เนื่องจากพบข้อพิรุธในการยื่นซองเอกสารตามประกาศและระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานราชการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 และที่ 10 จึงได้ติดต่อขอให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ช่วยดำเนินการรับเอกสารและยื่นเอกสารแทน ประกอบกับบริษัทผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามรายมีประสบการณ์ผลงานด้านการออกแบบที่มีมูลค่าสูงจำนวนหลายโครงการทั้งที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชน จึงน่าจะมีศักยภาพในการดำเนินงานโครงการจัดจ้างออกแบบฯ ที่มีข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับงานอาคารระบบป้องกันกัมมันตภาพรังสี หรือทดลองทางเคมีและมีมูลค่าสูงดังกล่าวได้เอง และจากการตรวจสอบความสัมพันธ์ตามหลักการด้านพัสดุทั้ง 3 ด้าน ด้านเชิงบริหาร ด้านเชิงทุน ด้านเชิงไขว้ ไม่พบว่าบริษัทผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามรายมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ประกอบกับการพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาและเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือไม่เป็นอำนาจและดุลพินิจที่จะดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติให้เป็นตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้นั้น และจากการไต่สวนไม่พบว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 2 3 4 หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) รายใดมีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำ หรือจงใจช่วยเหลือกับการกระทำดังกล่าวด้วย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะไต่สวนเบื้องต้นที่ได้เสนอมาแล้วว่า จากการไต่สวนเบื้องต้นไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
แต่ให้มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตุของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปยังสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้วยว่า กรณีที่บริษัทผู้เข้าทำการแข่งขันราคาโครงการจ้างออกแบบงานก่อสร้างและจัดทำเป็นรายละเอียดของงานก่อสร้าง (BOQ : Bill Of Quantities) ส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการเพิ่มศักยภาพการฉายรังสีผลิตผลการเกษตรเพื่อการส่งออกด้วยเครื่องเร่งอนุภาค โดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนด ได้มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมแข่งขันราคาในการจัดจ้างครั้งนี้ไปซื้อเอกสารการจ้างแทนกัน นั้น การกระทำของเอกชนผู้เข้าร่วมแข่งราคาดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ส่อว่าจะมีการร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผุ้ใดผุ้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ได้
ดังนั้น หากมีการจัดซื้อจัดจ้างในคราวต่อไป ขอให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระมัดระวังพฤติการของผู้เสนอราคาในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วย